วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คนดี..ติดคอ / โดย ทีมข่าวการเมือง

On October 17, 2016

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“สิ่งที่ยากมากคือระบบอุปถัมภ์ ผมคิดไม่ออกว่าจะแก้อย่างไร หากบอกว่าคนไทยช่วยเหลือคนผิด มันก็จริง แต่เขาก็ต้องตอบแทนบุญคุณ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูก มันจึงเป็นเรื่องยาก แต่ผมคิดว่านี่คือปัญหาใหญ่ที่เราต้องมาช่วยกันคิดว่า เขาต้องแยกให้ออกว่าอะไรควรจะอุปถัมภ์ได้หรือไม่ได้”

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวตอนหนึ่งในโครงการสัมมนาเชิงวิชาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในหัวข้อ “คอร์รัปชัน…หายนะประเทศไทย” (7 ตุลาคม) ทั้งระบุว่าคำว่า “คอร์รัปชัน” ซึ่งทางการนิยมแปลความหมายว่า “การโกงชาติ” นั้น ตนจะแปลเป็น “การปล้นชาติ” เพราะทำให้ชาติประสบหายนะ ที่ผ่านมาเคยเสนอว่าต้องเริ่มต้นจากเด็กและเราต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่าง แต่ไม่มีมาตรวัดความขี้โกง ไม่มีมาตรวัดความร่วมมือ แต่มีข้อมูลตัวเลขความรู้จักละอายของคนในชาติลดลงหรือมากขึ้น ที่ผ่านมามีความร่วมมือดีขึ้น เหมือนเดิม หรือลดลง เรื่องนี้คือปัญหาที่ยากมาก จึงต้องช่วยกันคิดวิธีแก้ปัญหาว่ามีวิธีใดบ้างที่จะสร้างแรงจูงใจให้คนเลิกคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ ไม่ได้มาปล้นตนเอง อยู่แบบนี้ก็สบายดี จะไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนทำไม คือคนนิ่งเฉยต่อการโกง คือปัญหาใหญ่ของการปราบคอร์รัปชัน

รากเหง้า “ระบบอุปถัมภ์”

ปัญหาคอร์รัปชันที่ พล.อ.เปรมระบุถึงระบบอุปถัมภ์สอดคล้องอย่างยิ่งกับคำถามที่ประชาชนจำนวนมากมีต่อรัฐบาลทหารขณะนี้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา และครอบครัว เรื่องการเดินทางไปฮาวายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือเรื่องการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพอีกหลายเรื่องทั้งที่ตรวจสอบแล้วและยังถูกแช่แข็ง

แม้บางเรื่ององค์กรตรวจสอบจะระบุว่าไม่ผิด แต่ประชาชนกลับไม่เชื่อ เพราะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่แค่ข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของจริยธรรมและธรรมาภิบาล รวมถึงระบบอุปถัมภ์ที่เป็นรากเหง้าที่ฝังลึกในสังคมไทยมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ กองทัพ หรือภาคเอกชน ซึ่งทุกฝ่ายตระหนักดีถึงหายนะของระบบอุปถัมภ์ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่แค่เรื่องจริยธรรมและธรรมาภิบาล แต่ยังนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันที่ทำให้คนทั่วไปเห็นเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ซึ่งเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งของสังคมไทย

กรณีลูกชาย พล.อ.ปรีชา ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับราชการด้วยตำแหน่งของ พล.อ.ปรีชา การตั้งบริษัทรับเหมาในที่ตั้งของกองทัพ การประมูลงานต่างๆภายในกองทัพ หรือกรณีภริยา พล.อ.ปรีชาใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศเดินทางไปเปิดฝาย หรือกรณี พล.อ.ประวิตรไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับสหรัฐที่ฮาวายกับคณะ 38 รายชื่อ ใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท เช่าเครื่องบินโบอิ้ง 747-400 ที่รับผู้โดยสารได้ถึง 416 คน

ส่วนกรณีที่มีข่าวพาดพิง พ.ต.หญิง ชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ซึ่งมีชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น บริษัท งาทวีสุข จำกัด และบริษัท สื่อสายรุ้ง จำกัด เข้าไปรับงานประชาสัมพันธ์และงานโฆษณาต่างๆจากภาครัฐ โดยที่ระเบียบกระทรวงกลาโหมปี 2551 และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปี 2519 ห้ามข้าราชการทหารมีผลประโยชน์ทับซ้อน และคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ 38/2519 ห้ามข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร เป็นกรรมการบริษัทเพื่อเอาชื่อไปแสวงหาผลประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อม แต่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. และโฆษกกองทัพบก ได้ชี้แจงว่า พ.ต.หญิงชลรัศมีไม่เข้าข่ายขัดคำสั่งดังกล่าว เพราะธุรกิจได้เปิดดำเนินงานมานานแล้ว และไม่ใช่แค่รับงานในรัฐบาลชุดนี้ แต่รับงานมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนๆแล้ว

“กรณีนี้ไม่ได้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ ต้องเข้าใจก่อนว่าตามหลักข้อเท็จจริงแล้วการเปิดบริษัทสามารถทำได้ และถ้าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพ เมื่อเข้ามารับงานภาครัฐ รัฐก็ได้ประโยชน์สูง อาจจะสูงกว่าบริษัทที่เป็นนักธุรกิจซึ่งหวังทำกำไรเพียงอย่างเดียวด้วยซ้ำ” พ.อ.วินธัยกล่าว

นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คกรณี พ.อ.วินธัยชี้แจงว่า พ.ต.หญิงชลรัศมีไม่มีการดำเนินการที่ส่อขัดผลประโยชน์ทับซ้อนว่า รับราชการทหารกองทัพบก เปิดบริษัทรับงานกับกองทัพบก เข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยประมวลจริยธรรม พ.ศ. 2551 เป็นการยึดเอาผลประโยชน์ของตนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน

การชี้แจงของรัฐบาลและ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับคนในกองทัพที่ไม่ต่างจากผลการตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบที่ออกมายิ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่า การปราบโกงของ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. เป็นการเลือกปราบ เลือกปฏิบัติเฉพาะฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งรัฐบาล คสช. ต้องตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาเพื่อเป็นการยืนยันว่ารัฐบาล คสช. มีความจริงใจต่อนโยบายปราบโกง หากไม่กล้าตรวจสอบก็เท่ากับรัฐบาล คสช. ไม่ได้ดีไปกว่ารัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา

คนตรวจสอบกลับถูกตรวจสอบ

การสั่งย้ายด่วนนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ซึ่งโพสต์ข้อความปกป้องนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายศรีสุวรรณ จรรยา ที่ร้องเรียนให้มีการสอบสวนกรณี พล.อ.ปรีชาและครอบครัวและหลายเรื่องของรัฐบาลจน พล.อ.ประยุทธ์แสดงความไม่พอใจก็เป็นอีกเรื่องที่สังคมคาใจ เพราะมีข้อความเรื่องของ “คนดี” และกล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ว่า

“ท่านเป็นนายกต้องระมัดระวัง คิดได้ แต่อย่าคิดดัง เพราะสิ่งที่ทำคือเกียรติภูมิของประเทศนะครับ ไม่ได้สอนนะ แต่ผมว่าท่านไม่เข้าใจหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อย ไม่เชื่อลองถามอาจารย์วิษณุก็ได้ว่าพูดถูกหรือเปล่า แต่ต้องขอให้อาจารย์ตอบแบบ “ครูกฎหมาย” นะครับ อย่าตอบแบบ “เนติบริกร” นะครับ”

ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด ให้เหตุผลคำสั่งย้ายนายปรเมศวร์ว่า เป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งของการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้นเอง ไม่มีกระแสกดดันให้ย้ายนายปรเมศวร์จากผู้มีอำนาจแต่อย่างใด แต่ก็ยอมรับว่ามาจากการโพสต์ปกป้องนายเรืองไกรและนายศรีสุวรรณที่มีเนื้อหาพาดพิงไปถึงผู้อื่น จึงทำให้ต้องมีการตรวจสอบ

ขณะที่นายปรเมศวร์ได้โพสต์เฟซบุ๊ค (7 ตุลาคม) หลังถูกสั่งย้ายว่า “นี่ไม่ใช่แถลงข่าว นี่ไม่ใช่เรื่องคดี แต่นี่คือสิ่งที่จะบอก “เพื่อนๆในเฟซ” ในภาพที่เห็นเป็นส่วนหนึ่งของกำลังใจที่หลั่งไหลไม่ขาดสาย ไม่นับในเฟซ ไม่นับโทรศัพท์ ไม่นับจดหมาย ทั้งเพื่อนพ้อง พี่น้องอัยการ ตุลาการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ อธิการบดีและคณบดีหลายสถาบัน ลูกศิษย์ลูกหา แฟนรายการวิทยุ สวพ. 91 และ อสมท 107.75 แฟนทีวี TNN 24. สถานีประชาชน Thailand PBS และที่สำคัญอดีตอัยการสูงสุดหลายท่านที่เป็นห่วงใยผม ซึ่งหลายท่านผมไม่เคยรู้จักมาก่อน

ผมขอเรียนว่า ผมไม่เป็นไรครับ พร้อมทำงานเสมอ ที่ไหนก็ได้ครับ เราเป็นนักกฎหมาย เราเป็นทนายแผ่นดิน เราเป็นอัยการของประชาชนและเป็นครูกฎหมาย เราท้อไม่ได้ เราหมดกำลังใจไม่ได้ ยังมีประชาชนอีกหลายคนขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากผมอยู่ ศัตรูของเราคือความไม่ถูกต้อง ความไม่ชอบธรรม และความไม่ยุติธรรม ผมสัญญากับทุกท่านว่า ผมจะไม่ทรยศต่ออุดมการณ์และประชาชนครับ สองสามวันนี้มีความสุขมากครับ และภาคภูมิใจในการเป็น “อัยการ” เป็นที่สุดครับ ขอขอบคุณทุกท่านครับ”

สตง. รีบแถลงไม่พบส่อทุจริต

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงผลการตรวจสอบเบื้องต้น (7 ตุลาคม) กรณีค่าใช้จ่าย 20.9 ล้านบาทที่ พล.อ.ประวิตรพร้อมคณะเช่าเครื่องบินเหมาลำของการบินไทยไปประชุมที่ฮาวายว่า ไม่พบประเด็นการทุจริต ทั้งเปรียบเทียบกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่เดินทางไปต่างประเทศแบบวีไอพีโดยเช่าเครื่องบินเหมาลำ ซึ่งสะดวกและราคาไม่แตกต่างกันมาก ค่าใช้จ่ายประมาณ 500,000-600,000 บาทต่อคน หากคูณผู้โดยสาร 38 คน ก็อยู่ที่ 19 ล้านบาท ซึ่งคณะนายกรัฐมนตรี 33 คน เหมาเครื่องบินรุ่นนี้ไปเมืองมิลานใช้งบ 16 ล้านบาท เมื่อคำนวณตัวเลขจากต้นทุน ค่าโสหุ้ย และกำไร สรุปร้อยละ 20 ก็ถือว่าปรกติและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ เรียกว่ากระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา ไม่มีการทุจริตหรือเสียหาย

ส่วนเรื่องความเหมาะสมนั้นจะเสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจสอบในรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ดูว่าการทำงานของ สตง. สรุปรวดเร็วเกินไป ซึ่งตนสามารถวินิจฉัยได้ แต่จะโดนครหา ถ้าสรุปว่าไม่มีอะไรก็จะว่ามาเร็วเคลมเร็ว ถ้าสรุปอีกแบบก็บอกว่าสะใจตน จึงอยากให้ คตง. มีข้อสรุปตอบต่อสังคมให้ชัดเจน และต้องรอการบินไทยวางบิลใบสุดท้ายด้วย

ย้อนคำถาม “ค่านิยม 12 ประการ”

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน (11 ตุลาคม) ขอให้ตรวจสอบด้านจริยธรรมของ พล.อ.ประวิตรในความผิดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2551 และการไม่เป็นแบบอย่างที่ดี ขัดต่อค่านิยมหลัก 12 ประการของหัวหน้า คสช. ที่มีนโยบายเน้นความประหยัดมัธยัสถ์ ให้ปฏิบัติตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง การใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาทไม่เหมาะสม ทั้งยังใช้วิธีการพิเศษโดยไม่มีเหตุต้องใช้ รวมถึงมีเอกชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นในยุคที่กำลังจะปฏิรูปประเทศ

นายศรีสุวรรณยังกล่าวถึงการตรวจสอบของ สตง. ที่บอกว่าไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นปัญหา ไม่พบความผิดปรกติ แต่ตนยังคลางแคลงใจ สตง. น่าจะทำหน้าที่ได้มากกว่านี้ ใช้ระยะเวลามากกว่านี้ เพราะขนาดการบินไทยกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยังบอกว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือนจึงจะทราบบุคคลที่ร่วมเดินทาง ดังนั้น สิ่งที่ สตง. ออกมายืนยันส่อพิรุธ ตนอาจจะมาร้องผู้ตรวจการว่า สตง. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบได้ แต่ทั้งนี้ต้องรอให้ สตง. แจ้งผลการตรวจสอบที่ชัดเจนมาก่อน

คสช. ลิ้นจุกปาก

ขณะที่ “ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์ชื่อดัง โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Atukkit Sawangsuk ว่า “พลิกฝาพามันส์” ที่จริงลิ้นจุกปาก แขวนคอตัวเองไปแล้วกับการให้เหตุผลข้างๆคูๆแบบ 38 คน คูณ 5-6 แสนบาท ก็ 20 ล้านพอดี ทั้งที่ร่วม 30 คนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับรองๆ ถ้าไปเครื่องปรกติก็นั่งชั้นธุรกิจ ชั้นประหยัด หรืออ้างว่ารัฐมนตรีไปประชุมต้องลงจากเครื่องการบินไทย ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปนิวยอร์กก็ลงเครื่องลุฟท์ฮันซ่า

นี่ถ้าเป็น อบต.หนองอีแหนบเช่ารถบัสวีไอพีไปสัมมนาพัทยา ระหว่างทางเลี้ยงหูฉลาม สตง. คงเรียกเงินคืนหูตูบ ใช่ครับ ประเด็นคือไม่มีการทุจริต แต่เป็นเรื่องความเหมาะสม เหมือน ป.ป.ช. ตีตกปรีชาบรรจุลูกตัวเอง “ใครๆก็ทำกัน” ไม่ผิดกฎหมาย ระเบียบ แต่เหมาะสมไหมก็รู้แก่ใจ

ปัญหาคือที่ผ่านมา สตง. ป.ป.ช. องค์กรอิสระ ศาล เอาตัวเองเข้าไปตัดสินความเหมาะสมของนักการเมือง ชี้ถูกชี้ผิด 157 มั่ง เรียกเงินคืนมั่ง แต่ไม่กล้าตัดสินความเหมาะสมของ คสช. นั่นต่างหากลิ้นจุกปาก

สอดคล้องกับนายนพดล หลาวทอง ทนายความของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เรียกร้องให้ใช้วิธีฟ้องคดีโครงการรับจำนำข้าวต่อศาลแพ่งตามกระบวนการยุติธรรมที่มีทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเหมือนกรณีนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติที่ถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งกรณีปกป้องค่าเงินบาทเมื่อปี 2544 ให้รับผิดเป็นจำนวนเงินสูงถึง 180,000 ล้านบาท และศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้อง ไม่ใช่ออกคำสั่งมาตรา 44 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งยังเจาะจงใช้เฉพาะอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ให้กรมบังคับคดียึด อายัดทรัพย์ ขายทอดตลาด โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ไม่ปฏิบัติเหมือนเช่นบุคคลอื่นๆทั่วไป ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และละเมิดต่อกฎบัตรระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

เผด็จการผสมหลงจู๊

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ (10 ตุลาคม) ก่อนจะถูกศาลพิจารณาสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว (11 ตุลาคม) จนสิ้นอิสรภาพถูกจองจำในเรือนจำอีกครั้งว่า รัฐบาลทหารประกาศจะสร้างประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่กลับใช้อำนาจแบบเผด็จการหลงจู๊ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นผู้มีอำนาจ ขณะที่ด้านความมั่งคั่งก็ล้มเหลวสิ้นเชิง แม้จะมีโพลเชียร์รัฐบาลทุกครั้ง ด้านเศรษฐกิจก็ต้องแก้ไข ซึ่งการใช้อำนาจพิเศษเป็นเครื่องมือบังคับ ล้วงลูก แทรกแซงหน่วยงานต่างๆให้ทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจ เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของแต่ละองค์กรให้ยับเยินที่สุด

นายจตุพรกล่าวว่า แม้รัฐบาลมุ่งปราบปรามการทุจริต แต่กลับใช้องค์กรตรวจสอบ ปราบปรามอย่างสิ้นเปลือง โดยไม่ใส่ใจความรู้สึกของประชาชนที่คลางแคลงใจการทำหน้าที่ไม่เสมอภาคกันทุกฝ่าย เพราะมุ่งเน้นให้องค์กรหรือหน่วยงานไปจัดการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม แล้วเพิกเฉยไม่ตรวจสอบฝ่ายของตัวเอง จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อข้าราชการคนใดแสดงความเห็นไม่ถูกใจผู้มีอำนาจต้องมีอันเป็นไปอย่างรวดเร็ว กรณีล้วงลูก แทรกแซง เล่นงานรองอธิบดีอัยการสูงสุด หรือผู้ว่าราชการจังหวัดจนต้องเขียนกลอนศรีปราชญ์ระบายความในใจ

“การใช้อำนาจล้วงลูกเป็นเสมือนการพยายามสร้างรัฐที่แตะต้องไม่ได้ สร้างรัฐให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งที่ไม่ใช่ การแก้ไขปัญหาชาติก็คิดแต่เข้าข้างตัวเอง ผู้มีอำนาจใช้อำนาจพิเศษล้วงลูก แทรกแซง เพื่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นจนไม่กล้าแสดงออก ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่เปิดกว้าง เพราะการเปิดกว้างจะทำให้เกิดการค้นหาความจริงจนประชาชนรับรู้และยอมรับอย่างมีเหตุผล ย่อมทำให้บรรยากาศสังคมและการเมืองน่าเชื่อถือ”

นายจตุพรยังกล่าวว่า การจะมีอำนาจต้องคิดถึงชาติบ้านเมืองให้ยิ่งใหญ่กว่าการใช้อำนาจ และประเทศต้องใหญ่กว่าครอบครัวของตัวเอง สัจธรรมการใช้อำนาจต้องคิดถึงวันที่ไม่มีอำนาจด้วย เพราะการแทรกแซง ล้วงลูกทุกองค์กรของรัฐนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย นอกจากเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือให้ยับเยินเท่านั้น

ตั้งทหารเป็น สนช. เพียบ

เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและระบบอุปถัมภ์กลายเป็นปัญหาที่สังคมจับจ้องรัฐบาล คสช. ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะคนใกล้ตัว ซึ่งที่ผ่านมามีการกล่าวหาและประณามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้รัฐบาลจากการรัฐประหารที่ประกาศว่าเป็นคนดีกำลังถูกตั้งคำถามมากมายกลับแสดงความไม่พอใจและเกรี้ยวกราดสื่อและประชาชนที่ตั้งคำถาม ทั้งยังท้าว่าหากสงสัยก็ให้ไปฟ้องเอง ขณะที่องค์กรตรวจสอบก็ออกอาการอิหลักอิเหลื่อหรือโยกโย้โยนเผือกร้อนกันไปมา จนเหมือนการ “ลูบหน้าปะจมูก” เพราะแต่ละเรื่องล้วนแต่เป็นคนใกล้ตัวผู้มีอำนาจ ซึ่งแตกต่างสิ้นเชิงกับการไล่บี้ไล่เชือดเอาผิดนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย

แม้แต่การแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใหม่จำนวน 33 คน ก็ปรากฏว่ามีทหารถึง 26 คน ตำรวจ 2 คน พลเรือนเพียง 5 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารเกษียณอายุ จนนายวิรัตน์ กัลยาศิริ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สนช. เดิมก็มีทหารอยู่เป็นจำนวนมาก และทำหน้าที่ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ฝ่ายนิติบัญญัติควรประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพให้เหมาะสมกับงาน เมื่อมีทหารเข้ามามากคงไม่น่าจะช่วยอะไรได้มากในการพิจารณากฎหมาย หรือการแต่งตั้งครั้งนี้จะเป็นการตอบแทนอะไรกันหรือไม่ เพราะดูแล้วไม่ได้ใช้คนให้เหมาะสมกับงาน

พล.อ.ประวิตรชี้แจงการตั้ง สนช. ที่ส่วนใหญ่เป็นทหารว่า เพื่อพยายามผลักดันกฎหมายในส่วนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่างๆ ซึ่งทุกคนมีความรู้ความสามารถทั้งนั้น ถ้าเอาใครก็ไม่รู้เข้ามาเป็น สนช. ก็จะตีกันวุ่นวายไปหมด จึงต้องเอาคนที่มีประสบการณ์และรู้จักเข้ามาเป็น สนช. โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นการตอบแทนใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่เอาคนที่อยู่ใกล้ๆกรุงเทพฯหรืออยู่ในเขตปริมณฑลสามารถเข้ามาประชุมได้ ไม่ใช่ตั้งคนที่ไม่เข้าประชุมแล้วยังติดราชการ

คนดี..ติดคอ

แม้รัฐบาลทหารจะถูกตั้งคำถามด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาลมากมาย รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีโพลอย่างเช่นซูเปอร์โพลที่ออกมาอ้างผลสำรวจของประชาชนว่าคะแนนนิยมรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์สูงลิ่ว ทั้งเก่งและดีแทบทุกด้าน ทั้งที่สวนกับความรู้สึกของประชาชน

โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการปราบโกงที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาล แต่กลับแสดงอารมณ์ไม่พอใจและควบคุมอารมณ์ไม่อยู่เกือบทุกครั้งที่ถูกถามปัญหาของคนใกล้ตัว

ขณะที่เนติบริกรหรือองค์กรตรวจสอบก็ถูกมองว่าพยายามช่วยประคองหรือหาช่องบิดเบือนในเชิงกฎหมายให้กับการกระทำผิดต่างๆ แม้จะไม่เหมาะสมทั้งด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาลก็ดันทุรังให้ไม่ผิด จนขัดกับความรู้สึกของประชาชนและเกิดกระแสสังคมเสียดสีมากมายในโซเซียลมีเดีย

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์สุจริตและทุ่มเทการทำงาน แต่ถ้าคนรอบข้าง คนใกล้ตัวมีปัญหา และไม่แสดงให้เห็นการใช้อำนาจอย่างโปร่งใสและเด็ดขาด ก็ถือว่ารู้เห็นหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะเช่นกัน

ยิ่งอำนาจที่ได้มาจากการยึดอำนาจก็ยิ่งถูกจับตามองว่าจะลงเอยเหมือนรัฐประหารที่ผ่านมา นอกจากไม่ได้แก้ปัญหาใดๆแล้ว ยังทำให้ประเทศชาติยิ่งถอยหลังและมีปัญหา ทั้งที่ประกาศเข้ามาแก้ปัญหาประเทศ ประณามนักการเมืองเลวและโกงสารพัด แต่กลับไม่มองไม่ส่องดูตัวเองและคนใกล้ตัวว่าเป็นคนดีนั้นดีจริงหรือไม่

อย่างที่บทความดาร์กไซด์ (Dark Side) คำว่า “คนดี” ของนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สอนลูกเรื่องคนดีกับการบริหารประเทศ ซึ่งลูกถามว่า “คุณครูสังคมถามก่อนปิดเทอมว่า ระหว่าง “คนดีที่บริหารประเทศไม่ค่อยเป็น” กับ “คนโกงที่มีผลงาน” เราจะเลือกใคร?”

นายเดชรัตน์ตอบว่า เราไม่เลือกคนโกงแน่ แต่ “อย่าคิดว่าตนเองเป็นคนดี” หรืออยากจะเป็นคนดีโดยเด็ดขาด เพราะคำว่า “คนดี” มีอันตรายอย่างยิ่ง 2 ประการ ทั้งสำหรับตัวเราเองและคนอื่น

ประการแรก เมื่อไรก็ตามที่เราเผลอคิดว่า “เราเป็นคนดี” เรามักจะมีอคติลำเอียงเข้าข้างความคิดของตัวเราเอง เราจะคิดว่าความคิดของเรานั่นดี นั่นถูก แล้วเราจะฟังคนอื่นน้อยลง เพราะแทนที่เราจะคิดว่านั่นเป็นความคิดของเราเฉยๆ เรากลับเผลอคิดว่านั่นเป็นความคิดของ “คนดี” มันจึงน่าจะถูกต้องกว่าความคิดของคนทั่วๆไป

ประการที่สอง คำว่า “คนดี” มักนำไปสู่การมี “อภิสิทธิ์” เหนือคนอื่นๆ โดยตัดคำว่า “คนดี” ออกจากประโยคที่ว่า “คนดีที่บริหารประเทศไม่ค่อยเป็น” จะเหลือแค่คำว่า “คนที่บริหารประเทศไม่ค่อยเป็น” เฉยๆ ซึ่งแย่ไม่แพ้กัน แต่มันดูดีขึ้นเลยเมื่อเติมคำว่า “คนดี” เข้ามา

แล้วคนดี “จริงๆ” ที่พบว่าตัวเขาเองบริหารประเทศไม่เป็น เขาควรลาออกแล้วให้คนอื่นบริหารประเทศแทน คำว่า “คนดีที่บริหารประเทศไม่เป็น” จึงไม่มีอยู่จริง เพราะถ้าดีจริงจะไม่อยู่สร้างภาระให้กับประเทศ และสรุปว่า “อย่าได้เผลอคิดว่าตนเองเป็นคนดีหรืออยากเป็นคนดีเป็นอันขาด” เพราะคุณประโยชน์อันแท้จริงอยู่ที่คำว่า “ความดี” ไม่ใช่ “คนดี”

“คนดี” ในความหมายของอาจารย์เดชรัตน์จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายทัศนคติของคนไทยต่อคำว่า “คนดี” เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคำถามที่ถามถึง พล.อ.ประยุทธ์ผู้ที่มีอำนาจพิเศษคับแผ่นดินและประกาศจะคืนความสุขให้ประเทศไทยว่า ระหว่าง “คนดี” และ “ความดี” นั้น เราควรยึดถืออะไรกันแน่?

ยังมีคำถามและข้อสงสัยถึงกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านองค์กรอิสระต่างๆในวันนี้ว่า แท้จริงแล้วมีความเป็นกลาง มีความยุติธรรม หรือเลือกปฏิบัติกันแน่

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ บรรดากองเชียร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ที่ออกมา “ส่องไฟไล่โกง” หรือ “เป่านกหวีดไล่คนโกง” ว่าแท้จริงแล้วท่าน “เกลียดคนโกง” หรือ “เกลียดคนฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง”

เมื่อสิ่งที่อุบัติในวันนี้คือคณะที่ท่านลากเขาออกมายึดอำนาจได้แสดงอิทธิฤทธิ์และอภินิหารด้วยการอ้างความดีและสถาปนาตนว่าเป็น “คนดี” เหนือใคร แต่กลับเกิดข้อครหาและมีข้อน่าสงสัยมากมายเกิดขึ้นว่า “ดีจริงหรือไม่?” ทำไมไม่กล้าให้ตรวจสอบ?

ท่าน “มีอะไรติดคอ” จนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือเจอแต่ความหอมหวานจากคนดีแต่ลมปากจน “สำลักความดี” และหลงลืมไปแล้วว่าแท้จริงแล้วอะไรคือ “สิ่งผิดชอบชั่วดี” ที่เราควรสำนึกและละอายต่อบาปกันแน่?


You must be logged in to post a comment Login