วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ลาว‘ชาร์จเศรษฐกิจ’ด้วยไฟฟ้า / โดย กองบรรณาธิการ

On October 17, 2016

คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

ลาวใช้แผนขายไฟฟ้าเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาประมาณ 10 ปี สามารถผลักดันอุตสาหกรรมส่งออกไฟฟ้า ขึ้นเป็นแหล่งรายได้อันดับ 1 ของประเทศ ในขณะเดียวกันการเพิ่มโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ก็ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านปั่นป่วนอย่างกว้างขวาง

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีแผนเพิ่มการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำต่อเนื่อง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมส่งออกไฟฟ้า เป็นกลไกผลักดันประเทศให้พ้นจากการเป็นชาติยากจน โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็น “ประเทศหลักด้านการจ่ายไฟฟ้าในอาเซียน” (The battery of Southeast Asia)

ลาวคาดว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวประมาณ 7% โดยการขายไฟฟ้าเป็นแหล่งรายได้อันดับ 1 คาดยอดขายปีนี้ประมาณ 6,200 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20%

ประเทศที่ซื้อไฟฟ้าจากลาว มีไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่ ตามด้วยเวียดนาม จีน กัมพูชา และมาเลเซีย

ปัจจุบันลาวมีเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าได้แล้วประมาณกว่า 20 แห่ง เขื่อนที่มีกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ขึ้นไปมี 18 แห่ง รวมกำลังการผลิต 2,572 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยเขื่อนน้ำงึม 1 น้ำงึม 2 เซเสด 1 เซเสด 2 น้ำเทิน 2 น้ำทา 3 น้ำมัง 3 น้ำดง น้ำกอ ห้วยเฮาะ น้ำงาย น้ำซอง น้ำยอน น้ำเลิก น้ำลีก เทินหินบูน น้ำพาว และเซละบำ

เขื่อนทั้งหมดสร้างกั้นแหล่งน้ำภายในประเทศ จึงไม่มีผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะโครงการใหญ่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเตรียมก่อสร้างในอนาคต สร้างความวิตกให้กับประเทศเพื่อนบ้านในวงกว้าง เนื่องจากเป็นโครงการกั้นแม่น้ำโขง

โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมี 3 แห่ง ประกอบด้วยเขื่อนไซยะบุรี ที่แขวงไซยะบุรีใกล้หลวงพระบาง กำหนดแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2562 เขื่อนปากแบง ที่เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ ใกล้จังหวัดเชียงราย กำหนดแล้วเสร็จปี 2566 และเขื่อนดอนสะโฮง ที่เมืองโขง แขวงจำปาสัก ใกล้พรมแดนกัมพูชาและไทย กำหนดแล้วเสร็จปีเดียวกับเขื่อนไซยะบุรี

ส่วนแผนเตรียมก่อสร้างในอนาคตมี 7 แห่ง ไล่จากเหนือลงใต้ ประกอบด้วยเขื่อนหลวงพระบาง ปากลาย สานะคาม ปากชม ตรงข้ามกับอำเภอปากชม จังหวัดเลย บ้านกุ่ม ใกล้อุบลราชธานี ภูงอย ใกล้อุบลราชธานี และท่าค้อ

เมกะโปรเจกต์กั้นแม่น้ำโขงของลาว ถูกต่อต้านจากไทย เวียดนาม กัมพูชา และองค์กรนานาชาติมาต่อเนื่อง มองกันว่าจะทำให้ระบบธรรมชาติเสียหายมหาศาล และสร้างความเดือดร้อนให้ผู้พึ่งพาแม่น้ำสายนี้หลายสิบล้านคน

เสียงคัดค้านดังกึกก้องเมืองไทยและโลกออนไลน์ แต่ดูเหมือนจะดังไปไม่ถึงลาว เพราะลาวยังคงฮึดก่อสร้างต่อไปตามแผนของตน


You must be logged in to post a comment Login