วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ปฏิวัติชาวนา!

On November 4, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อเยี่ยมเยียนถามไถ่สารทุกข์สุกดิบชาวนาในยามที่ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกคำสั่งทางปกครองให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการทำโครงการจำนำข้าว 35,000 ล้านบาท ถูกมองว่าเป็นความจงใจสร้างเรื่องดราม่า สร้างกระแสโจมตีรัฐบาล คสช.

ก็เป็นธรรมดาที่คนมีอคติอยู่แล้วจะมองได้ เพราะเป็นการลงพื้นที่ในช่วงที่พอเหมาะพอเจาะกับห้วงเวลา ยิ่งมีการจ่ายเงินซื้อข้าวสารที่ชาวนาสีมาจำหน่ายเองโดยตรง และมีบทสนทนาถามไถ่ด้วยความห่วงใยเรื่องเงินจำนำข้าวว่าจะชดใช้อย่างไร ที่ทำให้อดีตนายกฯถึงกับน้ำตาคลอและตอบว่า “ไม่รู้จะชดใช้ยังไงหมดเพราะเป็นจำนวนเงินที่เยอะมาก”

ยิ่งทำให้มีคนเอาไปผูกโยงว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการจัดฉากและหวังผลทางการเมือง

หวังผลตอกย้ำให้ประชาชนเห็นว่าเมื่อไม่มีโครงการจำนำข้าวแล้วทำให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อน

หวังผลตอกย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารคสช.ไม่สนใจใยดีต่อความเดือดร้อนทุกข์ยากของพี่น้องชาวนา

หวังผลตอกย้ำให้เห็นว่ามาตรการจำนำยุ้งฉางและจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวของรัฐบาลทหาร คสช.เป็นวิธีการเดียวกันกับการจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่มีอะไรแตกต่าง เมื่อรัฐบาลทหาร คสช.ทำได้ แล้วใยโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงกลายเป็นความผิด ต้องชดใช้เงินจำนวนมหาศาล

มุมมองแบบนี้ไม่แปลก เพราะสะท้อนมาจากผู้มีอำนาจและผู้สนับสนุนตั้งแต่แรกแล้วว่าปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นการร่วมมือรวมหัวกันทำให้เกิดขึ้นมาระหว่างนักการเมืองจากกลุ่มอำนาจเก่ากับโรงสีข้าวบางพื้นที่

มีการระบุด้วยซ้ำว่ารู้ตัวแล้วว่าเป็นฝีมือของใคร โดยเบื้องต้นชี้เป้าไปที่จังหวัดพิจิตร แต่เรื่องก็เงียบหายไปไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ทั้งที่บอกว่ารู้ตัวแล้ว

นอกจากนี้ยังมีการให้ข่าวตลอดเวลาว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่หาข้อมูลเรื่องการรวมหัวกันกดราคาข้าวให้ตกต่ำเพื่อหวังผลทางการเมือง

เมื่อฝ่ายคุมอำนาจมีมุมมองอย่างนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีการวิเคราะห์กันไปไกลว่าการทุบราคาข้าวให้ชาวนาเดือดร้อนครั้งนี้มีเป้าหมายถึงให้เกิดการ “ปฏิวัติชาวนา”

ต้องการให้ชาวนาลุกฮือขึ้นมาเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ

เมื่อวิเคราะห์กันอย่างนี้ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลทหาร คสช.จะประชุมเร่งด่วน และประกาศมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาทันที

“หวังว่าชาวนาคงจะพอใจระดับหนึ่ง” เป็นคำพูดของผู้มีอำนาจบางคนที่ตอกย้ำความเชื่อว่ามีการปลุกปั่นให้ชาวนาลุกฮือ

ทั้งหมดคือความเป็นไปของปัญหาราคาข้าวตกต่ำในปัจจุบัน ที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งก็มีสิทธิ์คิดและวิเคราะห์กันไปได้

แต่ไม่ควรหลงลืมข้อเท็จจริงที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่า “ราคาข้าวตกต่ำ” จนทำให้ชาวนาเดือดร้อน หากราคาข้าวไม่ตกต่ำ ชาวนาไม่เดือดร้อน ไฉนเลยจะมีใครไปปลุกปั่นสร้างกระแสให้ลุกฮืออย่างที่หวาดหวั่นกันได้


You must be logged in to post a comment Login