วันพฤหัสที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567

‘RSV’ ไวรัสวายร้าย / โดย พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน

On November 1, 2016

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ
ผู้เขียน : พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาวมักจะพบเด็กๆป่วยบ่อยขึ้น อาจเพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และเด็กมักจะได้รับเชื้อโรคง่ายกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส รู้หรือไม่ว่ามีไวรัสที่เป็นอันตรายกับเด็กที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามคือ เชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus (RSV) ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ส่งผลรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อ ซึ่งยังไม่มียารักษาและวัคซีน

เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจอักเสบในผู้ป่วยทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับอาการว่าจะเป็นมากในช่วงวัยไหน พบในเด็กอายุน้อยตั้งแต่วัยทารกจนถึงช่วงวัยเข้าอนุบาล โดยเด็กๆจะติดเชื้อไวรัส RSV จากการรับเชื้อผ่านทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ จากการสัมผัสหรือละอองน้ำมูกของผู้ป่วยคนอื่น มีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน สามารถเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ส่วนบนจนถึงส่วนล่าง

ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ และอาจทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อ โดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีอาการปอดบวม ไอ หอบได้ง่าย เด็กจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย บางครั้งเป็นมากจะหายใจดังวี้ด ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการหายใจล้มเหลวได้ นอกจากนั้นยังส่งผลให้เด็กบางคนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหอบหืดในอนาคตได้อีกด้วย

เด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัดคือ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก สิ่งที่พ่อแม่สามารถสังเกตเห็นว่าลูกอาจจะติดเชื้อ RSV ได้แก่ มีอาการไอมาก ไอถี่ มีเสมหะเยอะและเหนียวข้น หายใจหอบเหนื่อย หายใจแรง หน้าอกบุ๋มอาจมีเสียงหายใจดังวี้ดๆ ไม่กินอาหาร ไม่ดื่มน้ำ ไม่ดื่มนม มีไข้สูง มักจะซึม หงุดหงิด กระสับกระส่าย เป็นต้น

หากลูกมีอาการเหล่านี้ในช่วงที่ไวรัส RSV ระบาดควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด แพทย์จะตรวจร่างกาย ฟังเสียงปอด ถ้ามีเสียงวี้ดแพทย์จะพ่นยาขยายหลอดลม รวมถึงเอกซเรย์ปอดในรายที่สงสัยปอดอักเสบ การตรวจหาเชื้อนี้ทำได้ไม่ยาก โดยใช้อุปกรณ์พิเศษลักษณะคล้ายก้านสำลียาวๆป้ายในโพรงจมูกเพื่อส่งไปตรวจหาเชื้อไวรัสคล้ายกับที่ทำในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ในปัจจุบันยังไม่มียารักษา RSV โดยเฉพาะ

การรักษาอาการติดเชื้อไวรัส RSV ต้องรักษาไปตามอาการที่ป่วยคือ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูกในเด็กเล็ก เด็กที่มีอาการหนักอาจต้องนอนโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือ ให้ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ เคาะปอด และอาจจะต้องช่วยดูดเสมหะ ถ้ามีอาการรุนแรงมากจะต้องได้รับออกซิเจนหรือใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ หากมีอาการไม่รุนแรงก็สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ด้วยการกินยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำเยอะๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ในที่สุดร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อออกไปได้เอง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เป็น RSV แล้วสามารถเป็นซ้ำได้หลายครั้ง แต่อาการจะน้อยลง และเนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV ทำให้เด็กๆมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสได้ง่ายในช่วงที่แพร่ระบาดมาก โดยเฉพาะสถานที่ที่เด็กอยู่กันมากๆ เช่น โรงเรียนอนุบาลหรือเนอร์สเซอรี่

สิ่งที่จะช่วยให้ลูกน้อยไม่ป่วยโรคนี้คือ มีร่างกายที่แข็งแรง รู้จักวิธีหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคด้วยการล้างมือบ่อยๆหลังจากทำกิจกรรมหรือก่อนกินอาหาร เพราะไวรัส RSV สามารถติดต่อได้จากน้ำลาย น้ำมูก ไอ จาม ไม่ควรให้ลูกอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด หมั่นทำความสะอาดของเล่น ผู้ป่วยต้องปิดปากหรือใส่หน้ากากอนามัยเวลาไอจามเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือเมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่ที่แออัด เมื่อลูกต้องอยู่ในสภาพอากาศที่หนาวเย็นควรทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ถึงแม้ไวรัส RSV จะมีอาการรุนแรงมากกว่าไวรัสหวัดทั่วๆไป แต่ถ้ารู้วิธีการรักษาและช่วยกันดูแลสุขภาพลูกน้อยให้แข็งแรงก็จะปลอดภัยจากไวรัสวายร้ายตัวนี้ได้


You must be logged in to post a comment Login