- กลืนเลือดไม่ให้เสียใจPosted 2 days ago
- ระลึกถึงพ่อหลวง ร.9Posted 2 days ago
- 5 ธ.ค.วัดสวนแก้วแตกแน่Posted 3 days ago
- จะกลับมาแบบไหนPosted 4 days ago
- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 4 days ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 4 days ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 4 days ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 4 days ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 5 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 1 week ago
‘ชีวิต-ศีลธรรม’ โลกแห่งความจริง? / โดย เรืองยศ จันทรคีรี
คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี
ต้องขอยอมรับว่าตั้งแต่เขียนบทความมาหลายตอน ตอนนี้เป็นตอนที่เขียนยากมาก เพราะเป็นสมการหลายชั้นและเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ผมก็พยายามที่จะให้ลงตัวในบทความสั้นๆชิ้นนี้ชิ้นเดียว
ก่อนอื่นคงต้องขอย้อนถึงทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่กล่าวถึงเรื่องโครงสร้างชั้นบน อันเป็นเรื่องการครอบงำโครงสร้างทางวัฒนธรรมและความคิดต่อโครงสร้างชั้นล่างที่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ
เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้แล้วคงต้องยกเอาความเห็นของอันโตนิโอ กรัมชี เรื่องการครองอำนาจนำของกลุ่มประวัติศาสตร์ (Historical block) ซึ่งต้องทำสงครามขับเคลื่อนทางความคิดเพื่อครอบครองฐานของมวลชนเอาไว้
นอกจากนั้นแล้วยังต้องกล่าวถึงแนวความคิดของโรล็องด์ บาร์ตส์ เรื่องของมายาคติ ซึ่งมีความหมายว่า “สิ่งต่างๆนั้นไม่ได้เกิดจากการถูกครอบงำอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากการครอบงำจิตใต้สำนึกของมนุษย์เอง” หรืออาจจะกล่าวได้ว่า “สิ่งต่างๆมี 2 ความหมายคือ ความหมายโดยตรงอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ กับความหมายโดยนัยหรือความหมายโดยแฝง ซึ่งเกิดจากการตีความของแต่ละบุคคลเอง อันมีพื้นฐานมาจากความรู้และวัฒนธรรมส่วนตัว”
เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้แล้วก็จำเป็นต้องพาดพิงถึง “การเข้าถึงความจริงและพระเจ้า” ถัดไปจากนั้นก็ต้องยกเอาความคิดของ Arnold Toynbee มากล่าวถึงที่เห็นว่า “ชีวิตคือปมรากที่เป็นจุดศูนย์รวมของทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ เมื่อเริ่มต้นกฎเกณฑ์ของมนุษย์นั้นถูกห้ามจากเรื่องบาปบริสุทธิ์ โดยระบุว่านั่นเป็นกฎของจักรวาล แต่ต่อมาเมื่อมนุษย์ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆก็เกิดการสะสมทางภูมิปัญญา มนุษย์เริ่มมีอคติและภยาคติ มันจึงไม่มีอะไรถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด เพราะมนุษย์มักมีแนวโน้มเป็น subjective หรืออัตวิสัย แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงมันคือ Objectively หรือภววิสัย”
โดยสรุปแล้วการเข้าถึงความจริงย่อมต้องคำนึงถึงภววิสัย ซึ่งคือความเท่าเทียมกันของมนุษย์และความมีเสรีภาพ ตามที่ Arnold Toynbee กล่าวว่า มีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่เป็นภววิสัย จึงสามารถสนองตอบความหลากหลายในจิตใจของมนุษย์ได้ดี
ดังนั้น เมื่อมองความจริงในแบบพุทธะซึ่ง Arnold Toynbee มีแนวโน้มจะเชื่อเช่นนั้น เราก็ต้องอ้างอิงถึงกฎของสรรพสิ่งหรือกฎแห่งจักรวาล อิทัปปัจจยตา และเมื่อมองซอยให้เล็กลง มองลงไปในจิตใจมนุษย์ จึงต้องพิจารณาด้วยกฎปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในจิตของมนุษย์อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ใกล้เข้าสู่สภาวะนิพพาน โดยข้อเท็จจริงแล้วสภาวะนิพพาน อริยสัจ 4 จะต้องสอดคล้องกันในการเข้าใจความจริงอย่างครอบคลุม เป็นการเข้าถึงความจริงในแบบเดียวกับศาสนาคริสต์ แต่อธิบายต่างกัน ดังนั้น โดยหลักแล้วศาสนาพุทธจึงต้องใช้เสรีภาพและความเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของความมีมนุษยธรรม
Arnold Toynbee จึงสรุปว่า คนเรานั้นจะมีลักษณะที่ย้อนแย้ง ชอบปกปิดความจริง เป็นลักษณะพูดอย่างและทำอย่าง ซึ่งก็เท่ากับว่าคนเราจะมีมายาภายในที่ปกปิดความจริงภายนอกเอาไว้
Arnold Toynbee สนใจคำสอนศาสนาพุทธมหายานของพระนิชิเร็นไดโชนินที่ยึดถือสัทธรรมปุณฑริกสูตร ซึ่งเป็นที่มาของคำสวด “นัม-เมียว-โฮ-เร็งเง-เคียว” หมายถึงมนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน
พระสัทธรรมถือเป็นสูตรคัมภีร์สำคัญของพุทธมหายาน ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. 1790 เศษๆ ในขณะที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานเกิดขึ้นมากมายหลายนิกาย พระนิชิเร็นไดโชนินจึงใช้พระสูตรดังกล่าวนี้เพื่อให้มนุษย์ได้มีที่พึ่งพิงในขณะที่ตนเองทุกข์ยากลำบากในชาตินี้ เป็นวิถีของสาวกญาณ ปัจเจกพุทธญาณ และพระโพธิสัตว์ญาณ โดยถือหลักความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ญาณทั้งสามนี้อยู่ในมรรคาเดียวกัน และสื่อสารออกมาเป็นคำสวดนัม-เมียว-โฮ-เร็งเง-เคียว ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นกระแสรณรงค์เพื่อสันติภาพไปทั่วโลก
มาถึงตรงนี้ผมจึงชักเห็นด้วยว่า ทั้งชีวิตจริงและศีลธรรมในโลกแห่งความจริงจะต้องถูกมองและพิจารณาด้วยความเคารพและเสมอภาคกัน ให้บุคคลได้คิดและตัดสินใจว่าอะไรคือความถูกและผิดของศีลธรรมโดยการตัดสินใจของเขาเอง ไม่ใช่ให้ใครมาคอยบงการ!!
ความคิดตรงนี้สอดคล้องกับเรื่องของ secular morality ของอิมมานูเอล คานท์ ซึ่งเชื่อว่าจะต้องมีศีลธรรมทางสังคม มาตรฐานของศีลธรรมจะต้องมีพื้นฐานของมนุษยธรรม
ข้อคิดตรงนี้ผมขอเพิ่มเติมตบท้ายด้วยงานเขียนของออสการ์ ไวลด์ นักเขียนเทพนิยายมีชื่อชาวอังกฤษ ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนผมเคยแปลงานเทพนิยายเรื่องหนึ่งของเขาคือ “นกไนติงเกลและดอกกุหลาบสีแดง”
ผมขอตบท้ายบทความชิ้นนี้ด้วยข้อคิดของออสการ์ ไวลด์ ที่ว่า “สัจธรรมที่เป็นจริงในโลกคือปรากฏการณ์ที่ย้อนแย้งมาก”
ดังนั้น ถ้าเราจะแยกความจริงออกจากมายาจำเป็นจะต้องใช้สติที่มั่นคงมาก ให้เหมือนกับนักกายกรรมที่รักษาสมดุลตัวเองขณะห้อยโหนบนปลายเชือก ซึ่งโดยข้อสรุปแล้วก็คือ ความจริงอาจจะไม่ใช่ความจริง และความไม่จริงก็คือความจริงได้!
You must be logged in to post a comment Login