วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ถล่มนิวยอร์ก / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On October 3, 2016

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

การลอบวางระเบิดใจกลางกรุงนิวยอร์กเมื่อหลายวันก่อนสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั่วโลก แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าเป็นเพียงอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมหานครแห่งนี้ เพราะนิวยอร์กถูกลอบวางระเบิดมาแล้วไม่น้อยกว่า 400 ครั้ง

แค่ช่วงระยะเวลา 18 เดือน ระหว่างปี 1969-1970 เมืองนิวยอร์กถูกลอบวางระเบิดมากถึง 370 ครั้ง โดยฝีมือของคนกลุ่มต่างๆด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ก่อการร้ายต่างชาติตลอดจนถึงฝีมือของคนอเมริกันด้วยกันเอง

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการลอบวางระเบิดในกรุงนิวยอร์กเริ่มต้นในปี 1969 ย้อนหลังกลับไปหลายสิบปีก่อนในปี 1914 Anarchist Black Cross กลุ่มฝักใฝ่ลัทธิอนาธิปไตย วางแผนลอบสังหารมหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจน้ำมัน จอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ ด้วยการใช้ระเบิดอานุภาพร้ายแรงถล่มบ้านพักอาศัยของเขา

คนร้ายประกอบวัตถุระเบิดในอพาร์ตเมนต์เลขที่ 1626 ถนนเล็กซิงตัน ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านพักของจอห์นเท่าไรนัก แต่เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้เกิดการระเบิดขึ้นก่อน ทำให้อพาร์ตเมนต์สูง 7 ชั้นพังถล่ม และคนร้าย 3 คนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

แต่กลุ่มฝักใฝ่ลัทธิอนาธิปไตยยังไม่หยุดการเคลื่อนไหว ปีถัดมาพวกเขาวางแผนวางระเบิดบ้านพักของจอห์น ดี. อาร์ชโบลด์ ประธานบริษัทสแตนดาร์ดออยล์ โชคดีที่คนสวนมาพบระเบิดเสียก่อนจึงแจ้งตำรวจให้มาเก็บกู้วัตถุระเบิดได้ทันเวลาก่อนจะเกิดระเบิดขึ้น

เรื่องคุ้นเคย

เที่ยงตรงวันที่ 16 กันยายน 1920 คนร้ายไม่ทราบจำนวนนำรถม้าบรรทุกระเบิดน้ำหนัก 45 กิโลกรัม กับเศษโลหะน้ำหนัก 230 กิโลกรัม เพื่อใช้เพิ่มอำนาจการทำลายล้าง ไปจอดที่บริเวณสี่แยกถนนวอลล์สตรีทตัดกับบรอดสตรีท แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 38 คน และได้รับบาดเจ็บ 143 คน

จากการสืบสวนตำรวจเชื่อว่าคนร้ายเป็นผู้ก่อการร้ายชาวอิตาเลียนที่ต่อต้านระบอบทุนนิยม และเป้าหมายในครั้งนี้คือ เจ. พี. มอร์แกน เจ้าพ่อธุรกิจการเงิน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับจุดที่คนร้ายนำรถม้ามาจอดไว้

หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวการวางระเบิดวอลล์สตรีทเหมือนกับว่าไม่ใช่ข่าวใหญ่ของปี ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านี้มีการวางระเบิดหลายต่อหลายครั้ง ทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาของคนนิวยอร์ก

หลังการระเบิดที่อพาร์ตเมนต์เล็กซิงตันในปี 1914 ก็มีการวางระเบิดบ้านผู้พิพากษาคนหนึ่งที่ถนนสาย 61 ในปี 1919 โดยกลุ่มฝักใฝ่ลัทธิอนาธิปไตย มีการวางระเบิดเพื่อทำร้ายคู่แข่งระหว่างแก๊งอันธพาลอีกหลายครั้ง หลังจากนั้นก็มีจดหมายขู่วางระเบิดตามสถานที่ต่างๆปลิวว่อนไปตามสำนักข่าวต่างๆแทบทุกวัน

เมืองเป้าหมาย

การวางระเบิดในเมืองนิวยอร์กเกิดขึ้นเป็นประจำ วันที่ 11 กันยายน 1938 เกิดการระเบิด 2 ครั้งที่ถนนสาย 29 เมื่อก้าวเข้าสู่รุ่งอรุณของเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 การวางระเบิดในกรุงนิวยอร์กก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทวีคูณ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่านิวยอร์กเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจจึงทำให้ตกเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้าย จำนวนจดหมายขู่วางระเบิดเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 400 ฉบับ

วันที่ 20 มิถุนายน 1940 เกิดระเบิดที่อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของเมืองนิวยอร์ก หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันก็มีคนพบระเบิดเวลาซุกซ่อนอยู่ในห้องจัดแสดงนิทรรศการของประเทศอังกฤษในงานแสดงระดับโลก “นิวยอร์กเวิลด์แฟร์”

ตำรวจกันฝูงชนออกจากพื้นที่ก่อนจะส่งเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด โจ ลินช์ และเฟรดดี้ โซชา ไปยังที่เกิดเหตุ แต่โชคร้ายที่ระเบิดทำงานก่อนที่เจ้าหน้าที่เก็บกู้จะถอดชนวนสำเร็จ ทำให้ทั้งคู่เสียชีวิตทันที

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนชาวเมืองนิวยอร์กต้องอกสั่นขวัญแขวนกับการถูกขู่วางระเบิดต่อเนื่อง ชนิดที่เรียกว่าทุกคนมีสิทธิถูกหวยโดยไม่ทันตั้งตัวได้ทุกเมื่อ โดยไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะมีการระเบิดที่ไหนหรือเมื่อไร

วางระเบิดต่อเนื่อง

หลังสิ้นสุดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 จอร์จ มีเทสกี้ อดีตทหารช่างประจำฐานทัพสหรัฐในเซี่ยงไฮ้ปลดประจำการ เดินทางกลับมาบ้านเกิดที่อเมริกา เขาทำงานเป็นช่างดูแลเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่บริษัทในเครือคอนเอดิสันแห่งหนึ่งในกรุงนิวยอร์ก จนกระทั่งวันหนึ่งในปี 1931 เกิดอุบัติเหตุเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระเบิด ทำให้จอร์จได้รับบาดเจ็บสาหัส

จอร์จรักษาตัวนานกว่า 2 ปี โดยบริษัทคอนเอดิสันจ่ายเงินเดือนให้ตามปรกติเป็นเวลา 26 เดือน เพราะเขาได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่หลังจากนั้นบริษัทก็จำหน่ายชื่อเขาออกจากการเป็นพนักงานบริษัทและยุติการจ่ายเงินเดือน จอร์จจึงฟ้องร้องต่อศาลเรียกร้องให้บริษัทคอนเอดิสันจ่ายเงินชดเชยจำนวนหนึ่งให้กับเขา แต่ศาลมีความเห็นว่าคดีหมดอายุความไปแล้วจึงไม่รับฟ้อง

จอร์จยื่นอุทธรณ์ถึง 3 ครั้ง แต่ก็ถูกศาลปฏิเสธรับพิจารณาคดีทุกครั้ง ทำให้เขาเกิดความเคียดแค้นชิงชังบริษัทคอนเอดิสันที่ไม่ยอมรับผิดชอบ เมื่อหมดที่พึ่งจอร์จจึงตัดสินใจวางระเบิดบริษัทคอนเอดิสันเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 1940 โดยทิ้งข้อความว่า “คอนเอดิสันจอมโกง นี่คือสิ่งที่แกควรได้รับ”

นับตั้งแต่นั้นมาจอร์จก็ขู่วางระเบิดสถานที่หลายแห่งแต่ไม่ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นอาคารหลังไหน และไม่บอกเหตุผลว่าทำไมจึงเลือกวางระเบิดสถานที่นั้น เมื่ออ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ถูกญี่ปุ่นโจมตีในปี 1941 ทำให้จอร์จยุติการวางระเบิดชั่วคราว โดยเขาส่งข้อความถึงตำรวจนิวยอร์กว่า “ขอยุติการวางระเบิดไว้ชั่วคราว ขณะนี้อเมริกาอยู่ระหว่างทำสงคราม ผมก็เป็นคนรักชาติคนหนึ่ง”

สานต่องานค้าง

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จอร์จก็กลับมาตามที่สัญญาไว้ เขาเริ่มวางระเบิดอีกครั้งในปี 1951 โดยเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นแหล่งที่มีคนสัญจรพลุกพล่าน เช่น สถานีขนส่งแกรนด์เซ็นทรัลถูกวางระเบิด 5 ครั้ง สถานีขนส่งเพนซิลเวเนียถูกวางระเบิด 5 ครั้ง โรงละครเรดิโอซิตี้ถูกวางระเบิด 3 ครั้ง หอสมุดนิวยอร์กและชุมทางรถโดยสารถูกวางระเบิด 2 ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่นอีกหลายแห่งถูกวางระเบิด รวมแล้วช่วงระหว่างปี 1951-1956 จอร์จวางระเบิดไป 33 ครั้ง เกิดการระเบิด 22 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 15 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ในที่สุดตำรวจก็สืบสวนจนแน่ใจว่ามือระเบิดรายนี้คือ จอร์จ จึงนำกำลังบุกจับกุมตัวกลางดึกของวันที่ 21 มกราคม 1957 เขาถูกส่งตัวไปบำบัดที่สถานกักกันผู้ป่วยทางจิตเป็นเวลา 16 ปี

หลังจากนั้นอีก 12 ปีต่อมา ก็มีคนร้ายอีกคนที่ลอกเลียนแบบการวางระเบิดต่อเนื่องของจอร์จ ในปี 1969 แซม เมลวิลล์ วางระเบิดใจกลางกรุงนิวยอร์ก 8 ครั้ง แต่เหตุผลที่ทำแตกต่างออกไป เพราะคราวนี้เป็นเรื่องการเมือง

ช่วงระหว่างทศวรรษ 1970-1980 เกิดการวางระเบิดในกรุงนิวยอร์กอย่างน้อย 49 ครั้งโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่ม ซึ่งสถานที่ที่ถูกวางระเบิดมีทั้งสนามบินนานาชาติเจเอฟเค สนามบินลากวาร์เดีย สำนักงานสหประชาชาติ และอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ

เหตุวางระเบิดใจกลางมหานครนิวยอร์กถึงแม้จะน่าตื่นตระหนก แต่ประวัติศาสตร์ทำให้เราเรียนรู้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด ซึ่งอาจเป็นเพราะนิวยอร์กเป็นเมืองสัญลักษณ์ของลัทธิทุนนิยมตามความเชื่อของคนบางกลุ่ม


You must be logged in to post a comment Login