วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เป้าหมาย‘กลุ่มบริกส์’ / โดย กองบรรณาธิการ

On October 21, 2016

คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

ประชาคมตลาดเกิดใหม่ หรือกลุ่มบริกส์ (BRICS) ส่งท้ายการประชุมสุดยอดประจำปี 2016 ด้วยการย้ำจุดยืนต่อต้านการก่อการร้าย การก่อความรุนแรงทุกรูปแบบ และแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันตัด “ท่อน้ำเลี้ยง” ของกลุ่มภัยคุกคามโลกกลุ่มนี้

การประชุมสุดยอดครั้งที่ 8 ของกลุ่มบริกส์ ซึ่งประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ 5 ชาติ คือบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ จัดขึ้นเมื่อ 15-16 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศอินเดีย

สำหรับการรวมตัวของกลุ่มบริกส์ เดิมทีมีจุดประสงค์เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ เรียกว่าเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ สถานะของประเทศยังอยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนา

แต่ต่อมาได้เพิ่มแนวทางความร่วมมือครอบคลุมทั้งด้านการเมืองและสังคม หวังคานอำนาจการเมืองระดับโลกกับกลุ่ม จี7 (G 7) ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร

การประชุมครั้งนี้ มีการกล่าวถึงประเด็นทางเศรษฐกิจเพียงคร่าว ๆ ว่า ได้บรรลุข้อตกลงที่จะร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะซบเซา ให้กลับสู่ภาวะปรกติโดยเร็ว และเตรียมจัดตั้งสำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจ (Rating Agency)

ส่วนวาระสำคัญของการหารือ คือมาตรการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย กลุ่มหัวรุนแรง และการก่อความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยระบุว่ากลุ่มเหล่านี้ เป็นภัยคุกคามสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาเศรษฐกิจโลก

นอกจากนั้นยังมองว่า ฝ่ายสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านการเงิน อาวุธ อุปกรณ์เครื่องใช้ และสถานที่ฝึก ก็ถือเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงไม่แตกต่างกัน

กลุ่มบริกส์มองว่า แก๊งอาชญากร แก๊งค้ายาเสพติด และแก๊งฟอกเงินจากธุรกิจนอกกฎหมาย คือแหล่งที่มาสำคัญของเงินกลุ่มก่อการร้าย

หน้าที่ของสมาชิกกลุ่มบริกส์ คือการร่วมมือกันติดตามและกำจัดแก๊งเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการปราบปรามการก่อการร้าย

ในบทสรุป กลุ่มบริกส์ยืนยันจะเพิ่มระดับความร่วมมือในเรื่องนี้ ทั้งระดับทวิภาคี และระดับนานาชาติ โดยจะดำเนินการตามเกณฑ์กฎหมายระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน

สำหรับสมาชิกกลุ่มบริกส์ ล้วนเป็นประเทศ “บิ๊ก” ทั้งขนาดพื้นที่ของประเทศ และจำนวนประชากร หากสามารถหาจุดรวมพลังกันได้อย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นกลุ่มประเทศที่ทรงอำนาจน่ายำเกรงไม่น้อยไปกว่ากลุ่ม จี7

อย่างไรก็ตาม ปฏิญญาของกลุ่มจากการประชุมครั้งนี้ มองภาพรวมแล้วยังเป็นภาคทฤษฎีแบบลอยๆ ที่คล้ายจะส่งผลถึงภาคปฏิบัติจริงค่อนข้างน้อย


You must be logged in to post a comment Login