วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สังคมศรีธนญชัย ใส่หัวโขนทศกัณฐ์ / โดย ทีมข่าวการเมือง

On October 3, 2016

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“ทุกอย่างที่นายกฯยืนยันออกมาจากปากท่านว่า การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับคดีดิฉันเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ได้กลั่นแกล้ง ก็อยากให้นายกฯใช้หลักคิดและให้ความเป็นธรรมกับดิฉันเหมือนที่ท่านให้ความเป็นธรรมและปกป้องน้องชายท่าน รวมทั้งคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพวกเดียวกับท่าน เพราะกฎหมายมีไว้บังคับใช้กับทุกคน ไม่ใช่เลือกปฏิบัติกับฝั่งดิฉันเพียงฝ่ายเดียว”

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Yingluck Shinawatra เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2559 หลังจากนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง สรุปตัวเลขการเรียกชดใช้ค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นเงิน 35.717 ล้านบาท หรือ 20% จากความเสียหายทั้งหมดประมาณ 178,000 ล้านบาท ส่วนการเรียกค่าเสียหายอีก 80% ประมาณ 142,000 ล้านบาท จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเป็นกรณีย่อย เช่น การสวมสิทธิ การนำข้าวผิดประเภทมาจำนำ การเวียนเทียนข้าว และกรณีข้าวหาย เป็นต้น เพื่อหาผู้รับผิดทางแพ่งและชดใช้เงินคืนต่อไป

นอกจากนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์กรณีการบริหารจัดการ กักเก็บระบายน้ำผิดพลาด จนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โดยนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า เป็นคดีที่ร้องเรียนมาตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดก่อน โดยให้ไต่สวนทั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงปี 2553-2554 ที่เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งคดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช. มีทั้งหมด 15 คดี

ยึดทรัพย์แล้วเกือบ 5,000 ราย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ว่ายึดทรัพย์มาแล้วเกือบ 5,000 ราย แต่คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการราชการอาจไม่ทราบและไม่รับรู้ ส่วนกรณีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะลงนามคำสั่งเรียกค่าเสียหายด้วยตัวเองหรือมอบอำนาจต่อได้ ทั้งยืนยันว่าองค์กรอิสระไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่เมื่อมีคนร้องก็ต้องดำเนินการสอบสวนและดำเนินการใน 3 ทางคือ ส่งเรื่องถอดถอน ส่งฟ้องคดีอาญา และส่งให้ดำเนินการทางแพ่ง สำหรับการรับผิดในทางแพ่งเป็นเรื่องของกระทรวง ซึ่งถือเป็นผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด

นายวิษณุยังยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ใช้คำสั่งมาตรา 44 ยึดทรัพย์ แต่เป็นไปตามการวินิจฉัยความผิดตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ เมื่อสรุปว่าผิดและต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่าใดก็จะดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 คือการไปยึดทรัพย์ เว้นแต่มีการฟ้องศาลให้คุ้มครองชั่วคราว ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงที่รับผิดชอบ แต่เมื่อมูลทรัพย์มีค่าจำนวนมาก กระทรวงที่รับผิดชอบไม่มีความเชี่ยวชาญในการเข้าไปยึด ก็ต้องมีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางคือกรมบังคับคดี จึงมาเข้าส่วนที่ 3 ตามคำสั่งมาตรา 44 ที่ให้กรมบังคับคดีเป็นผู้เข้าไปจัดการ ซึ่งในอดีตรัฐบาลเคยมอบหมายให้กรมบังคับคดีดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ตามคำพิพากษาของศาล

ต้องเสร็จก่อนอายุความ

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังจากเดินทางกลับจากการประชุมสหประชาชาติ (25 กันยายน) กรณีเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวกับอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ว่า รัฐบาลมีหน้าที่นำเข้าสู่กระบวนการอย่างเดียวตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯที่ใช้มากว่า 5,000 คดีแล้ว ไม่ได้แกล้งใคร ไม่ได้เลือกปฏิบัติใคร ถ้าไม่ทำ รัฐบาลไม่ดำเนินการ ก็จะถูกดำเนินการตามมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และต้องทำให้ทันอายุความที่จะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ไม่ได้ไปเร่งรัดอะไร กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ใครมีหน้าที่ก็ทำไป ส่วนการตัดสินเป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของตน รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งกรณีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในส่วนของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวก ก็เป็นหน้าที่รัฐบาล ซึ่งมีการตรวจสอบ 2 ฤดูการผลิตในปี 2555/2556 และปี 2556/2557 ตามที่ ป.ป.ช. และหน่วยงานที่ตรวจสอบให้สอบ และทำตามคำสั่งศาล ส่วนจะดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมอย่างไร ผู้ถูกกล่าวหาก็ร้องอุทธรณ์ได้

“แล้วมันผิดตรงไหนหรือ ไม่ต้องเข้ากระบวนการเลยแล้วเอารัฐบาลผมไปรับโทษแทนหรือ คิดให้มันถูกต้อง อย่าไปฟังสิ่งที่อ้างไปอ้างมา เอาหลักฐาน เอากฎหมายมาว่ากัน เวลานี้ประชาชนสับสนไปหมด กฎหมายไม่เป็นกฎหมายไปหมด เขาจะแกล้งเรื่องอะไร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

คงไม่โง่แต่ไม่รับประกัน

ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่าคดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นไปตามกฎหมายและไม่เลือกปฏิบัติ ก็ทำให้กรณี พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม และครอบครัว ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในกระแสสังคม ถูกจับตามองว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีท่าทีอย่างไรและจะมีการตรวจสอบอย่างไร โดยมีการร้องต่อ ป.ป.ช. ให้สอบสวนเรื่องการสร้างฝายผ่องพรรณพัฒนาและการประมูลงานก่อสร้างของกองทัพภาคที่ 3 ของนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชาแล้ว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องน้องชายก็ส่วนน้องชาย เป็นคนละคน ส่วนที่ตนเองถูกโจมตีไปด้วยก็โจมตีไป เพราะโดนอยู่ทุกวันอยู่แล้ว แต่อย่าทำผิดกฎหมายกับตนก็แล้วกัน ต่อคำถามว่าเป็นห่วง พล.อ.ปรีชาหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แล้วคุณห่วงน้อง ห่วงญาติพี่น้องคุณหรือไม่ เรื่องที่ถูกโจมตีเหล่านั้นจริงหรือเปล่า พิสูจน์หรือยังว่ามันผิด เรื่องการทำธุรกรรมบริษัทก็ยังไม่รู้ว่าถูกหรือผิด เมื่อมีการฟ้องร้องก็ให้สอบไป

“เขาคงไม่โง่หรอก แต่ผมไม่รับประกันแทนอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องของเขาที่ต้องรับผิดชอบไป เพียงแต่ว่าจะถูกจับตานี่โน่น คือพอมีอะไรขึ้นมาผมก็ต้องโดน แล้วมาบอกว่ารัฐบาลไม่เอาใจใส่ มันคนละประเด็น อยากจะสอบก็สอบไป แต่อย่าไปเอาเรื่องที่เกิดขึ้นมาตีกันอีกว่าทางนี้ก็เป็น จะทำไปเพื่ออะไร”

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีโดยยืนยันว่า เรื่องของกระบวนการยุติธรรมก็ว่าไป ป.ป.ช. จะสอบก็สอบไป ตนไม่ได้ไปยุ่งอะไร ถึงจะเป็นน้องก็คนละคนกัน ส่วนรายงานข่าวที่ระบุว่าบริษัทรับงานก่อสร้างอยู่ในค่ายทหาร ตนไม่รู้ แต่บอกให้เตรียมคำตอบให้ดี

เมื่อนักข่าวถามว่ามีความมั่นใจที่จะให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบในฐานะที่ พล.อ.ปรีชาเป็นทั้งสมาชิก สนช. และ คสช. นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คุณไม่เชื่อมั่นกระบวนการรัฐเลยหรืออย่างไร ถ้าไม่เชื่อก็ไปอยู่ที่อื่นโน่น กระบวนการยุติธรรมเขาทำงานอยู่ ไม่เอาอะไรสักอย่าง จะเอาแต่ความรู้สึกหรือไง พอแล้วไม่ตอบ ถามแบบนี้ไร้สาระ แล้วจะหาว่าโมโห ต้องไปถามกระบวนการที่เขากำลังตรวจสอบโน่น โยงกันไปมาอยู่นั่น ตนไม่ได้โมโหนะ

“เขาสอบหมด บริษัทบ้าบอคอแตกอะไรนั่น อยากจะสอบอะไรก็สอบไปเถอะไป จะสอบครัวสอบส้วมก็สอบไป จะมาโยงกับผมทำไม เขาก็รับผิดชอบของเขาเองสิ ไม่ใช่ เออ ไอ้ห่า ตระกูลผมเสียหาย มันคนละเรื่อง คนละคน แต่ถามว่าผมรักน้องไหม ผมก็รัก แต่ผมก็ทำอะไรไม่ได้ ผมช่วยเขาไม่ได้ และผมก็มาตะแบงชี้แจงส่งเดชไม่ได้ เป็นเรื่องของกลไกก็รับไป และผมก็ไม่เคยไปว่าใคร ทุกอย่างเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ใครอยากสอบก็สอบไป หรือสื่อจะเป็นตัวแทนเรืองไกรอีกคน ศรีสุวรรณอีกคน มันทำงานอะไร วันๆหนึ่งมาฟ้องกันทุกวัน มีงานทำหรือเปล่า ทำมูลนิธิเหรอ เดี๋ยววันหลังต้องไปสอบ 2 คนนี้บ้าง ทำอาชีพอะไร มีรายได้จากที่ไหน วันๆทำงานกันอย่างไร อาชีพสุจริตหรือเปล่า สื่อไปฟ้องแทนผมหน่อยสิ ผมไม่อยากยุ่งกับเขา กระบวนการตรวจสอบเขาก็เดินหน้าไป ไม่ใช่มาประโคมข่าวสร้างความสำคัญ ผมยังไม่พยายามพูดถึงโครงการรับจำนำข้าว มันก็พูดกันอยู่นั่น กลับมาย้อนผมทุกเรื่อง ต้องไปสู้ที่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่มาสู้ตามสื่อ ผมก็ไม่ได้ตอบโต้ให้น้องผมทางสื่อ ไปว่ากันที่กระบวนการ ผิดก็คือผิด”

พล.อ.ประยุทธ์ยังเปิดเผยว่า พล.อ.ปรีชาได้มาขอโทษและบอกว่าไม่ได้ทำความผิด เพียงแต่บางอย่างอาจจะไม่สมควร เขายอมรับตรงโน้น แต่เรื่องของบริษัทเขาบอกว่าเตรียมหลักฐานไว้เต็มที่ “ผิดพลาดอะไรก็ไปว่ากันมา เขายอมรับในกระบวนการสอบสวน ก็จบแค่นั้น อย่าไปเพิ่มปัญหาหรือภาระ ผมไม่ได้ปกปิด มีก็มีก็รับกันไป”

คนดีต้านโกง..หายหัว

ประเด็นภริยาและลูกชายของ พล.อ.ปรีชา ทั้งกองทัพอากาศและกองทัพภาคที่ 3 ออกมาชี้แจงว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบ แต่กระแสสังคมที่ออกมาทั้งสื่อกระแสหลักและในสังคมออนไลน์ก็เป็นข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่อง “คุณธรรมและจริยธรรม” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำอย่างมากในเรื่องปราบโกงและรู้ดีถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ประเด็นข้อกฎหมาย แต่เป็นความเหมาะสมและสมควรหรือไม่ด้วย ยิ่ง พล.อ.ปรีชามีตำแหน่งสูงทั้งในกองทัพและการเมือง และยิ่งนำไปเปรียบเทียบกับคดีที่ดินรัชดาฯของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ก็ยิ่งมีการตั้งคำถามว่ากรณีลูกชาย พล.อ.ปรีชาจะเข้าข่ายการกระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลและหลักฐานใหม่ ซึ่งสำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ห้างหุ้นส่วนจัด (หจก.) คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ของนายปฐมพลนั้น จดทะเบียนที่ตั้งในกองทัพภาคที่ 3 ก่อนเข้ารับงานของกองทัพภาคที่ 3 และยังมีเรื่องเหลือเชื่อที่ชนะการประมูลเหนือคู่แข่งที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในโครงการเกือบร้อยล้านบาทด้วยราคาที่ห่างกันเพียงหลักพันบาท

โดย PPTV ได้เผยแพร่รายงานว่า ตัวละครที่น่าสนใจอีกหนึ่งบริษัทคือ หจก.นำพล อินเตอร์เทรด ซึ่งพบข้อมูลที่ยืนยันได้อย่างน้อย 3 โครงการว่า เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าประกวดราคาแข่งกับ หจก.คอนเทมโพรารีฯ และแพ้การประกวดราคาไปแค่หลักพันบาททั้ง 3 โครงการ ทั้งที่ หจก.นำพลฯมีประวัติรับงานกองทัพมากกว่า 100 โครงการ เฉพาะช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รับงานกองทัพ 50 โครงการ เป็นของกองทัพภาคที่ 3 ถึง 49 โครงการ ไม่นับโครงการก่อนหน้าปี 2558 อีกกว่า 50 โครงการ ตั้งแต่จัดซื้อเครื่องแต่งกาย รองเท้า เสื้อยืด เครื่องสนาม เครื่องแบบทหาร จนถึงจัดซื้อรถจักรยานยนต์ จัดซื้อเครื่องหาพิกัดด้วยดาวเทียม และปรับปรุงอาคาร ก่อสร้างอาคาร แต่ หจก.นำพลฯกลับมาแพ้การประกวดราคาในโครงการที่ หจก.คอนเทมโพรารีฯเป็นคู่แข่งในราคาที่ต่างกันเพียงหลักพันบาท

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 26 กันยายน นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าว PPTV โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวในลักษณะสาธารณะว่า “สถานการณ์บอกตัวตน วันนี้นักข่าว PPTV โทร.ไปขอสัมภาษณ์ผู้นำหลายคนที่มีชื่อเสียงด้านการรณรงค์ให้ผู้คนต่อต้านการคอร์รัปชัน ตอนแรกก็ยินดีให้สัมภาษณ์เมื่อนักข่าวบอกว่าเรื่องคอร์รัปชัน แต่พอบอกประเด็นเรื่องลูกชายปลัดกระทรวงกลาโหมประมูลงานกองทัพได้ ปรากฏว่าทุกคนปฏิเสธกันหมด โดดหนีพัลวัน บางคนติดประชุมด่วนกะทันหัน บางคนไม่รับสายอีก”

กองทัพไม่รู้ไม่เห็นไม่ทราบ

พฤติกรรมของครอบครัว พล.อ.ปรีชาไม่เพียงต้องพิสูจน์ตัวเอง แต่ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบถึง พล.อ.ประยุทธ์ไม่มากก็น้อย แม้ยังไม่มีผลการสอบสวนใดๆออกมาก็ตาม แต่ข่าวและข้อมูลต่างๆที่ปรากฏออกมาก็ทำให้สังคมจับจ้องที่ พล.อ.ประยุทธ์และ ป.ป.ช. ที่จะเข้ามาตรวจสอบว่า สุดท้ายผลจะออกมาอย่างไร เพราะหลายปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพไม่เงียบหายไปก็มักมีข้อสรุปว่าไม่มีความผิดใดๆ แม้จะมีข้อสงสัยหรือการร้องเรียนที่ค้างคาใจอยู่ก็ตาม อย่างกรณีโครงการอุทยานราชภักดิ์ การซื้อ GT200 เรือเหาะที่มีราคาแพงและใช้การไม่ได้ หรือปัญหาการกินหัวคิวโครงการขุดลอกคูคลองทั่วประเทศขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ที่มีมูลค่านับพันล้านบาท ฯลฯ

ที่น่าสนใจคือ แม้แต่ พล.อ.ปรีชายังบอกว่าไม่ทราบมาก่อนว่าลูกชายใช้บ้านพักในค่ายทหารจดทะเบียนตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างและรับงานกองทัพภาคที่ 3 ไม่รู้ไม่เห็นจริงๆ ตอนนั้นลูกชายจัดการเอง เพราะไม่มีบ้าน มีแต่บ้านในค่าย พร้อมให้ตรวจสอบตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการ และตนเองก็พร้อมชี้แจงต่อ ป.ป.ช.

ขณะที่ พล.ท.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล แม่ทัพภาคที่ 3 ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราเกี่ยวกับนายปฐมพลจดทะเบียนจัดตั้ง หจก.คอนเทมโพรารีฯในกองทัพภาคที่ 3 ว่าไม่ทราบรายละเอียด เพราะไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการประมูลงาน ดูแลงานคุมกำลังเป็นหลัก ส่วนการประมูลโครงการต่างๆมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอยู่ และไม่ทราบด้วยซ้ำว่าลูกชาย พล.อ.ปรีชาเข้ามาประมูลโครงการของกองทัพภาคที่ 3 เพิ่งรู้ตอนที่เป็นข่าว ส่วนกรณีเอาบ้านพักข้าราชการไปจดทะเบียน หจก. ก็ไม่ทราบว่าทำได้หรือไม่ได้ ต้องถามหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหรือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันนายปฐมพลก็ออกไปแล้ว

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวเรื่องคดีลูกชายและภริยาของ พล.อ.ปรีชาว่า เมื่อมีคนมาร้องก็ต้องไปตรวจสอบข้อมูล ซึ่งเป็นขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง ส่วนระยะเวลาขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานว่ามีอะไรบ้าง เป็นขั้นตอนปรกติที่ ป.ป.ช. ต้องทำ ไม่หนักใจ แต่ต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะสังคมเฝ้ามองอยู่ ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการตอบไม่ได้ เป็นไปตามขั้นตอน ทุกเรื่องมีความสำคัญหมด คงไม่ล่าช้า เพราะทุกเรื่อง ป.ป.ช. ก็เร่งหมด

ขณะที่สำนักข่าวอิศราได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ระเบียบการพักอาศัยในบ้านพักของทหารมีกำหนดไว้อย่างชัดเจนคือ ระเบียบสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2555 มีความยาว 38 หน้า ลงนามโดย พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหมในช่วงเวลาดังกล่าว โดยข้อ 18.14 ระบุชัดว่า “ห้ามประกอบการค้าใดๆในที่พักอาศัยซึ่งทางราชการมิได้จัดไว้ หรือผู้ปกครองอาคารที่พักอาศัยไม่ได้อนุญาต”

แม้รายละเอียดของระเบียบในแต่ละหน่วยจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็มีหลักการคล้ายๆกันคือ ต้องการให้บ้านพักทหารมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่กระทำการใดๆในทางแสวงหากำไร เช่น ให้บุคคลอื่นเช่าต่อ และผู้พักอาศัยต้องไม่มีพฤติกรรมสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น

ไล่ล่า “ยิ่งลักษณ์” เร่งรีบผิดปรกติ?

กรณีครอบครัว “จันทร์โอชา” ทำให้คดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และพวกยิ่งน่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องการกล่าวหาและตรวจสอบที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของรัฐ แม้ความเสียหายที่เป็นข่าวจะแตกต่างกันอย่างมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ที่มีผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งชูธงปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการปราบทุจริตคอร์รัปชันให้สิ้นซากโดยไม่เลือกปฏิบัติ

คดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่อยู่ใน ป.ป.ช. ถึง 15 คดี โดยเฉพาะคดีโครงการรับจำนำข้าว และคดีล่าสุดการบริหารจัดการ กักเก็บระบายน้ำผิดพลาดจนเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติและคาบเกี่ยวรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยิ่งมีคำถามว่าเป็นคดีปรกติหรือต้องการกวาดล้างกันทางการเมือง และอาจเป็นบูเมอแรงกลับมาที่รัฐบาลทหาร เพราะอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และพวกที่ถูกดำเนินคดีต่างก็เห็นว่า “ผิดปรกติ”

โดยเฉพาะการพยายามเอาผิดกรณีน้ำท่วม ซึ่งในอดีตมีปัญหาอุทกภัยหลายครั้งที่สร้างความเสียหายและอยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี แกนนำพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค (26 กันยายน) ว่า “ถ้าจะสอบอุทกภัยต้องสอบเทวดาครับ” จึงรู้สึกขำและรู้สึกเศร้าที่ ป.ป.ช. จะดำเนินการไต่สวนทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มันดูเพี้ยนแบบเลอะสุดๆ ภัยธรรมชาติมนุษย์หน้าไหนจะต่อสู้ได้ อุทกภัยเป็นภัยธรรมชาติประเภทหนึ่ง ปี 2554 เป็นอุทกภัยสูงสุดใน 100 ปี ฝนตกมากถึง 1,781 มม. มากกว่าค่าปรกติ 35% หากคิดเป็นน้ำก็มากกว่าเดิมถึง 46,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และปี 2554 มหาฝนจากพายุ 5 ลูก ทำให้น้ำมากกว่า 100,000 ล้าน ลบ.ม.

“หากพวกท่านไม่บ้าอำนาจและมีปัญญาสักนิด ท่านอาจจะเข้าใจได้ว่านี่เป็นอุทกภัย ไม่มีใครเลียนแบบทำอุทกภัยได้หรอกครับ (เพราะพระพิรุณท่านเป็นเทพที่ดี) ไม่มีรัฐบาลบ้าบออะไรหรอกที่ต้องการน้ำท่วม ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนไปสั่งระบายน้ำจากเขื่อนอะไรได้ เขามีกรรมการของเขา แต่งตั้งโดย กปร. มีส่วนร่วม”

นายปลอดประสพยังนำคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ว่า “น้ำท่วมไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะพื้นที่ประเทศไทยต่ำ ยังไงก็ท่วม” และเมื่อวันที่ 25 กันยายนก็กล่าวว่า “ไม่ให้น้ำท่วม ไม่มีใครทำได้หรอก ตราบใดที่ฝนยังตกมามาก” และเมื่อคืนวันที่ 24 กันยายนฝนตกที่นนทบุรี 70 มม. น้ำยังท่วมบ้านตนเองและสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งนายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ให้สัมภาษณ์ว่า กทม. ไม่สร้างประตูน้ำคลองลาดพร้าวใหม่ เพราะกลัวน้ำจะไหลเข้ากรุงเทพฯชั้นในได้ง่าย รู้ปัญหา เครื่องมือก็มี แต่ไม่แก้ปัญหา อย่างนี้จะถือว่าผิดตามมาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตหรือเปล่า

ขณะที่ “ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์ ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คว่า การชี้แจงการยึดทรัพย์กรณีโครงการรับจำนำข้าวของนายวิษณุที่มียอดเต็ม 170,000 ล้านบาท โดยอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์โดน 35,000 ล้านบาท ที่เหลือไล่เก็บคนอื่นนั้น สรุปว่าไม่ใช่ใจดีกับ “อีปู” แต่กะเล่นทั้งพรรค ทั้ง ครม.

และทันทีที่รู้ข่าวว่า ป.ป.ช. จะเอาผิด “อีปู” ฐานทำน้ำท่วมประเทศ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความโกรธ ความไม่พอใจ แต่กลายเป็นเสียงหัวเราะด้วยความสมเพช ก็เห็น “อีปู” โดนจนชินจนไม่รู้จะโต้เถียงไปทำไม ไม่ว่าเรื่องอะไรมันไม่มีความหมายแล้วในวันนี้ เพราะมันไม่ใช่ความยุติธรรมอีกต่อไป ป.ป.ช. กลายเป็นตัวตลก ความยุติธรรมกลายเป็นอะไรที่น่าสังเวชและไม่มีใครคาดหวังอีกต่อไป

10 ปีที่ผ่านมานิติราษฎร์ต้องออกมาโต้เถียงอะไรมากมาย แต่วันนี้นิติราษฎร์ไม่ต้องพูดอะไรสักคำ เพราะชาวบ้านเห็นตำตา ชงกันเอง ฟ้องกันเอง ถอดถอนกันเอง ป.ป.ช. 9 คนก็ตั้งจากรัฐประหาร

“ใบตองแห้ง” ยังย้อนถามว่า คนรู้ไหมพฤติกรรมน้อง พล.อ.ประยุทธ์และลูกเมียไม่เหมาะสม แต่เชื่อว่ามีบ่นกันพอหอมปากหอมคอสักพักแล้วก็เลิก เพราะกลัวกระทบท่านผู้นำ และทิ้งท้ายว่า “สังคมไทยก้าวข้ามความยุติธรรมมาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ 2490, 6 ตุลา 19 ครั้งนี้ก็พยายามจะใช้อำนาจทำลายล้างอย่างไม่ยุติธรรม แล้วหวังว่าคนส่วนใหญ่จะหลับตาข้างลืมตาข้างเพื่อเอาตัวรอด แต่เงื่อนไขสังคมไทยมันเปลี่ยนไปเยอะแล้วครับ”

สังคมศรีธนญชัยใส่หัวโขนทศกัณฐ์

กรณีคดีอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และพวก ไม่ว่าจะใช้มาตรา 44 ในขั้นตอนใดก็คืออำนาจพิสดารจากเผด็จการรัฐประหาร ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามว่าเป็นการปล้นทางการเมืองหรือไม่ หรือต้องการล้างพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายให้สิ้นซากใช่หรือไม่ อีกทั้งยังมีการชี้นำเพื่อเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่จัดการได้โดยไม่ต้องหวั่นว่าจะต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญาในอนาคต จึงถูกตั้งคำถามว่ามีความจำเป็นอะไรที่จะต้องปกป้องผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและเรียกค่าเสียหายหากทุกฝ่ายมั่นใจว่าทำด้วยความยุติธรรมและเป็นธรรม?

เช่นเดียวกับคำถามว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์ต้องให้รัฐมนตรีและข้าราชการประจำลงนามในคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายแทน ทั้งที่มีอำนาจในการลงนาม และมีมาตรา 44 คุ้มครองอยู่แล้ว

เมื่อเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของครอบครัวน้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ การที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า “น้องชายคงไม่โง่หรอก” ก็ทำให้เกิดคำถามว่าหมายถึง “ถ้าฉลาดแล้วโกงก็ไม่ผิดใช่หรือไม่?” เช่นเดียวกับการใช้กฎหมายพิเศษมุ่งทำลายเฉพาะฝ่ายตรงข้ามนั้นเหมาะสมหรือไม่?

วาทกรรม “กฎหมายคือกฎหมาย” ซึ่ง “ท่านผู้นำ” ย้ำนักน้ำหนา จึงถูกตั้งคำถามจากสื่อเรื่อง “จริยธรรม” และ “ธรรมาภิบาล” อย่างมากกับเครือญาติ “จันทร์โอชา” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขายที่ดินให้บริษัทกลุ่มทุนน้ำเมาที่ไปจดทะเบียนที่หมู่เกาะเวอร์จิน หรือกรณีภริยาและลูกชาย พล.อ.ปรีชาที่เป็นข่าวขณะนี้

เหตุใดการใช้อำนาจพิเศษอย่างเร่งรีบเฉพาะกับอีกฝ่ายหนึ่ง แต่กับคนใกล้ตัวและพวกเดียวกันกลับอ้างว่าให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปรกติทั่วไป? การอ้าง “กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย” ภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มาจากการรัฐประหารจึงถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า เป็นความยุติธรรมที่เป็นธรรม โปร่งใส และเสมอภาคจริงหรือ?

โดยเฉพาะ “บิ๊กมีสี” และพวกพ้องที่บัดนี้ได้กลายเป็นชนชั้นที่แตะต้องไม่ได้ สงสัยไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ ยกเว้นจะถูกเปิดโปงพฤติกรรมจากกระแสข่าวที่ผุดขึ้นจากสังคมออนไลน์ที่ควบคุมไม่ได้แล้วขยายไปตามสื่อต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามักจะมีการตรวจสอบกันเองพอเป็นพิธีแล้วก็ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป หรือแทบทุกครั้งที่องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบแล้วมักจะออกมาว่าไม่ผิด อ้างว่าทุกอย่างทำถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบ แต่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลรายละเอียด และไม่พูดถึงเรื่อง “จริยธรรม” ว่าถูกหรือผิด ไม่เหมือนกับที่เรียกร้องฝ่ายอื่นเสมอว่า “ถึงไม่ผิดกฎหมายก็ผิดจริยธรรม”

วาทกรรมปราบโกงด้วยการ “เปิดไฟส่องไล่คนโกง” แต่ไม่กล้าส่องตนเอง ขณะที่พวกที่เชียร์ก็จะเชียร์แบบหลับหูหลับตาให้ปราบโกง โดยสนใจว่าให้ปราบเฉพาะอีกฝ่าย แต่ไม่ต้องปราบอีกฝ่ายนั้น จึงเป็นแค่วาทกรรมกำมะลอของ “สังคมศรีธนญชัยใส่หัวโขนทศกัณฐ์” เท่านั้น สังคมประชาธิปไตย 99.99% โดยเผด็จการจึงกลายเป็นสังคมคนดีที่แตะต้องไม่ได้ คนดีอวดอ้างตนเสมือนชนชั้นสูง เสมือนหัวโขน “ทศกัณฐ์” ที่ห้ามแตะต้อง เพราะถือเป็นของสูง จะทำอะไรก็ต้องกราบไหว้บูชาและได้รับอนุญาตจากเหล่าคนดีที่ไม่กล้าให้ใครพิสูจน์ว่าดีจริงหรือไม่เสียก่อน

วิกฤตและปัญหาของสังคมไทยวันนี้ไม่ใช่ทำให้ “กฎหมายเป็นกฎหมาย” เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่เป็นกฎหมายไม่ปรกติที่ถูกแบ่งชั้นวรรณะ เลือกใช้เฉพาะกลุ่ม เฉพาะฝ่าย เฉพาะกรณี

เมื่อ “กฎหมายถูกบิดเบือน” เมื่อ “ความยุติธรรมลำเอียง” การอ้างเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล จึงเป็นแค่เรื่องกำมะลอที่ถูกสวมทับไว้ด้วยหัวโขนแห่งความดีสำหรับ “คนดี” ที่มีไว้ให้กราบเท่านั้น

เอ้า! กราบสิ..มัวรออะไรอยู่?


You must be logged in to post a comment Login