วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

‘บอนไซ’การเมือง / โดย ลอย ลมบน

On September 19, 2016

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

การทำกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นทางการ

แต่ดูทรงจากข้อเสนอทั้งผู้เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องในฝ่ายคุมอำนาจแล้วดูเหมือนจะพร้อมใจกันบอนไซพรรคการเมือง นักการเมือง ไม่ให้มีโอกาสเติบโต ได้รับความนิยมจากประชาชน

เมื่อพิจารณาจากข้อเสนอต่างๆจะเห็นว่าต้องการบอนไซฝ่ายการเมืองตั้งแต่แรกเกิด คือการจัดตั้งพรรคการเมือง

พยายามตัดทอนอำนาจทุนเพื่อไม่ให้คนมีเงินเข้ามามีอำนาจเหนือพรรคการเมือง ซึ่งตามหลักการถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะพรรคการเมืองควรเป็นของประชาชน ไม่ใช่ให้ใครชี้นิ้วสั่งได้เพราะเป็นคนจ่ายเงินทุนอุดหนุนพรรค

แต่ในทางปฏิบัติการทำพรรคการเมืองใครก็รู้ว่าต้องใช้เงินสูง

หากไม่มีนายทุนกระเป๋าหนักคอยให้การสนับสนุน โอกาสที่พรรคการเมืองนั้นจะดำรงอยู่หรือเติบโตก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

ความจริงเราไม่ควรรังเกียจนายทุนพรรคการเมือง หากนายทุนนั้นไม่ได้ลงเงินเพื่อหวังกอบโกยถอนทุนโดยอาศัยอำนาจที่ได้มาของพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง

การหาแนวทางควบคุมการโกงเพื่อถอนทุนเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่าการออกมาตรการสกัดกั้นเงินทุน

หากพรรคการเมืองไม่มีเงินทุนมากพอที่จะใช้ทำกิจกรรมต่างๆ จะทำให้เราได้พรรคเล็กกระจัดกระจายหลายพรรค

เหมือนสร้างบ้าน ถ้างบน้อยก็ได้บ้านหลังเล็กเป็นธรรมดา

ประการต่อมาที่จะนำมาใช้ควบคุมพรรคการเมืองที่พูดกันคือ คุมตั้งแต่การหาเสียง

ทั้งห้ามใช้นโยบายประชานิยมหาเสียงกับประชาชน หรือต้องส่งแนวนโยบายให้พิจารณาก่อนว่าอันไหนใช้หาเสียงได้ อันไหนใช้หาเสียงไม่ได้

ยังไม่รวมแนวคิดออกกฎหมายเพื่อควบคุมนโยบายประชานิยม ทั้งที่มีแนวนโยบายแห่งรัฐกำหนดในรัฐธรรมนูญตีกรอบให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว

หากมีอะไรหลุดรอดก็ยังมีแนวคิดที่จะให้มีมาตรการลงโทษพรรคการเมืองที่ไม่สามารถทำตามนโยบายหลักที่ใช้หาเสียงได้

พรรคการเมืองในอนาคตจึงไม่ต่างจากต้นบอนไซที่ถูกคุมไม่ให้เติบใหญ่ แถมคุมรูปทรงให้เป็นไปตามที่ฝ่ายมีอำนาจในปัจจุบันต้องการอีกด้วย

นี่ยังไม่รวมระบบเลือกตั้งใหม่แบบจัดสรรปันส่วนที่จะทำให้คะแนนเสียงของพรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก

จำนวน ส.ส. กระจัดกระจายกันไปตามพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภา

แม้จะชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ไม่ใช่แค่พรรคเดียวหรือ 2-3 พรรคอย่างที่เคยมีมา

การมีรัฐบาลผสมหลายพรรคก็เพื่อไม่ให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งมากเกินไป เพราะต้องคอยกังวลกับเสียงสนับสนุนในสภาด้วย

อนาคตของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปลายปีหน้าจึงจะเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยที่ทำอะไรไม่ได้มาก

การเมืองหลังปฏิรูปจะวนกลับไปสู่จุดเดิมเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำอะไรได้มาก

อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าแม้กฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน แต่ก็พอมองเห็นทิศทางแล้วว่าทุกอย่างจะเดินไปตามแนวทางนี้

ในอดีตเราเคยมีบทเรียนมาแล้วจากการมีรัฐบาลผสมหลายพรรค ทำให้มองเห็นจุดอ่อนของการเมือง

จึงคิดแก้ไขด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อให้การเมืองมีความเข้มแข็ง ให้พรรคการเมืองเติบโต เพื่อจะได้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารประเทศ ไม่ต้องยุบสภาเลือกตั้งกันบ่อยๆ การพัฒนาประเทศจะได้ไม่หยุดชะงัก

พัฒนาการทางการเมืองกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดี จะเหลือแค่ 2 พรรคใหญ่ให้ตัดสินใจเลือกเหมือนกับการเมืองในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ

วันนี้เราบอกว่าต้องสร้างประชาธิปไตยแบบไทยๆ ประชาธิปไตยที่เป็นของเราเอง เปรียบประชาธิปไตยเป็นเสื้อว่าตัดเสื้อตัวเดียวไม่สามารถให้คนทั้งโลกใส่ได้

ทั้งที่เรามีบทเรียนจากอดีต มีข้อผิดพลาดที่เป็นกรณีศึกษา

แต่วันนี้เราจะเลือกเดินกลับไปสู่จุดเดิม ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงและเป็นเดิมพันใหญ่

ถ้าการเมืองกลับไปเละเทะเหมือนก่อนใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 คิดจะแก้ไขก็ทำได้ยาก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติมีข้อกำหนดให้แก้ไขได้ยากมาก

หากจะแก้ไขหรือปฏิรูปอะไรใหม่ แนวทางที่ง่ายที่สุดคือยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

แล้วใครล่ะที่มีศักยภาพพอที่จะฉีกรัฐธรรมนูญ


You must be logged in to post a comment Login