วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567

‘ทศกัณฐ์’โปรโมตท่องเที่ยวไทย ท้าทายการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On October 3, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

หลายสัปดาห์ก่อนผมได้อ่านข้อเขียนของรองศาสตราจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งทั้งสองเป็นนักวิชาการทางด้านปรัชญาและศาสนา เป็นข้อเขียนที่สืบเนื่องจากการถกหาความจริงในแง่พระพุทธศาสนากับศาสนาคริสต์ ซึ่งในที่นี้ผมจะไม่ขอกล่าวถึง คงกล่าวถึงเพียงเฉพาะข้อคิดพิเศษจากอาจารย์ธเนศที่บอกว่าท่านไม่สนใจว่าใครจะเป็น great thinker คือไม่สนว่าใครจะเป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่เพียงใด แต่ท่านถือหลักการแบบแกงโฮะ คือเก็บรายละเอียดจากทุกๆคน

ผมได้นำแนวคิดแกงโฮะมาใช้สำรวจในข้อคิดและงานเขียนของ Arnold Toynbee เช่นกันคือ เก็บเล็กเก็บน้อยมาผสมจนประมวลมานำเสนอในงานเขียน ความคิดและข้อมูลเหล่านี้คงเปรียบเสมือนแกงโฮะ แต่ทำให้ผมรู้จัก Arnold Toynbee มากขึ้น มีนักอ่านคนหนึ่งจากสิงคโปร์โพสต์ข้อความว่า อดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่คือ ลี กวน ยู ได้ใช้เวลาอ่านงานเขียนของ Arnold Toynbee ซ้ำหลายครั้ง และจับเอาแนวคิดดึงให้สิงคโปร์ก้าวจากหมู่เกาะที่ยากไร้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

แนวคิดหลักคือ ตราบใดที่สังคมยังต้องพัฒนาต่อไปจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายของยุคสมัยใหม่ๆเสมอ ลี กวน ยู จึงใช้ทฤษฎี challenge and respond คือการท้าทายและการตอบสนองยุคสมัย ต้องเอาชนะสิ่งนั้นให้ได้เพื่อนำพาสังคมก้าวฝ่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เป็นไปด้วยเหตุผลภายใต้ทฤษฎี challenge and respond แบบที่เรียกว่า “วิวัฒนาการ”

กลุ่มที่ challenge ได้นั้น เขาใช้ภาษาอังกฤษว่า minority creative ซึ่งต้องถามว่าคือกลุ่มไหน ถ้าเป็นในยุโรปสมัยก่อนก็อาจเป็นกลุ่มชนชั้นกรรมาชีพที่ถือว่ามีอิทธิพลในสังคมยุโรป เป็นพวกฐานล่างที่ควบคุมการผลิตไว้ในมือ แต่สำหรับสังคมไทยในระยะพันปีมาจนปัจจุบัน การจะนิยามถึง creative minority อาจกล่าวอีกอย่างได้ว่า คือพวก minority dominant ซึ่งผมตีความเอาเองว่าน่าจะหมายถึงกลุ่มอำนาจที่สามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในเรื่องของอารยธรรมและความคิดไว้ได้ ซึ่งในสังคมไทยอาจหมายถึงกลุ่ม hierarchy หรือพวกแนวคิดอนุรักษ์นิยม หรือเป็นฝ่ายตรงกันข้าม

ข้อคิดของ Arnold Toynbee มีความชัดเจนที่ไม่เห็นด้วยกับการหาทางออกให้สังคมด้วยวิธีที่รุนแรง ดังจะเห็นจากการกล่าวถึงความคิดของเลนินที่บอกว่า ความคิดของเลนินถือว่าบิดเบือนหลักการของ Marxian ซึ่งชาว Marxism ไม่ควรถือเป็นกฎเกณฑ์เยี่ยงอย่าง กล่าวคือ เขายังคงยอมรับการแบ่งช่วงเวลาของประวัติศาสตร์โลกในทางทฤษฎีของมาร์กซิสต์ ซึ่งแบ่งจากสังคมชนเผ่าที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นสังคมศักดินา แล้วพัฒนาการมาเป็นสังคมทุนนิยมก่อนเข้าสู่ช่วงเวลาของการเป็นสังคมนิยม และสุดท้ายก็คือสังคมคอมมิวนิสต์ แต่เขาไม่เห็นด้วยที่เลนินไปประยุกต์ให้ใช้ความรุนแรงและจับอาวุธเข้ามาโค่นอำนาจรัฐ แม้ Arnold Toynbee จะปฏิเสธความรุนแรง แต่ก็มีวงเล็บว่าความรุนแรงนั้นต้องชอบธรรมและถูกต้องเพื่อปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า

ความจริงแล้ว Arnold Toynbee ให้ความสำคัญเท่ากันระหว่างการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดกับการต่อสู้เพื่อดำรงรักษา ตรงนี้ผมไม่ได้บอกว่าแนวคิดของ Arnold Toynbee จะยอมให้สยบต่ออารยธรรมหรือผู้ปกครองที่เอารัดเอาเปรียบ แต่เขาเชื่อว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมหรือประวัติศาสตร์คือพัฒนาการของกระบวนการจิตวิญญาณ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์หรือคุณสมบัติทางธรรมชาติที่ซับซ้อน แต่มีข้อคิดเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์นั้น เขาไม่ได้บอกว่าจะเกิดจาก challenge and respond อย่างเดียว ถ้าหากสิ่งที่ควรจะเป็นไปไม่เป็นทางออกของอารยธรรม ก็มีทางออกอีกประการคือ การแตกหักที่เกิดจากการถอนตัวของกลุ่มอำนาจความเชื่อที่ครอบคลุมพื้นที่ในสังคมได้มากกว่า โดยเมื่อถอนตัวแล้วจะสามารถเปลี่ยนแปลงอารยธรรมได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างในสังคมไทย ตอนนี้ผมเข้าใจว่าอารยธรรมที่ครอบคลุมพื้นที่ในสังคมได้มากกว่าก็คืออารยธรรมแบบอำนาจนิยม หากกระบวนการพัฒนาไม่ดำเนินไปอย่าง challenge and respond ถึงสุดท้ายแล้วศูนย์กลางของอารยธรรมดังกล่าวก็อาจดึงตัวออกมาและส่งผลสู่การเปลี่ยนแปลงได้ โดยข้อเท็จจริงนี้ต้องเข้าใจความหมายของอารยธรรมในแง่ที่กว้าง

ทีนี้ย้อนมาดูในประเทศไทย ความหมายของอารยธรรมผมว่าเราน่าจะนิยามให้เห็นถึงความคิดแบบอนุรักษ์นิยมกับเสรีแบบยุคใหม่ ไม่ต้องไปพูดเรื่องอำนาจและการเมือง เอาแค่เหตุการณ์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกลุ่มความคิดใหม่ทำ MV โฆษณาการท่องเที่ยวไทยโดยนำทศกัณฐ์มาโปรโมต ก็ถูกกลุ่มความคิดอนุรักษ์นิยมต่อต้านว่าเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะทศกัณฐ์เป็นราชาแห่งยักษ์ เป็นของสูงส่ง ไม่ควรเอามาใช้เช่นนี้

บทความนี้ผมขอเพิ่มเติมแนวคิดของ Arnold Toynbee อีกข้อคือ ถ้าสังคมไม่ยอมพัฒนาความท้าทายไปตามยุคสมัยและดำเนินไปโดยวิธี challenge and respond ก็อาจต้องเปลี่ยนไปเป็น withdraw and change ถ้าไม่เป็นไปตาม 2 อย่างนี้แล้วก็เหลือทางเดียวคือ การเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังและใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งอาจหมายความถึงปฏิกิริยาในลักษณะคล้ายการสำรอกหรืออาเจียนออกมา จะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเป็นไปตามเคราะห์กรรม

ผมยังสนใจคำพูดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เคยกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆควรจะเป็นไปโดยสมดุล คือเป็นการเปลี่ยนโดย Evolution เป็นการเปลี่ยนโดยวิวัฒนาการ สอดคล้องกับทฤษฎี challenge and respond ซึ่งต้องเป็นไปภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นแล้วก็จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ Revolution คือการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติ ไม่ว่าฝ่ายไหนจะปฏิวัติ จะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายตรงกันข้าม ก็ล้วนเป็นแบบ Top down ทั้งสิ้น!


You must be logged in to post a comment Login