วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

ความเหมาะสมภายใต้ความเป็นไทย / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On October 3, 2016

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

ดราม่ามิวสิกวิดีโอ “เที่ยวไทยมีเฮ” ที่มีฉากทศกัณฐ์หยอดขนมครก เล่นสปีดโบ๊ต ขับโกคาร์ต แล้วถูกวิจารณ์ว่า “ไม่เหมาะสม” เพราะเป็นการนำตัวละครสำคัญของ “โขน” ซึ่งเป็น “ศิลปะชั้นสูง” ที่เคยแสดงในราชสำนักมาทำเป็นตัวตลกเที่ยวเพ่นพ่านไปในที่สาธารณะ จนกระทั่งเกิดการร้องเรียนและกระทรวงวัฒนธรรมต้องลงมาดูในรายละเอียด สุดท้ายก็มีการตัดฉากดังกล่าวออกไป

ปัญหาเรื่อง “ความเหมาะสม” ย่อมขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้มีอำนาจตัดสินว่าอะไรคือความเหมาะสม?

ในยุคกลางที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกเรืองอำนาจ การเสนอความเห็น ความจริง หรือความรู้อะไรที่ขัดกับการตีความไบเบิลของศาสนจักรย่อมเป็น “ความไม่เหมาะสม” ทั้งนั้น

คนที่แสดงความเห็นหรือเสนอความจริงอะไรที่ไม่เหมาะสมย่อมต้องรับโทษทัณฑ์ต่างๆกันไป เช่น กาลิเลโอถูกบังคับให้ถอนการเสนอความคิดสนับสนุนตามทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสที่ว่าด้วยดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล โดยมีดาวเคราะห์ต่างๆรวมทั้งโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังถูกกักบริเวณภายใต้การควบคุมของศาสนจักรและถูกบังคับไม่ให้สอนและเผยแพร่ทฤษฎีใดๆที่ขัดแย้งกับคำสอนทางศาสนา

ในยุคสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenment) เมื่ออิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) เสนอว่า “การกระทำตามกฎของศาสนจักรและกฎของรัฐเผด็จการไม่ใช่การมีศีลธรรม” เพราะการมีศีลธรรมต้องเกิดจากการใช้เหตุผลของตนเองและมีเสรีภาพที่จะเลือกกระทำในสิ่งที่เหตุผลของตนเองบอกว่าถูกต้อง โดย “ความถูกต้อง” นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของมนุษย์ทุกคน

ปรากฏว่าคานท์ถูกกษัตริย์ส่งจดหมายเตือนให้ระวังเรื่องวิจารณ์ศาสนาและการเมือง พวกนักบวชที่ไม่พอใจความคิดของคานท์ถึงขนาดเอาชื่อ Immanuel Kant ไปตั้งชื่อสุนัขของตัวเอง แต่ความคิดของคานท์ได้ให้กำเนิด “ศีลธรรมทางโลก” (secular morality) หรือศีลธรรมสมัยใหม่ที่ถือว่าความดีหรือความถูกต้องไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “นิสัยที่ดีของคน” ที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็น “คนดี” แต่ขึ้นอยู่กับการทำตาม “หลักการ” ที่เคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของมนุษย์ ความคิดของคานท์จึงเป็นรากฐานสำคัญของการเกิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลในเวลาต่อมา

ฉะนั้นมาตรฐานความเหมาะสมในโลกสมัยใหม่ (ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 17-18) จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจศาสนจักรและอำนาจรัฐเผด็จการยุคเก่าอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับหลักการสากลคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

เมื่อยึดหลักการสากลนี้ก็แปลว่าอำนาจที่จะตัดสินว่าอะไรคือ “ความเหมาะสม-ไม่เหมาะสม” ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลแต่ละคน ตราบใดที่ปัจเจกบุคคลเสนอความรู้ แสดงความคิดเห็น สร้างงานศิลปะ แสดงออกทางการเมือง หรือแสดงออกในเรื่องใดๆที่ยังเคารพสิทธิเสรีภาพคนอื่นและไม่ละเมิดหลักความเสมอภาค การกระทำของเขาย่อมถือว่าอยู่ในขอบเขตความเหมาะสม จะเกินเลยขอบเขตความเหมาะสมก็ต่อเมื่อเขาละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น หรือปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่เคารพ “ความเป็นคนเท่ากัน” เท่านั้น

นี่ศตวรรษที่ 21 แล้ว ความคิดของสังคมไทยยัง “ไม่ลงตัว” ว่ามาตรฐานหรือ “ขอบเขต” ของความเหมาะสมคืออะไร?

เราพูดเรื่อง “ความพอดี” แต่ขอบเขตที่ชัดเจนของความพอดีอยู่ตรงไหน ใครเป็นคนกำหนดว่าแค่ไหนคือ “พอดี” อีกอย่างเราเน้นเรื่อง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งมักเชื่อมโยงกับ “ชั้นสูง” เช่น โขนเป็นศิลปะชั้นสูง เพราะเป็นศิลปะที่เคยแสดงในราชสำนัก ฉะนั้นตัวละครสำคัญของโขนอย่างทศกัณฐ์จึงศักดิ์สิทธิ์ จะเอาไปล้อเล่นไม่ได้

ความคิดเรื่อง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของสูง ของชั้นสูง” มักยึดโยงอยู่กับ “ความเป็นไทย” แต่อะไรๆที่ถูกทำให้ “มีความเป็นไทย” มักจะมีความหมายเพี้ยนไปจากเดิม

เช่น “ทศกัณฐ์อินเดีย” ที่เคยเป็นตัวแทนชนเผ่าทราวิฑซึ่งเป็นชนชั้นต่ำในอินเดีย เมื่อถูกทำให้เป็น “ทศกัณฐ์ไทย” ก็กลายเป็นของสูง ของศักดิ์สิทธิ์ที่แตะไม่ได้

พระภิกษุ สมณะในพุทธศาสนาแบบอินเดียไม่มีชนชั้น เมื่อถูกทำให้เป็นพระภิกษุไทย สมณะไทย ก็กลายเป็นพระ เป็นสมณะที่มีชนชั้น พระภิกษุ สมณะแบบอินเดียบวชเพื่อความหลุดพ้นเท่านั้น แต่พระภิกษุ สมณะไทยบวชหน้าไฟ บวชแก้บน บวชล้างซวย บวชแทนคุณ บวชก่อนเบียด บวชเรียนธรรมะแต่ขอให้รัฐออกกฎหมายใส่คำว่า “ดร.” นำหน้าชื่อให้หน่อย บวชอยู่นานก็ต้องไต่เต้าสู่สมณศักดิ์ที่สูงขึ้นเป็นชั้นๆ เหมือนทหารที่ไต่เต้ามีตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับชั้นยศ

พุทธศาสนาไทย ระบบสงฆ์ไทย พระไทย สมณะไทย จึงไม่มีอะไรเหมือนพุทธศาสนาอินเดีย ภิกษุอินเดีย สมณะอินเดียอีกเลย แต่อ้างว่าตนเองรักษา “ธรรมวินัยของแท้และดั้งเดิม” เอาไว้เป๊ะที่สุด

ฉะนั้นภายใต้ความเป็นไทย ความเหมาะสมจึงขึ้นอยู่กับว่าใครมีอำนาจตัดสิน ไม่ใช่เหมาะสมเพราะสอดคล้องหรือตรงกับความหมายและคุณค่าดั้งเดิม ไม่ใช่เหมาะสมเพราะสอดคล้องและเคารพหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แต่เหมาะสมเพราะกลุ่มคนที่มีอำนาจ “ควบคุมความหมาย” และ “กฎเกณฑ์” ของสังคมบอกว่าเหมาะสม

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


You must be logged in to post a comment Login