วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

‘ในหลวง’ในใจเรา / โดย คาทอลิกไทย

On November 1, 2016

คอลัมน์ : ข้อคิดจากพระคัมภีร์
ผู้เขียน : คาทอลิกไทย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสู่ราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ จอมทัพไทย และอัครศาสนูปถัมภก และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

หลายครั้งในการเฉลิมฉลองวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวามหาราชของทุกปีที่ผ่านมา เราเคยเห็นและได้ยินจากสื่อมวลชนทุกแขนงถึงสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงจารึกอยู่ในพระทัย ทรงเคยเล่าว่า ขณะที่ประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองเพื่อทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์

ในหลวงทรงอุปถัมภ์และมีความสัมพันธ์อันดีกับพระศาสนจักรสากลและกับทุกศาสนา ดังความตอนหนึ่งว่า “ประเทศไทยได้ถือเป็นนโยบายเสมอมาในการให้ประชาชนพลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยเหตุนี้ผู้ที่นับถือศาสนาต่างๆกันในประเทศไทยจึงมีชีวิตที่อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก” พระราชดำรัสในโอกาสที่อาร์คบิชอป ยัง ยาโดต์ เอกอัครราชทูตแห่งวาติกัน เข้าเฝ้าฯถวายพระราชสาส์นตราตั้ง ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

“กษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชา” ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทยเกี่ยวกับพระราชดำริในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระองค์ และพระองค์ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ การกีฬา เป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ งานพระราชนิพนธ์ ตลอดจนงานดนตรีจำนวนหนึ่งด้วย เพลงที่พวกเรารู้จักดีคือ ความฝันอันสูงสุด

“กษัตริย์นักพัฒนา” ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ในโครงการพัฒนาประเทศไทยหลายโครงการ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ ทรัพยากรน้ำ สวัสดิการทางคมนาคม และสวัสดิการสาธารณะ ทรงจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียน องค์การ และมูลนิธิต่างๆมากกว่า 1,000 แห่ง นอกจากนี้ยังเสด็จเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญที่สุดจนทำให้ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทยคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทรงปฏิบัติพระองค์เองเป็นแบบอย่าง โปรดให้มีการปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม การเพาะพันธุ์ปลานิลขึ้นในสวนจิตรลดา ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการประหยัด ตัวอย่างเช่น ทรงใช้ดินสอเดือนละ 1 แท่ง ใช้ยาสีพระทนต์จนหมดหลอด นอกจากนั้นยังไม่โปรดสวมเครื่องประดับใดๆยกเว้นนาฬิกาข้อมือ

“กษัตริย์ผู้เป็นที่รัก” ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระภัทรมหาราช” หมายความว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง” ต่อมาในปี 2539 มีการถวายใหม่ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” และ “พระภูมิพลมหาราช” ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกพระองค์ว่า “ในหลวง”

จนกระทั่งสำนักพระราชวังมีประกาศว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษา 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี” เป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์ยาวนานที่สุด

ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานการพักผ่อนตลอดนิรันดร์แก่ในหลวงของเราให้เสด็จสู่สวรรคาลัย ได้เห็นแสงรุ่งโรจน์ของพระองค์ และขอให้ทรงเป็นมิ่งขวัญ เป็น “ในหลวงของเรา” อยู่ในดวงใจและความทรงจำของพวกเราชาวไทยตลอดไป


You must be logged in to post a comment Login