วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

การปรับตัวศาสนาในโลกสมัยใหม่ / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On October 17, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

เห็นข่าวว่าสถิติคนนับถือพุทธศาสนาโดยภาพรวมในโลกลดลง วิเคราะห์กันว่าเพราะพระขาดความรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการเผยแผ่พุทธศาสนาเท่าที่ควร จึงมีการเสนอให้พระควรเรียนรู้การใช้สื่ออินเทอร์เน็ตในการเผยแผ่พุทธศาสนาและเผยแผ่เชิงรุกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่บ่งบอกว่าคนนับถือศาสนาอะไรมากอะไรน้อยไม่สามารถใช้วัดในเชิง “คุณภาพ” ได้ว่าจำนวนคนที่นับถือศาสนาตามสถิติตัวเลขนั้นๆเป็นเพียงนับถือศาสนาตามทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน หรือนับถือศาสนาอย่างมีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาคำสอนของศาสนาและนำมาปฏิบัติในการดำเนินชีวิตจริงๆ

อีกอย่างเวลาพูดเรื่อง “การเผยแผ่ศาสนาในเชิงรุก” ในบริบทโลกสมัยใหม่ ย่อมเกิดคำถามว่าควรเผยแผ่ศาสนารุกเข้าไปในพื้นที่แบบไหนได้บ้าง

เพราะบรรทัดฐานของสังคมสมัยใหม่ถือว่าต้องแยกศาสนาจากรัฐ การเมือง และพื้นที่สาธารณะ (public sphere) เรื่องการปกครอง แนวนโยบายแห่งรัฐ และการอภิปรายถกเถียงในเรื่องสาธารณะต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องยึด “หลักการสากล” ที่ใช้ได้กับคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาอย่างเสมอภาคกัน

ฉะนั้นจึงอ้างศาสนาที่เป็นความเชื่อส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมาเกี่ยวข้องกับการเมือง แนวนโยบายแห่งรัฐ และการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะต่างๆ ที่จะนำไปสู่การออกกฎหมายไม่ได้

แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน ศาสนารุกเข้าไปในพื้นที่ของรัฐ การเมือง และพื้นที่สาธารณะ จนสับสนไปหมด เช่น ศาสนาถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ความมั่นคง องค์กรศาสนาเป็นองค์กรของรัฐ มีหน้าที่เป็นกลไกตอบสนองนโยบายรัฐ ศาสนาถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้เป็นศาสนาที่รัฐต้องอุปถัมภ์คุ้มครองและส่งเสริมการเผยแผ่

นอกจากนี้ศาสนายังรุกเข้าไปในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เช่น ในพิธีการของรัฐ หน่วยงานราชการต่างๆ ในโรงเรียน โดยหลักสูตรการศึกษาของชาติบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน ฯลฯ

คำถามคือ เมื่อศาสนาในสังคมไทยรุกเข้าไปในทุกพื้นที่เช่นนี้ ทำไมจึงมีความกังวลว่าคนจะนับถือพุทธศาสนาน้อยลง หรือยังคิดว่าต้องเผยแผ่ศาสนาในเชิงรุกมากขึ้นอีก

มีคนรุ่นใหม่เลือกที่จะไม่นับถือศาสนามากขึ้น เหตุผลหนึ่งของพวกเขาคือ การบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนเป็นการไม่เคารพเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะเลือกเรียนรู้ศาสนาอย่างอิสระ และเนื้อหาวิชาศาสนาก็น่าเบื่อ ไม่มีประโยชน์ต่อการส่งเสริมศีลธรรมในโลกสมัยใหม่ เพราะศีลธรรมแบบศาสนาไม่ได้สร้างสำนึกเคารพ ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของมนุษย์

ศีลธรรมแบบศาสนามุ่งเน้นการทำความดีเพื่อความสุขส่วนตัว เช่น ศาสนาสอนว่าเมื่อนำศีลธรรมไปปฏิบัติแล้ว ชีวิตก็จะมีความสุขความเจริญ ตายไปก็ได้ขึ้นสวรรค์ กระทั่งหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งไม่เกี่ยวใดๆกับสำนึกทางสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐจึงไม่ควรบังคับเรียนศาสนา ปล่อยให้ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวของประชาชนที่จะเลือกเรียนรู้เอง

ฉะนั้นปัญหาจริงๆไม่ใช่อยู่ที่ประเด็นว่าไม่เผยแผ่ศาสนาในเชิงรุก แต่อยู่ที่ศาสนารุกเข้าไปในพื้นที่ของรัฐ การเมือง หรือรุกเข้าไปในพื้นที่สาธารณะมากเกินไป

หากพิจารณาเจตนารมณ์ของพุทธะ การเรียนรู้ธรรมะหรือศีลธรรมพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องที่ควรบังคับยัดเยียด หากเป็นเรื่องที่ควรปล่อยให้เป็นอิสระที่ปัจเจกแต่ละคนจะเลือกเรียนรู้ตามศรัทธาของตนเอง คนที่เรียนรู้ศาสนาอย่างอิสระตามศรัทธาของตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นศาสนิกที่มีคุณภาพและมีศีลธรรมแบบศาสนาในการดำเนินชีวิตประจำวันได้จริง

ศีลธรรมและพิธีกรรมศาสนาที่บังคับยัดเยียดในโรงเรียนได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ เช่น โรงเรียนบางแห่งออกกฎให้นักเรียนต้องแต่งชุดขาวไปโรงเรียนทุกวันพระ ทำให้วันพระซึ่งควรเป็นเรื่องของพระกลายเป็น “สัญญะเชิงอำนาจ” ที่ใช้บังคับเด็กๆว่าต้องแต่งกายแบบไหน วิธีการเช่นนี้ไม่น่าจะช่วยสร้างทัศนคติที่ดีต่อศาสนาได้

การบังคับยัดเยียดให้เรียนศีลธรรมศาสนาในโรงเรียน นอกจากจะไม่ได้ช่วยสร้าง “ศีลธรรมเชิงสังคม” ที่ยึดโยงอยู่กับสำนึกเคารพปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแล้ว ยังขัดกับแนวทางของพุทธะเองที่ถือว่าเรื่องเรียนรู้ศาสนาจะบังคับกันไม่ได้ และขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาในสังคมสมัยใหม่อีกด้วย

เท่ากับว่านอกจากจะไม่ทำตามเจตนารมณ์ของพุทธะแล้ว ยังสะท้อนว่าศาสนาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่อีกด้วย

พูดอย่างถึงที่สุด ปัญหาคนนับถือพุทธศาสนาน้อยลงไม่ได้เกิดจากพระไม่เผยแผ่เชิงรุก แต่เกิดจากการไม่ตั้งคำถามว่าศาสนาในโลกสมัยใหม่ควรจัดวางตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของตัวเองอย่างไร

ถ้าไม่รู้ว่าตนเองควรจะยืนอยู่ตรงไหนและมีบทบาทอย่างไรในโลกสมัยใหม่ ศาสนาเองนั่นแหละจะกลายเป็นปัญหา เป็นภาระของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ


You must be logged in to post a comment Login