วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เมืองกระดาษ / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On September 12, 2016

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

บริษัททำแผนที่ป้องกันคนชุบมือเปิบลอกเลียนแผนที่ที่ทีมงานทำขึ้นมาด้วยความลำบากด้วยการเขียนชื่อเมืองที่ไม่มีอยู่จริงลงในแผนที่ เมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์จึงใช้สิ่งนี้เป็นหลักฐานฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ปรากฏว่าเมืองที่อุปโลกน์ขึ้นมานั้นกลับมีจริงๆ

การทำแผนที่ในสมัยทศวรรษ 1930 ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล เช่น การวัดระยะทาง การคำนวณทิศทาง การระบุตำแหน่งและชื่อสถานที่ให้ถูกต้อง กว่าแผนที่จะเสร็จต้องใช้เวลานานมาก แต่หลังจากแผนที่ถูกวางขายไม่นานก็ถูกบริษัททำธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้แผนที่คัดลอกไปเฉยๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์หรือบริษัทท่องเที่ยว

ปี 1925 บริษัทเจเนอรัลดราฟต์ฟิ่ง ผู้ผลิตแผนที่แสดงเส้นทางในรัฐนิวยอร์ก โดยอ็อตโต จี. ลินด์เบิร์ก (Otto G. Linberg) และผู้ช่วยของเขา เออร์เนสต์ อัลเปอร์ (Ernest Alpers) ตัดสินใจใส่ชื่อเมืองแอ็กโกล (Agloe) ซึ่งไม่มีอยู่จริงริมถนนลูกรังสายเล็กแห่งหนึ่งระหว่างลำธารสปริงบรูกและลำธารบีเวอร์คิล อยู่ทางตอนเหนือของเมืองรอสโค รัฐนิวยอร์ก เพื่อใช้เป็นกับดักป้องกันการลอกเลียน

แอ็กโกลมาจากตัวย่อชื่อและนามสกุลของคนทำแผนที่นั่นเอง (O, G, L และ E, A) เพียงแต่นำตัวอักษรมาสลับที่กันเพื่อให้อ่านออกเสียงได้ ต่อมาบริษัทน้ำมันเอ็กซอนซื้อลิขสิทธิ์แผนที่เส้นทางรัฐนิวยอร์กฉบับนี้ไปพิมพ์แจกลูกค้า โดยเพิ่มตำแหน่งสถานีบริการน้ำมันของเอ็กซอนตามเส้นทางต่างๆ

หลงทางเสียเวลา

ปี 1923 อ็อตโตเดินทางไปตกปลาที่เมืองรอสโค ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีปลาเทราต์จำนวนมาก แต่ขากลับเกิดหลงทางขับรถวนไปวนมาอยู่นานกว่าจะพบทางกลับบ้าน ด้วยเหตุนี้เองทำให้อ็อตโตเกิดความคิดที่จะทำแผนที่บอกเส้นทางออกจำหน่าย และเรื่องราวก็ดำเนินไปตามที่เกริ่นไว้ข้างบน

ปี 1930 อ็อตโตพบแผนที่เส้นทางรัฐนิวยอร์กที่ผลิตโดยบริษัทแรนด์ แมคเนลลีย์ ซึ่งระบุชื่อและตำแหน่งของเมืองแอ็กโกลเหมือนกับในแผนที่ที่เขาทำกับดักเอาไว้ บริษัทเจเนอรัลดราฟต์ฟิ่งจึงฟ้องร้องบริษัทแรนด์ แมคเนลลีย์ ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมีชื่อเมืองแอ็กโกลบนแผนที่เป็นหลักฐานมัดตัวอย่างเหนียวแน่น

เมืองที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาโดยไม่มีอยู่จริงเรียกว่า “เมืองกระดาษ” (Paper Town) คล้ายๆกับตุ๊กตากระดาษที่เด็กๆนำกระดาษมาตัดเป็นรูปคน แต่มันไม่ใช่คนจริงๆ บางครั้งก็เรียกกันตรงตัวเลยว่า “เมืองหลอกๆ” (Fake Town)

คดีนี้น่าจะจบลงอย่างรวดเร็วโดยบริษัทเจเนอรัลดราฟต์ฟิ่งเป็นผู้ชนะคดี แต่เกิดความขัดข้องทางเทคนิคบางประการที่กลับกลายเป็นว่าบริษัทแรนด์ แมคเนลลีย์ เป็นผู้ชนะคดี เพราะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเมืองแอ็กโกลมีอยู่จริง ไม่ใช่แค่เมืองกระดาษอย่างที่บริษัทเจเนอรัลดราฟต์ฟิ่งกล่าวอ้าง

เศรษฐกิจถดถอย

อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า อ็อตโตวางตำแหน่งเมืองแอ็กโกลไว้บนที่รกร้างระหว่างลำธารสปริงบรูกกับลำธารบีเวอร์คิล ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของตระกูลเบียร์ อย่าว่าแต่เมืองเลย บริเวณนั้นไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆทั้งสิ้น จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยในปี 1930

ตระกูลเบียร์เจ้าของที่ดินผืนนี้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขายที่ดินส่วนหนึ่งให้กับนายทุน เจ้าของที่ดินคนใหม่สร้างอาคารพักแรมริมลำธารที่อุดมไปด้วยปลาเทราต์สำหรับผู้นิยมกีฬาตกปลา บนตำแหน่งเดียวกันกับที่อ็อตโตปักหมุดเมืองกระดาษไว้บนแผนที่

เนื่องจากช่วงเวลานั้นบริษัทเอ็กซอนแจกจ่ายแผนที่การเดินทางในรัฐนิวยอร์กออกไปทั่ว เจ้าของที่ดินคนใหม่เลยยึดเอาชื่อในแผนที่ของเอ็กซอนเป็นหลัก ตั้งชื่อสถานที่ของเขาว่า “เรือนพักแอ็กโกล” ซึ่งไม่จำกัดการให้บริการเฉพาะผู้ที่มาพักแรม แต่มีสินค้าชนิดต่างๆให้บริการสำหรับผู้เดินทางมาตกปลาแบบไปเช้าเย็นกลับ บางคนจึงเรียกว่าร้านโชห่วยแอ็กโกล

ไม่ว่าจะเป็นเรือนพักแรมหรือร้านโชห่วยไม่สำคัญเท่ากับชื่อที่ใช้คำว่า “แอ็กโกล” ขึ้นต้น ซึ่งบอกเป็นนัยว่าสถานที่แห่งนี้มีชื่อว่าแอ็กโกลตามที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ จากจุดนี้เองที่บริษัทแรนด์ แมคเนลลีย์ ใช้ต่อสู้ในศาลว่าเขาไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์แผนที่ของบริษัทเจเนอรัลดราฟต์ฟิ่ง เพราะเมืองแอ็กโกลมีอยู่จริงๆ

เกิดแล้วดับ

บริษัทเจเนอรัลดราฟต์ฟิ่งแพ้คดีความอย่างเหนือความคาดหมายเพราะหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่เขามีกลับย้อนมาทิ่มแทงพวกเขาเอง เมืองแอ็กโกลเกิดขึ้นมาเพียงเพื่อสังหารบุคคลที่สร้างมันขึ้นมาแท้ๆ เพราะหลังจากนั้นไม่นานในปี 1944 กิจการของเรือนพักแรมแอ็กโกลก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤตจนต้องเลิกกิจการ ปล่อยทิ้งให้กลายเป็นอาคารร้าง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความสับสนให้กับผู้คนไม่น้อย เมืองแอ็กโกลไม่ควรมีอยู่จริง แต่แล้วจู่ๆก็มีคนทำให้เมืองนี้มีจริงด้วยการปลูกสร้างร้านค้าเพียงหลังเดียว หลังจากบริหารกิจการล้มเหลวเมืองแอ็กโกลก็ล่มสลายไปด้วย ผู้คนเริ่มทักท้วงบริษัทผลิตแผนที่ว่าไม่มีเมืองนี้อยู่ในสารบบ

แม้แต่กูเกิลแม็พก็เคยบรรจุชื่อเมืองแอ็กโกลไว้ในแผนที่ จนกระทั่งมีคนทักท้วงว่าเป็นเพียงเมืองกระดาษที่ไม่มีอยู่จริง พร้อมส่งหลักฐานภาพหญ้าโล่งๆในตำแหน่งนั้นให้ดู กูเกิลแม็พจึงยอมถอดชื่อเมืองแอ็กโกลออกจากแผนที่เมื่อปี 2014

ก่อนที่ชื่อเมืองแอ็กโกลจะหายสาบสูญไปตลอดกาล ในปี 2008 จอห์น กรีน นักประพันธ์ชาวอเมริกัน ได้นำเมืองแอ็กโกลมาเป็นแรงบันดาลใจเขียนนิยายเรื่อง Paper Towns ต่อมาถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และมีโปรแกรมจะลงโรงฉายในเมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว แต่มีเหตุขัดข้องบางประการทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกระงับในบ้านเรา

เป็นไปได้ว่ามีเหตุผลมาจากการเปิดตัวในอเมริกาได้รับการตอบรับที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ซึ่งอาจเป็นเพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรื่องราวในภาพยนตร์ผิดเพี้ยนไปจากที่ได้อ่านในหนังสือ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถูกถอดออกจากโปรแกรมในบ้านเรา

แอ็กโกลอาจไม่ใช่เมืองกระดาษเพียงแห่งเดียว หลายคนเชื่อว่ายังมีเมืองกระดาษอีกหลายแห่งบนแผนที่เพียงแต่ยังไม่มีเรื่องราวที่ทำให้เรื่องปูดขึ้นมาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมืองกระดาษไม่มีความหมายอะไรกับคนในยุคปัจจุบัน เพราะคนสมัยนี้ส่วนใหญ่ใช้กูเกิลแม็พกันหมดแล้ว


You must be logged in to post a comment Login