วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ทางรถไฟญี่ปุ่น-อังกฤษ / โดย กองบรรณาธิการ

On October 18, 2016

คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

ญี่ปุ่นและรัสเซียเตรียมแผน “เมกะโปรเจกต์” ก่อสร้างทางรถไฟข้ามทวีปเชื่อมต่อจากญี่ปุ่นถึงอังกฤษ เป็นเส้นทาง “อเนกประสงค์” สายใหม่ คล้ายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ที่ทอดยาวจากจีนไปยุโรป และแอฟริกา ซึ่งจีนอยู่ระหว่างดำเนินการ

แผนของญี่ปุ่นและรัสเซีย เป็นโครงการขยายต่อเส้นทางรถไฟทรานส์-ไซบีเรีย (Trans-Siberian Railway) ของรัสเซีย ที่มีอยู่แล้ว โดยเส้นทางสายนี้ เป็นทางรถไฟยาวที่สุดในโลกในปัจจุบัน มีความยาว 9,289 กิโลเมตร จากกรุงมอสโกถึงวลาดิวอสต็อก เมืองท่าติดมหาสมุทรแปซิฟิกในภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย

ส่วนของเส้นทางที่เตรียมขยายต่อ เริ่มจากเมืองคาบารอฟค์ข้ามช่องแคบทาร์เทรีด้วยสะพานหรือไม่ก็อุโมงค์ลอดใต้ทะเลระยะทาง 7 กิโลเมตร สู่เกาะซาคาลิน

ทั้งนี้ เมืองคาบารอฟค์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของวลาดิวอสต็อก มีเส้นทางเชื่อมกับวลาดิวอสต็อกอยู่แล้ว

จากนั้น ก็ก่อสร้างเส้นทางต่อจากช่องแคบทาร์เทรีวกลงใต้สุดของเกาะซาคาลิน ก่อนข้ามช่องแคบลาเปรุส (โซยะ) ด้วยสะพานหรือไม่ก็อุโมงค์ลอดใต้ทะเลระยะทาง 42 กิโลเมตร สู่เกาะฮอกไกโด ทางตอนเหนือสุดของญี่ปุ่น

ส่วนเส้นทางอีกด้านไม่มีจุดที่ต้องก่อสร้าง เนื่องจากมีเส้นทางเชื่อมต่ออยู่แล้ว จากกรุงมอสโกเข้าประเทศเบลารุส โปแลนด์ เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส และข้ามช่องแคบที่ฝรั่งเศสสู่อังกฤษ

โครงการนี้ รัสเซียเป็นฝ่ายเสนอญี่ปุ่นตามแผนเพิ่มความร่วมมือทางการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างกัน

รัสเซียมองว่า หากเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์สายใหม่แห่งนี้เกิดขึ้น ไม่เพียงเป็นช่องทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ แต่จะเป็นเส้นทางเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในญี่ปุ่นและรัสเซีย อีกทั้งจะเป็นเส้นทางติดต่อสัมพันธ์ของประชาชนนานาชาติด้วย

ทางญี่ปุ่น ทั้งภาครัฐและเอกชน แสดงความสนใจโครงการนี้ โดยผู้นำญี่ปุ่นได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับกระทรวง ทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้อย่างจริงจัง ขณะบริษัทรายใหญ่ญี่ปุ่นหลายค่ายก็มีแผนร่วมมือกับรัฐบาล

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย มีกำหนดเยือนญี่ปุ่นเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าโครงการนี้จะเป็นประเด็นสำคัญหนึ่ง ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะหารือกันเพื่อหาข้อสรุปถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน

แม้โครงการนี้จะไม่เกี่ยวโยงกับประเทศไทยโดยตรง แต่เป็นความเคลื่อนไหวน่าสนใจในแง่ความพยายามเพิ่มเส้นทางติดต่อสัมพันธ์ของประชาคมโลก

เป็นเส้นทางที่จะเปิดมิติใหม่ทั้งด้านการค้า และการท่องเที่ยวของโลก


You must be logged in to post a comment Login