วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ผีถ่ายทอดสด / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On November 1, 2016

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

สถานีโทรทัศน์บีบีซีออกอากาศรายการพิเศษในคืนวันฮาโลวีน เป็นการถ่ายทอดสดการล่าปิศาจในบ้านผีสิงแห่งหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนจอโทรทัศน์สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ชมกว่า 11 ล้านคน วัยรุ่นคนหนึ่งจิตตกขนาดหนักจนถึงขั้นแขวนคอตาย

คืนวันที่ 31 ตุลาคม 1992 สถานีโทรทัศน์บีบีซีในกรุงลอนดอนนำเสนอรายการพิเศษเนื่องในวันฮาโลวีน ชื่อรายการ “โกสต์วอตช์” (Ghostwatch) ดำเนินรายการโดยพิธีกรชื่อดัง ไมเคิล พาร์กินสัน และพิธีกรภาคสนามโดยซาร่าห์ กรีน และเครก ชาร์ล 2 พิธีกรที่ชาวอังกฤษเห็นหน้าพวกเขาบ่อยๆในรายการโชว์สำหรับเด็ก

การดำเนินรายการสดในรูปแบบสารคดี 90 นาที ประกอบกับผู้ดำเนินรายการและพิธีกรภาคสนามเป็นบุคคลที่รู้จักกันดี ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกคล้อยตามว่าสิ่งที่กำลังรับชมเป็นเหตุการณ์จริง

บ้านผีสิง

เหตุการณ์เกิดขึ้นที่บ้านหลังหนึ่งในเมืองนอร์ทโอต ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวเออร์ลีย์ ประกอบไปด้วยแม่ม่าย แพม และลูกสาว 2 คน ซูซานและคิม

แพมและลูกๆเล่าว่า มีเหตุการณ์ประหลาดหลายอย่างเกิดขึ้นภายในบ้านหลังนี้ เช่น บ้านสั่นคลอน ถ้วยชามแตกเอง และเสียงลึกลับไม่รู้ที่มา ตลอดจนถึงรอยข่วนปริศนาที่เกิดขึ้นเองบนใบหน้าซูซาน

ทุกครั้งที่มีเสียงประหลาดเกิดขึ้น แพมจะปลอบโยนลูกๆว่าเป็นแค่เสียงจากท่อ และนั่นเป็นที่มาของชื่อปิศาจที่สิงอยู่ในบ้านที่ในเวลาต่อมาพวกเขาเรียกมันว่า “ไปป์ส” (Pipes)

ช่วงแรกของรายการดำเนินไปแบบค่อยเป็นค่อยไปตามสไตล์ของสารคดี แต่พอเข้าช่วงครึ่งหลังก็เริ่มมีผู้ชมทางบ้านโทรศัพท์เข้ามาตามหมายเลขที่ปรากฏบนหน้าจอเล่าประสบการณ์ที่พบจากบ้านหลังนี้ เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าเคยมีคนแขวนคอตายในบ้านหลังนี้ และเมื่อเร็วๆนี้ก็มีคนพบศพสุนัขถูกฉีกเป็นชิ้นๆใกล้กับบ้านหลังนี้

เล่นเลยเถิด

หลังจากรายการดำเนินไป 60 นาที ไมเคิลก็บอกกับผู้ชมว่ามีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น และภาพก็ตัดไปที่บ้านผีสิง ซูซานพูดด้วยน้ำเสียงของผู้ชายและมีเสียงคล้ายแมวร้องดังโหยหวนมาจากผนังรอบๆตลอดเวลา

ซาร่าห์งัดแผ่นไม้ใต้บันไดเพื่อค้นหาที่มาของเสียงประหลาดแล้วหายตัวไปในช่องใต้บันได ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลี้ลับระบุว่ามันเป็นฝีมือของปิศาจไปป์ส ภาพตัดกลับมาที่ห้องส่งบีบีซี เกิดเหตุการณ์คล้ายกระแสไฟฟ้าขัดข้อง หลอดไฟในห้องส่งติดๆดับๆ และในที่สุดหลอดไฟก็ระเบิดจนไฟดับทั้งห้องส่ง

หลังจากรายการจบลง ผู้ชมหลายพันคนพยายามโทรศัพท์มาที่รายการ แต่เจ้าหน้าที่รับสายมีอยู่เพียง 5 คนเท่านั้น ผู้หญิงคนหนึ่งอ้างว่าลูกไหลออกมาจากครรภ์ก่อนกำหนดเพราะเธอเกิดความเครียดจากการชมรายการโกสต์วอตช์

จากการที่มีผู้ชมโทรศัพท์เข้ามาต่อว่าอย่างมากมาย ทำให้สถานีโทรทัศน์บีบีซีต้องขึ้นข้อความขออภัยผู้ชมเป็นระยะๆ โดยมีใจความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรายการโกสต์วอตช์ก่อนหน้านี้เป็นเพียงละคร หาใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด

เบื้องหลังโกสต์วอตช์

ปี 1988 สตีเฟน โฟล์ก นักเขียนบทโทรทัศน์ เสนอบทละครความยาว 6 ตอน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนคดีบ้านผีสิง โดยตอนจบเป็นการถ่ายทอดสดในสถานที่

ผู้บริหารบีบีซีบอกว่าไม่น่าสนใจ นอกจากไอเดียการถ่ายทอดสดบ้านผีสิงซึ่งน่าจะเหมาะที่จะนำมาใช้ในเทศกาลฮาโลวีน ด้วยเหตุนี้บีบีซีจึงเปิดไฟเขียวให้ผลิตรายการในรูปแบบสารคดีในคืนวันฮาโลวีนปี 1992 โดยตัดเอาเฉพาะตอนท้ายของบทละครมาสร้าง

เพื่อให้สมจริงสมจัง บีบีซีมอบหมายหน้าที่ผู้ดำเนินรายการในห้องส่งให้กับไมเคิล พาร์กินสัน และพิธีกรภาคสนามคือ ซาร่าห์ กรีน และ เครก ชาร์ล ซึ่งบุคลากรทั้ง 3 คนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ชม โดยมีไมค์ สมิธ สามีของซาร่าห์ ทำหน้าที่ผู้ช่วยเหลือผู้ดำเนินรายการในห้องส่ง

ไตเติลก่อนเข้ารายการมีข้อความระบุว่า เรื่องราวต่อไปนี้แต่งขึ้นโดยสตีเฟน โฟล์ก แต่จะมีผู้ชมสักกี่คนที่อ่านไตเติลก่อนเข้ารายการ อีกทั้งข้อความนี้ปรากฏเพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น หากกะพริบตาเพียงแวบเดียวผู้ชมก็จะไม่เห็นข้อความนี้

ไม่สดจริง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านผีสิงของครอบครัวเออร์ลีย์ไม่ใช่การถ่ายทอดสด แต่เป็นการบันทึกเทปที่ถ่ายทำไว้ล่วงหน้า 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ และสายโทรศัพท์ของผู้ชมจากทางบ้านที่ได้รับการออกอากาศก็เป็นสายจากพวกเดียวกันที่ได้เตี๊ยมเอาไว้

บีบีซีได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ผลิตสารคดีได้ยอดเยี่ยมแห่งหนึ่งของโลก ชื่อเสียงของผู้ดำเนินรายการและพิธีกรภาคสนาม ประกอบกับรูปแบบการดำเนินรายการเหมือนเป็นสารคดีทั่วๆไป ทำให้ผู้ชมได้รับการโน้มน้าวว่าสิ่งที่กำลังรับชมเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆในขณะนั้น

สตีเฟนแนะนำฝ่ายผลิตรายการให้สอดแทรกเสียงความถี่สูงเกินกว่าที่หูมนุษย์จะได้ยินเป็นระยะๆ เสียงความถี่สูงเหล่านี้จะกระทบโสตประสาทของสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น สุนัขและแมว พวกมันอาจจะมีปฏิกิริยาแปลกๆ สร้างบรรยากาศสยองขวัญให้กับผู้ชมทางบ้านได้ไม่มากก็น้อย

จะเป็นด้วยเหตุบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ผู้ชมหลายคนยอมรับว่าสัตว์เลี้ยงในบ้านแสดงอาการประหลาดๆขณะเปิดชมรายการโกสต์วอตช์ สร้างบรรยากาศน่าขนลุกขนพองได้ไม่น้อยทีเดียว

หลอนเกินคาด

ประเมินว่าชาวอังกฤษชมรายการโกสต์วอตช์ในคืนวันฮาโลวีนปี 1992 ราว 11 ล้านคน ผู้ชมจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะจิตตก ขวัญผวา ซูซาน แบล็กมอร์ นักจิตวิทยา กล่าวโทษว่าบีบีซีไม่แฟร์กับผู้ชมด้วยการผลิตละครที่สมจริงสมจังจนผู้ชมแยกไม่ออก

ขณะเดียวกัน ซาร่าห์ก็ต้องรีบปรากฏตัวในจอโทรทัศน์เพื่อให้แฟนตัวน้อยๆสบายใจว่าเธอปลอดภัยดี ไม่ได้ถูกปิศาจลักพาตัวไปดังที่เห็นในรายการโกสต์วอตช์

มาร์ติน เดนแฮม หนุ่มน้อยวัย 18 ปี เกิดอาการหลอน สงสัยว่าบ้านเขามีผีสิงเหมือนกับที่เห็นในรายการโกสต์วอตช์หรือไม่ หากเพียงแค่คิดสงสัยคงไม่เลวร้ายเท่าไรนัก แต่มาร์ตินมีประวัติเกี่ยวกับโรคประสาทมาก่อน เขาเชื่อในเรื่องของภูตผีวิญญาณอย่างแรงกล้า

ในวัย 13 ปี มาร์ตินเคยแขวนคอตัวเองมาแล้วครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1992 หลังจากได้ชมรายการโกสต์วอตช์เพียงไม่กี่วัน มาร์ตินใช้สายยางรัดคอตัวเอง ในกระเป๋าพบจดหมายลาตายเขียนว่า “ไม่ต้องเป็นห่วง ถ้าผีมีจริงผมก็จะเป็นผีอยู่เคียงข้างพ่อแม่ตลอดไป”

พ่อและแม่ของมาร์ตินเชื่อว่ามาร์ตินฆ่าตัวตายหลังจากได้ชมรายการโกสต์วอตช์ เพราะมันทำให้เขามั่นใจว่าหลังจากที่ตายจากโลกมนุษย์ไปแล้วจะไปเกิดเป็นวิญญาณในอีกโลกหนึ่ง

ผลกระทบที่คาดไม่ถึงทำให้รายการโกสต์วอตช์ไม่เคยนำกลับมาฉายซ้ำในอังกฤษอีกเลย แต่ปัจจุบันเรายังคงหาชมรายการโกสต์วอตช์ได้จากยูทูบ โดยค้นหาคำว่า “Ghostwatch”


You must be logged in to post a comment Login