วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ความปวดหลังผ่าตัดเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องทนจริงหรือ ?

On October 10, 2016

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : รศ.พญ.วิมลลักษณ์ สนั่นศิลป์

เป็นการเข้าใจผิดทีเดียวถ้าท่านคิดว่า ท่านจำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานจากความปวดที่เกิดจากแผลผ่าตัดเพราะมีวิธีระงับปวดหลายอย่างที่ช่วยท่านได้ ข้อดีของการระงับปวดหลังผ่าตัด คือทำให้ท่านหายใจได้ลึกขึ้นไอได้ดีขึ้น ฟื้นตัวเร็ว รู้สึกสบายและยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการที่มีความปวดอยู่นานด้วย

วิธีระงับปวดหลังผ่าตัดมีอยู่หลายวิธี เช่น ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่ต้นแขนหรือต้นขาให้ยาแก้ปวดร่วมกับยาชาเข้าไขสันหลังตั้งแต่ก่อนผ่าตัด หรือวิธีรับประทานยายาที่ใช้ในการระงับปวดมีความปลอดภัยสูงประโยชน์จากยาที่ทำให้หายปวดมีมาก ท่านไม่จำเป็นต้องกลัวเรื่องการติดยา

อีกทั้งยังมีวิธีระงับปวดอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นอีกเป็นวิธีระงับปวดแบบพิเศษซึ่งท่านสามารถปรึกษากับวิสัญญีแพทย์ที่มาเยี่ยมท่านก่อนผ่าตัดเพื่อพิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมกับการผ่าตัดของท่านได้แก่การให้ยาทางช่องเหนือไขสันหลัง(Epidural block) และทางช่องน้ำไขสันหลัง(Spinal block)
การให้ยาชาเพื่อระงับปวดเฉพาะส่วนแขนหรือขา(Peripheral nerve block) การใช้วิธีพีซีเอ (Patient-Controlled Analgesia, PCA)ให้ยาทางหลอดเลือดดำ และวิธีพีซีอีเอ (Patient-Controlled Epidural Analgesia, PCEA) ให้ยาทางช่องเหนือไขสันหลัง

การให้ยาทางช่องเหนือไขสันหลังทำได้โดยการให้ยาทางสายเล็กๆ ที่คาไว้ที่หลังของท่าน วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดสำหรับการผ่าตัดใหญ่ที่อาจมีอาการปวดอยู่นานทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าวิธีนี้เหมาะสมกับท่านหรือไม่

ผลข้างเคียงของวิธีนี้ บางคนอาจรู้สึกหนักขาหรือขาชาระหว่างได้รับยาก็ได้ เนื่องจากยาที่ใช้เป็นยาชาจางๆ หากมีอาการดังกล่าวขอให้แจ้งแพทย์ทราบเพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม

ภาวะแทรกซ้อนอื่น ที่มีโอกาสเกิดได้แต่น้อยมาก เช่น การติดเชื้อ หรืออาจมีเลือดออกในช่องไขสันหลัง เป็นต้น ดังนั้น ถ้าท่านมีอาการกดเจ็บที่หลังตรงตำแหน่งที่ใส่สายไว้หรือมีขาอ่อนแรง ขอให้ท่านรีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาล ปัญหาทั้งสองอย่างนี้ ถ้าทราบได้เร็วและให้การแก้ไขทันท่วงที ก็สามารถป้องกันอาการรุนแรงที่จะเกิดตามมาได้

การให้ยาชาเฉพาะส่วนแขนหรือขาอาจเป็นการฉีดยาชาครั้งเดียวตั้งแต่ในห้องผ่าตัด หรือ การให้ยาชาอย่างต่อเนื่องรอบเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณแผลผ่าตัดผ่านทางเครื่องให้ยา

ผลข้างเคียงของวิธีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการให้ยาชา จึงทำให้เกิดการชาหรืออ่อนแรงได้ให้แจ้งแพทย์ เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม หรืออาจเกิดอาการของระดับยาชาในเลือดสูง เช่น ขมปาก ตาลาย โปรดแจ้งแพทย์เช่นกัน

การใช้พีซีเอ (PCA) หรือ พีซีอีเอ (PCEA)เป็นวิธีที่ท่านสามารถระงับความปวด โดยเป็นผู้กดปุ่มปล่อยยาให้ตัวเอง จากเครื่องมือพิเศษที่แพทย์เป็นผู้ตั้งเครื่องกำหนดขนาดยาให้ท่าน

หลักการใช้คือ “เริ่มปวดก็กดปุ่ม ไม่ปวดไม่ต้องกด” ยาที่ปล่อยออกมาแต่ละครั้งจะมีขนาดน้อย หลังจากกดปุ่ม 1 ครั้ง ให้รอสักครู่ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ให้ท่านกดปุ่มได้อีก ไม่จำกัดจำนวน แต่ถ้ารู้สึกว่ากดหลายครั้งแล้วยังไม่หายปวด ให้บอกพยาบาลได้

ข้อสำคัญคือ ห้ามให้ผู้อื่นกดปุ่มให้ เพราะตัวท่านเองเท่านั้นที่จะทราบว่าท่านต้องการยาหรือไม่
ผลข้างเคียง อาจเกิดจากยาที่ใช้ บางคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือคันตามตัวเหมือนมีอะไรไต่ หรือมีอาการชาจากยาชาที่ได้ทางสายที่คาไว้ที่หลัง ขอให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาล เพื่อแก้ไขอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ทีมแพทย์และพยาบาลทุกท่านได้ร่วมใจกันพยายามทำให้คนไข้หลังผ่าตัดปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้จนในปี 2549 ได้ตั้งทีมพิเศษขึ้นมา เรียกว่าหน่วยระงับปวดเฉียบพลันหลังผ่าตัด (AcutePain Service หรือเรียกย่อว่า APS)สังกัดภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยเป็นทีมของวิสัญญีแพทย์และพยาบาลที่ให้การดูแลเรื่องปวดหลังการผ่าตัดโดยเฉพาะ รวมถึงความปวดหลังจากอุบัติเหตุที่ไม่ได้ผ่าตัดด้วย เช่น กระดูกซี่โครงหักหากได้รับการแจ้งปรึกษาเพื่อให้ท่านได้รับการระงับปวดที่ดีและปลอดภัยที่สุดท่านสามารถขอรับบริการระงับปวดหลังผ่าตัดได้โดยแจ้งความประสงค์กับแพทย์ที่ดูแลท่านเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการปรึกษาหน่วยAPS ล่วงหน้า

ในโอกาสครบ 10 ปีของหน่วยระงับปวดเฉียบพลันหลังผ่าตัด ภาควิชาวิสัญญีฯ จึงจัดงานวิสัญญีภาคประชาชนขึ้น เป็นบูธความรู้ด้านต่าง ๆ จาก 6 หน่วยงาน ที่โถงชั้น 1 อาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ วันที่ 10-15 ตุลาคม แต่ในวันที่ 14 เต็มวันและ 15 ครึ่งวันเช้าเท่านั้น ที่จะมีแพทย์และพยาบาลมาตอบคำถามหรือข้อข้องใจของท่าน และเฉพาะวันที่ 14 ที่จะมีกิจกรรมมากมายบนเวทีและร่วมสนุกตามบูธความรู้ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ท่านได้ทราบว่าวิสัญญีคือใคร ทำอะไรกันบ้างเพื่อท่านตามธีมของงานนี้คือ “Now You See Me: วิสัญญีคือใคร?”

จึงขอเชิญชวนท่านให้มาร่วมงาน และรับความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อท่านหรือคนที่ท่านรักจะต้องมารับการผ่าตัด เพื่อท่านจะได้ไม่ต้องกลัวการระงับความรู้สึก หรือ “ดมยา” อีกต่อไป เพราะรู้แล้วว่า วิสัญญีเป็นอย่างไร


You must be logged in to post a comment Login