วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ด่านทดสอบ ม.44 / โดย ลอย ลมบน

On September 12, 2016

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้ออกคำสั่งมาแล้วหลายเรื่อง กำลังมาถึงด่านทดสอบอำนาจที่สำคัญ

แม้จะยังไม่ได้ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ว่าเป็นด่านสำคัญนี้ออกมา แต่แค่ขยับก็เจอการท้าทายครั้งใหญ่แล้ว

เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเดินหน้าหารือกับผู้เกี่ยวข้องอย่างจริงจังเพื่อพิจารณาแนวทางเสนอให้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว สั่งการเดินหน้าสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์

ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองในยามเกิดวิกฤตภัยแล้งและป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง

รัฐมนตรีเกษตรฯระบุว่า เรื่องนี้ไม่ได้คิดเอง แต่เป็นบัญชามาจากนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทำแผนน้ำระยะ 12 ปี เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำได้ครบวงจรและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน

“เรามีทั้งโครงการสร้างแก้มลิง สร้างฝาย สร้างเขื่อน แต่พอจะทำโครงการอะไรที่เกี่ยวกับน้ำมันลำบาก เกิดยาก เพราะแม้ว่าชาวบ้านต้องการได้น้ำมาเพาะปลูกพืชหรือทำเกษตรได้หลากหลาย เช่น การสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ก็ถูกต่อต้านจากพวกเอ็นจีโอ เพราะกลัวเสือตาย ไม่มีที่อยู่ ผมก็คิดในใจว่าเสือไม่มีขาวิ่งหนีน้ำหรือ ดังนั้น จึงจะไปดูว่าใช้มาตรา 44 เข้ามาทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้เดินหน้า และผมจะเจรจากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะพื้นที่สร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ จะอยู่ในเขตอุทยานฯ ป่าไม้ โดยจะเจรจาขอให้ยกเว้นบางเรื่อง”

นอกจากนี้ยังมีคำยืนยันมาจากนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ว่าเขื่อนแม่วงก์ยังไงก็ต้องสร้าง เพราะจะใช้ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีและนครสวรรค์ได้ ที่ผ่านมาได้ศึกษาทางเลือกไว้หมดแล้ว ซึ่งทางเลือกๆอื่นถ้าไม่สร้างเขื่อน เช่น ขุดบ่อ สร้างสระ สร้างฝาย มันแทนกันไม่ได้ เพราะอ่างที่เล็กและตื้นน้ำจะแห้งไปหมด ไม่เหมือนเขื่อนที่กักน้ำได้ จึงขอให้เปรียบเทียบดูว่าอันไหนคุ้มกว่ากัน

นั่นคือที่มาของเรื่องที่ทำให้เชื่อว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่กฎหมายเขียนไว้ให้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้นมาถึงจุดที่จะถูกท้าทาย

ทันทีที่ฝ่ายรัฐเริ่มขยับสร้างเขื่อนแม่วงก์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน.) และเครือข่ายองค์กรภาคีได้ออกแถลงการณ์ทันทีให้หยุดใช้มาตรา 44 สร้างเขื่อนแม่วงก์

ตามแถลงการณ์ให้เหตุผลว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุผลในการดำเนินการ การเร่งรัดก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 โดยมิได้พิจารณาผลกระทบและทางเลือกจัดการน้ำอย่างรอบด้าน มีแต่จะทำให้เกิดความมืดบอดในการจัดการน้ำของประเทศ

เช่นเดียวกับนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนำคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ประกาศคัดค้านการใช้อำนาจมาตรา 44 ในครั้งนี้

“ท่านรัฐมนตรีครับ พวกเอ็นจีโอไม่ได้กลัวเสือตาย แต่เราอยากให้ท่านทราบคุณค่าของระบบนิเวศและผลกระทบของการสร้างเขื่อนในพื้นที่นั้น ถ้าท่านผลักดันตอนนี้ ผมก็ค้านท่านเต็มที่แหละครับ ท่านปลัดธีรภัทรที่ท่านดึงไปช่วยงานก็รู้เรื่องดี ท่านก็ถามข้อมูลก่อนที่จะให้ข่าวอะไรแบบนี้บ้าง และน่าจะมาหาทางออกร่วมกันในการพิจารณาแก้ไขปัญหาทางเลือกการจัดการน้ำที่เป็นไปได้กันครับ ผมพร้อมนะครับท่านฉัตรชัยเรื่องเขื่อนแม่วงก์ จะคุยกันอย่างไร ประชุมคุยกันว่าค้านทำไม หรือจะพบกันบนถนน”

นั่นเป็นข้อความที่นายศศินโพสต์ลงบนเฟซบุ๊ค Sasin Chalermlarp

“จะคุยกันด้วยเหตุผลหรือเจอกันบนถนน”

ประโยคนี้จะเป็นด่านทดสอบอำนาจมาตรา 44 อย่างแท้จริง หากมีการออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 สร้างเขื่อนแม่วงก์

นอกจากจะเป็นด่านทดสอบอำนาจมาตรา 44 แล้ว ยังเป็นด่านทดสอบประกาศ คำสั่งอื่นๆของ คสช. เกี่ยวกับการชุมนุมด้วย ถ้าหากมีคำสั่งให้ก่อสร้างและมีการรวมตัวกันออกมาเดินคัดค้านบนถนนอย่างที่พูดไว้จริง

จึงต้องรอดูว่าเมื่อหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องหารือกันจนตกผลึกแล้วชงเรื่องถึงมือหัวหน้า คสช. หัวหน้า คสช. จะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

จะใช้วิธีเรียกกลุ่มคัดค้านเข้ามาคุยเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน หรือจะลุยไฟใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งตามที่ผู้เกี่ยวข้องชงของร้อนมาให้

แม้ที่ผ่านมาจะใช้อำนาจออกคำสั่งไปหลายเรื่องโดยไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน

แต่กับเรื่องสร้างเขื่อนแม่วงก์อาจมีผลที่แตกต่างกันออกไป

อำนาจตามมาตรา 44 เดินทางมาถึงด่านทดสอบที่สำคัญแล้ว


You must be logged in to post a comment Login