วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567

ย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่? / โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

On November 7, 2016

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้

ไม่ได้เปลี่ยนไปมาก ปัญหาทางสังคมก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมาก เพียงแต่มีอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาก็ไปบีบทับไว้เท่านั้นเอง ปัญหาความขัดแย้งในสังคมก็ไม่ได้หายไป เพียงแต่อยู่ข้างล่าง ถ้าเราสังเกตดูเรื่องที่ไม่ควรเป็นเรื่องก็กลายเป็นเรื่องอ่อนไหวไป เพราะยังมีความขัดแย้งอยู่ตรงนั้น 2 ปีกว่าของ คสช. ผมคิดว่าสังคมไม่เปลี่ยนไป ความขัดแย้งยังเป็นปัญหา ความขัดแย้งของ 2 สีใหญ่ๆก็ยังมีอยู่ ผมจึงมองว่าไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก เพียงแต่มีอำนาจเข้ามาทำให้ดูผิวหน้าเหมือนจะเรียบร้อย ทั้งที่ความจริงความขัดแย้งในสังคมไทยยังมีอยู่

มีคำถามต่อว่าความขัดแย้งในสังคมไทยมีแนวโน้มอย่างไรต่อไป ผมมองว่าถ้าตราบใดที่เราไม่ยอมพูดกันอย่างตรงไปตรงมา เราพยายามจะเอาชนะกัน ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่ คือความเห็นต่างเราจะใช้อำนาจมาบังคับไม่ได้ ความเห็นต่างมาจากคน 2 กลุ่ม ที่เขามีมุมมอง มีความคิด มีวิธีคิด มีความเชื่อ มีทฤษฎีที่ไม่เหมือนกัน มีมุมมองปัญหา มุมมองโลกที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นคน 2 กลุ่ม คุณจะให้เขาคิดตรงกันเป็นไปไม่ได้ กลุ่มหนึ่งเขาเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องความเท่าเทียม แต่อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อความไม่เท่าเทียม คนเป็นคนไม่เท่ากัน แล้วจะให้ฝ่ายหนึ่งยอมอีกฝ่ายหนึ่ง ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่สังคมต้องยอมรับ

ผมพูดไว้ตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติรัฐประหารแล้วว่า สังคมต้องเรียนรู้และเข้าใจตรงนี้ว่าคนเรามีวิธีคิดที่ต่างกันได้ มุมมองต่างกันได้ แต่เราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ จริงๆแล้วเราต้องยอมรับและปล่อยให้ความคิดและมุมมองของแต่ละคนเป็นไปตามธรรมชาติ ให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ของมันให้ถูกต้อง ให้คนรู้ว่าเราใช้อารมณ์ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ บางเรื่องเราไม่ชอบ แต่ในทางกฎหมายไม่ผิด แต่วันนี้ ขณะนี้เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น เรามีคนไม่ชอบ กฎหมายก็ไม่กล้าไปทาน เพราะฉะนั้นฝ่ายที่ทำตามกฎหมายก็ไม่ยอม เพียงแต่ตอนนี้ถูกอำนาจกดทับก็ทำอะไรไม่ได้ แต่มันยังอยู่ในใจ อยู่ในตัว คิดเหมือนเดิม

จะเกิดแรงปะทุหรือไม่

ความจริงผมก็กลัวอยู่เหมือนกัน พูดตรงๆเลยว่าความขัดแย้งในลักษณะอย่างนี้ ทั่วโลกไม่ว่าที่ไหนเท่าที่เห็นมา แม้แต่ในอาเซียนเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ในลาวเกิดขึ้น ในเวียดนามเกิดขึ้น ตรงนี้จะนำไปสู่การทำลายล้างอย่างในเขมรถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ ที่เขาห่วงกันคือการล้างเผ่าพันธุ์ สังคมไทยจริงๆก็ดูน่ากลัว ถ้าเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ รัฐบาลที่เข้ามารักษาการไม่อยู่ตรงกลางก็ยิ่งไปกันใหญ่ เรื่องนี้ต้องระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ คนส่วนใหญ่เป็นคนขี้เกรงใจ เป็นสัญลักษณ์ของคนไทยเลย เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ที่ถูกกระทำ บางครั้งถูกกระทำโดยคนที่ไม่เกรงใจ แต่คนถูกกระทำบอกไม่เป็นไร อย่าไปยุ่งกับเขาเลยเดี๋ยวมีเรื่อง ตรงนี้อาจจะทุเลาได้บ้าง แต่ถ้าคุณทำไปมากๆ พอถึงจุดหนึ่งคนที่เคยเกรงใจถ้าหมดความเกรงใจขึ้นมาก็มีเรื่อง สังเกตได้ว่าทุกวันนี้คนไหนกล้ากระทำกับคนอื่น คนส่วนมากที่คุณไปกระทำกับเขา บางครั้งเขาไม่อยากตอบโต้ เกรงใจ แต่เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้อยู่ได้เสมอไป ที่ถามผมว่ามีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำไปสู่การรบรากันนั้น ผมคิดว่าถ้าภาครัฐไม่พยายามจะสร้างความปรองดองจริงๆ ให้คนเห็นต่างอยู่ด้วยกันได้ ตรงนี้ต้องระมัดระวังจะนำไปสู่วิกฤตในอนาคตได้

แก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างไร

ทางออกจริงๆ ถ้ากระบวนการยุติธรรมต่างๆทำให้ถูกต้อง ผมยกตัวอย่างกรณีเหตุการณ์เร็วๆนี้ พูดตรงๆเลยว่าเราทุกคนเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็ไม่อยากเห็นคนบางคนถูกกระทำเพียงเพราะเขาพูดจาอะไรไม่สอดคล้องกับคนในสังคม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมต้องปกป้องเขา เขาพูดไม่ดี ไม่เหมาะ แต่มันไม่ได้ผิดกฎหมาย คุณไปทำร้ายเขาไม่ได้ แต่คุณสังเกตมั้ยว่าภาครัฐหลับตาข้างหนึ่ง เพราะกลัวกระแสส่วนใหญ่ ภาครัฐต้องยึดความถูกต้อง แม้บางเรื่องไม่ถูกใจ ถ้าภาครัฐควบคุมตรงนั้นไม่ได้ ผมขอเตือนว่าอันตราย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พูดเรื่องการใช้มาตรการทางสังคม ตรงนี้จะนำไปสู่สิ่งที่ผมว่า จะนำไปสู่การทำลายล้างกัน ความจริงต้องบอกว่าถึงจะไม่ชอบใจ แต่เรื่องนี้เป็นแค่ความไม่ควร ไม่ใช่ความผิดในแง่กฎหมาย จะไปลงโทษเขาไม่ได้ เป็นรัฐบาลต้องพูดให้ชัดว่ากฎหมายมันเป็นอย่างนั้น อย่างถ้าพบว่ามีใครโพสต์หมิ่นสถาบันหรืออะไรเราก็ต้องเอาผิดทางกฎหมาย ไม่ใช่เอาความผิดทางมาตรการทางสังคม

มาตรการทางสังคมนี่แหละคือที่มาของความรุนแรง ซึ่งกรณีการล้างเผ่าพันธุ์ก็มาจากมาตรการทางสังคม ผมมองว่ารัฐบาลที่มารักษาการจะเปิดช่องว่างตรงนี้ไม่ได้เลย พอคุณเปิดช่องว่างตรงนี้ รัฐบาลก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็รู้ว่าตรงนี้เป็นช่องอันตราย จึงออกมาพูดปิดช่อง หลังจาก พล.อ.ไพบูลย์ไปเปิดช่อง

การแก้ความขัดแย้งของรัฐบาล

ผมมองว่ารัฐบาลทหารมีความคิดแบบเดิมๆ ผมเห็นรัฐบาลทหารมาหลายคณะ คณะปัจจุบันก็ไม่มีความคิดอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม ความปรองดองในความหมายของรัฐบาลก็คือ ถ้าแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องหายไป การหายไปในความหมายเขาก็คือต้องยอมรับอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ ผมคิดว่าในโลกปัจจุบันมันเป็นไปไม่ได้ถ้ารัฐบาลยังคิดแบบนี้อยู่ ผมคิดว่าเป็นวิธีการที่ใช้ไม่ได้ คือสร้างความปรองดองจริงๆไม่ได้

รัฐบาลต้องยอมรับว่าต้องให้ความยุติธรรม โดยเฉพาะต้องสร้างความยุติธรรมให้เป็นมาตรฐานเดียว ไม่ใช่สองมาตรฐาน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งสมัยนี้ข่าวสารไว มันมองกันออก เขาจะรู้สึกว่าทำไมมันไม่เหมือนกัน ในอดีตเราพบว่า ถ้าคุณทำเหมือนกัน ความผิดแบบเดียวกัน คุณจะถูกตัดสินคดีเหมือนกัน แน่นอนว่าทางฝ่ายยุติธรรมอาจปฏิเสธว่าไม่ได้คิด ไม่ได้ทำอย่างนั้น ผมไม่อยากจะพูดว่ามันเป็นสองมาตรฐาน แต่ผมมองว่าหลักมันไม่เป๊ะ ไม่เหมือนในอดีตที่ศาลตัดสินมันเป๊ะ มีฎีกาเป็นไปตามนั้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่

คดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์

เป็นเรื่องแปลกมากๆที่เราไม่เคยมีมาก่อน พูดกันตรงๆว่า เราไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีออกนโยบายมาแล้ว ฝ่ายหนึ่งมองว่าทำให้เกิดความเสียหายกับรัฐแล้วจะต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องพูดถึงว่าคุณจะสุจริตหรือไม่สุจริต ถ้าคุณพูดอย่างนี้จะกลายเป็นว่าต่อไปข้างหน้าคนจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ลำบาก พูดตรงๆคำว่ารัฐมันขาดทุนเป็นหลักอยู่แล้วใช่มั้ย นโยบายของรัฐบาลมีหรือที่กำไร ผมคิดว่าน้อยมาก ยกตัวอย่างนโยบายเรื่องการเกษตร เช่น เรื่องข้าว เคยมีหรือไม่ที่รัฐบาลกำไรจากนโยบายข้าว ไม่มี มีแต่ขาดทุน เพราะฉะนั้นกรณีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จึงเป็นเรื่องแปลก นี่ประเด็นที่ 1

ประเด็นที่ 2 ที่แปลกคือ ใช้อำนาจสั่ง ซึ่งในทางกฎหมายพูดตรงๆเลย เรื่องนี้มีคนโต้แย้งมากว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นพนักงานของรัฐหรือเปล่า เขาก็แย้งกันอยู่ มันไม่ได้ทุจริตแล้วจะยังไง ทำไมไม่รอให้เป็นการตัดสินโดยศาลยุติธรรมให้ชัดเจนก่อน ประกอบกับช่วงนี้ข้าวมีราคาตกต่ำมาก ตรงนี้ผมคิดว่ารัฐบาลต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก คนทั่วไปเขาจะมองว่าเป็นความพยายามกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ตรงนี้ก็เป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม ผมจะไม่บอกว่าคดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องทางการเมือง แต่เป็นครั้งแรกที่มีการทำแบบนี้ พูดตรงไปตรงมาเรื่องทุจริตไม่มีหรอก เพียงแต่บอกว่าเตือนแล้วไม่หยุดอะไรพวกนี้

คำถามผมคือ ถ้านายกรัฐมนตรีของประเทศไทยทำนโยบายมาแล้วมีคนมาแย้งให้หยุด ต่อไปก็จะไม่มีนายกรัฐมนตรีทำอะไรเลย ไม่กล้าทำ กลายเป็นว่าเราจะมีรัฐบาลที่ไม่มีประโยชน์ เพราะต้องมาชดใช้ค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาท เรื่องนี้เป็นการเมืองหรือไม่ผมบอกไม่ได้ แต่ความรู้สึกของคนทั่วไปเขารู้สึกว่าคือการเมือง ผมเป็นห่วงปัญหาตรงนี้ว่าจะเป็นจุดหนึ่งที่จะสร้างรอยร้าว ความขัดแย้งในสังคมให้เพิ่มมากขึ้น ทำกันขนาดนี้แล้วจะไม่ขัดแย้งอย่างไร อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก็มีคนรักคนชอบ พล.อ.ประยุทธ์ก็มีคนรักคนชอบ ดังนั้น เวลาคุณทำ คนไม่ชอบเขาก็ดีใจ แต่คนชอบเขาก็เกลียดชังแน่นอน แต่ผมไม่ได้หมายความว่าถ้าเป็นนักการเมืองแล้วอย่าไปยุ่งเขา ถ้าหากเขาทำผิดจริงเราก็ต้องเอาเรื่องสู่กระบวนการที่ถูกต้อง ถ้ากระบวนการยังไม่ชัดก็สร้างความร้าวฉาน

ผมยืนยันว่าการสร้างความปรองดองของรัฐบาล คสช. ไม่ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่สำเร็จเป็นรูปธรรมคือ ไม่มีการต่อต้าน ไม่มีการเดินขบวนเท่านั้นเอง ถามว่าทำให้เกิดความปรองดองในชาติได้หรือไม่ ผมว่ายังไม่เกิด ยังถกเถียง ยังโต้แย้ง ยังทะเลาะกันอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าเวลานี้มันโผล่ขึ้นมาไม่ได้เท่านั้นเอง

ผลงานของรัฐบาลด้านอื่นๆ

ความสำเร็จของรัฐบาลในสายตาของประชาชนทั่วไป เท่าที่ผมตรวจสอบและรับฟังมาเขาพึงพอใจเรื่องการใช้มาตรา 44 รู้สึกว่ามีความเด็ดขาด ได้ผล แต่คำถามผมคือว่ามาตรา 44 มันปฏิรูปประเทศไทยหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ใช่ มาตรา 44 เป็นการใช้อำนาจแก้ปัญหาชั่วคราวเท่านั้นเอง ผมถามง่ายๆ มีพรรคพวกบางคนเขาบอกว่ารัฐบาลใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาการบุกรุกป่าไม้ แก้ปัญหาการยึดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินสำเร็จ ผมก็ถามต่อว่าหลังจากใช้มาตรา 44 แล้วยังไงต่อไป คำถามคือมันปฏิรูปการทำงานของรัฐหรือไม่ ส่วนใหญ่ทุกคนก็จะบอกว่าไม่

หมายความว่าการใช้มาตรา 44 เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในวิธีการปฏิบัติงาน ผมใช้คำแรงๆด้วยซ้ำไป ผมบอกว่าถ้าเราบอกว่ามาตรา 44 ได้ผล เราต้องย้อนกลับไปว่าวิธีทำงานเดิมของหน่วยงานทั้งหลายแสดงว่าใช้ไม่ได้ แล้วเราจะแก้กันอย่างไร ถ้าคุณแก้ไขก็จะเป็นการปฏิรูป แต่ทุกวันนี้ผมพูดตรงๆเลยว่ารัฐบาลไม่ได้คิดขนาดนั้น แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถ้าหมดมาตรา 44 ก็กลับที่เดิม ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในเชิงการปฏิรูปยังไม่เห็น เป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะหน้าโดยใช้อำนาจที่เด็ดขาด แต่ปัญหาระยะยาวไม่ได้แก้

อีกเรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนเป็นการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลง ผมดูเรื่องข้าว เรื่องชาวนา ดูเหมือนเป็นการเปลี่ยนแปลงว่า ต่อไปนี้เกษตรกรต้องช่วยเหลือตัวเอง คุณต้องทำการแข่งขันกับคนอื่นให้ได้ แนวคิดของรัฐบาลเหมือนอย่างนั้น ถามว่าจะมีผลดีต่อชาวนาหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ใช่ มันจะกลายเป็นการทอดทิ้งชาวนาให้อ่อนแอไปตามธรรมชาติหรือเปล่า อันนี้คือการปฏิรูปมั้ย เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ ถ้าปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ผมคิดว่าตายแน่ คุณจะบีบให้ชาวนาเปลี่ยนอาชีพคงยาก ผมขอยืนยันว่าเรื่องการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เป็นระบบใน 2 ปีกว่าที่ผ่านมาผมยังไม่เห็น ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะหน้าที่ใช้มาตรา 44

ผมก็มีคำถามตามมาว่า หลังจากใช้มาตรา 44 ไประยะหนึ่งแล้ว ระบบวิธีคิด วิธีทำงานต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งยังไม่เห็น ส่วนระยะเวลาที่เหลือก่อนจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็พที่รัฐบาลประกาศว่าในปลายปี 2560 จะได้เห็นการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ ผมคิดว่าถ้า 2 ปียังได้ขนาดนี้ อีก 1 ปีจะไปถึงไหน เขาบอกว่าจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมากำหนด ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นตัวช่วยในการปฏิรูปประเทศหรือไม่ เรายังไม่เห็นรายละเอียด ผมจึงไม่แน่ใจว่าเวลาที่เหลือกับภารกิจที่รัฐบาลจะทำจะปฏิรูปอะไรได้เป็นระบบ

ทิศทางการเมืองไทยสมัยหน้า

ถ้าเราดูตามรัฐธรรมนูญที่เขียนมาก็มองเห็นชัดว่าการเมืองจะย้อนกลับไปก่อนปี 2540 คือจะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ แถมกำหนดนโยบายไม่ได้ เพราะจะต้องใช้นโยบายตามยุทธศาสตร์ ถ้าจะทำนโยบายอะไรต้องเห็นชอบโน่นนี่ก่อน เพราะฉะนั้นจะกลายเป็นรัฐบาลอ่อนแอ จะเน้นเรื่องพรรคเล็กพรรคน้อย การเมืองสมัยหน้านายกรัฐมนตรีจะทำอะไรได้ไม่มาก ก็จะกลับสู่วงจรการเมืองเดิม คือการเมืองที่อ่อนแอ คนเป็นนายกรัฐมนตรีนำพาประเทศไปไม่ได้ ไม่สามารถกำหนดนโยบายสำคัญๆอะไรได้ บางคนบอกเป็นรัฐบาลที่ไม่กลัว แต่ก็ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชน

ที่สำคัญจะเป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการ ราชการจะเป็นใหญ่ จะตรงข้ามกับการเมืองช่วงปี 2540-2557 ซึ่งเป็นการเมืองเหนือราชการ ทั้งยังอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพด้วย เพราะกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของราชการที่มีอิทธิพลสูงมาก รัฐบาลสมัยหน้าจะเป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารและข้าราชการพอสมควร ตรงนี้ผมไม่เรียกว่าเป็นการเมืองถอยหลัง แต่เรียกอย่างสุภาพว่าเป็นการเมืองที่ย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่


You must be logged in to post a comment Login