วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

กระแส‘ลูกคนที่สอง’ / โดย ภูริวรรณ วรานุสาสน์

On October 24, 2016

คอลัมน์ : China Today
ผู้เขียน : ภูริวรรณ วรานุสาสน์

ไม่นานมานี้ ทางรัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายลูกคนที่สองขึ้น ก่อให้เกิดกระแสเบบี้บูมขึ้นในหมู่ประชาชนชาวจีน อย่างในเมืองหลวงปักกิ่ง ได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีทารกเกิดใหม่มากถึง 300,000 คนภายในสิ้นปี 2016 นี้

แน่นอนว่าผลที่ตามมาโดยตรงจากนโยบายลูกคนที่สองนี้ คือการเพิ่มขึ้นของหญิงตั้งครรภ์ที่จะต้องแย่งกันจองคิวในโรงพยาบาล ซึ่งหลายๆโรงพยาบาลเกิดเหตุการณ์ “ช่องเสียบใบบันทึกประวัติหมด”

สำหรับประเทศจีน “การลงประวัติ” คือขั้นตอนสำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ซึ่งแผนกสูติศาสตร์จะใช้บันทึกนี้เป็นข้อมูลสำคัญในการรักษา รวมไปถึงการคาดการณ์จำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่จะต้องเข้ามานอนในโรงพยาบาล

ทำให้ “การลงประวัติ” กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการการันตีว่า หญิงตั้งครรภ์คนใดจะมีเตียงสำหรับการเข้ารับการตรวจและคลอดลูก

หนังสือพิมพ์เป่ยจิงไทม์ ได้รายงานว่า โรงพยาบาลในเมืองปักกิ่งหลายแห่ง มีการประกาศว่า ช่องเสียบใบบันทึกประวัติเต็มไปจนถึงเดือนเมษายนปีหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสามารถฝ่าฟันจนได้ลงบันทึกประวัติเรียบร้อย หากแต่เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจริงก็อาจจะต้องพบกับปัญหาการลงทะเบียนอีก

หญิงสาวแซ่เว่ยคนหนึ่ง เดินทางมาถึงโรงพยาบาลพร้อมกับสามีตอนเที่ยงคืน แต่เธอกลับได้รับการรักษาในอีกวันหนึ่ง

ด้วยความยากลำบากในการลงประวัติและการลงทะเบียน ก่อให้เกิดธุรกิจใต้ดิน อย่างเช่น หญิงคนหนึ่งรับจ้างเร่งรัดการลงประวัติในโรงพยาบาลให้ โดยหญิงตั้งครรภ์ที่ใช้บริการต้องเสียค่าใช้จ่ายให้ราย 10,000 หยวน (ประมาณ 55,000 บาท)

หญิงตั้งครรภ์หลายคน ใช้วิธีเปลี่ยนสถานพยาบาล แทนที่จะใช้บริการโรงพยาบาลในเมืองกลับเลี่ยงไปใช้สถานพยาบาลที่อยู่ตามชานเมืองแทน

หญิงตั้งครรภ์แซ่ต้วนกล่าวว่า เธอเลือกไปรักษาในโรงพยาบาลที่เหยียนเจี่ยว ซึ่งตั้งออกไปทางตะวันออกของปักกิ่งแทน ซึ่งเธอแปลกใจมากว่าที่เหยียนเจี่ยวนั้นการลงประวัติไม่ต้องรอนานอย่างในเมืองปักกิ่ง

จากปัญหาที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ทางคณะกรรมการสุขภาพและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติจีน สาขาปักกิ่ง ได้ออกแผนการที่จะมีการรายงานจำนวนเตียงว่างในโรงพยาบาลประจำสัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถวางแผนได้ว่าควรจะไปใช้บริการสถานพยาบาลแห่งใด

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลปักกิ่งจะช่วยสนับสนุนด้านงบประมาณในการว่าจ้างบริการด้านสูติเวชให้แก่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่ขาดแคลนทรัพยากรด้านการแพทย์

จัว เหลียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการโรงพยาบาลกล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องธุรกิจใต้ดินหรือการว่าจ้างลงประวัตินั้นคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เนื่องมาจากกฎหมายที่ทางโรงพยาบาลเองไม่มีอำนาจในการจัดการหรือลงโทษผู้ว่าจ้าง

แต่สิ่งที่จัวเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าจะทำได้ก็คือ การสนับสนุนและปรับปรุงให้ระบบการลงทะเบียนประวัติผู้ป่วยมีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะเข้ามาต่อสู้กับกลุ่มธุรกิจใต้ดินเหล่านี้ได้


You must be logged in to post a comment Login