วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ส.คอนกรีตไทย เผยปี61 ธุรกิจก่อสร้างโต 30%

On September 5, 2016

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ มกระธัช เลขาธิการสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทยเปิดเผยถึงอัตราการก่อสร้างในกรุงเทพมหานครในช่วง 3-5 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 20% โดยคำนวณจากจำนวนโครงการก่อสร้างทั้งของภาครัฐและเอกชน และคาดว่าปี 2561 จะมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นอีกถึง 30%ปัจจุบันกรุงเทพมีโครงการก่อสร้างอาคารสูงพิเศษหลายโครงการ เช่นโครงการมหานคร ที่มีความสูง 314 เมตร ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประเทศไทย และติดอันดับนานาชาติในเรื่องของงานดีไซน์ รวมถึงอาคาร จีทาวเวอร์ ซึ่งเป็นตึกสูงที่น่าสนใจทำให้ต่างชาติได้ยอมรับการก่อสร้างอาคารสูงในประเทศไทยมากขึ้นและโครงการ เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของประเทศไทย ที่มีความสูงกว่า 615 เมตรถือเป็นตึกสูงที่สุดในเอเชียที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นอาคารสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ โดยการลงทุนของบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ “จีแลนด์” เป็นอาคารที่สร้างโดยทีมวิศวกรนักวิจัยและนักวิชาการของไทย ทางสมาคมฯ เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างอาคารสูงในไทยนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การก่อสร้างอาคารที่มีความสูงมากจะติดปัญหาเรื่อง น้ำหนักอาคาร เนื่องจากพื้นดินของไทยเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เป็นดินที่มีความแข็งแรงน้อยกว่าดินในต่างประเทศที่มีการก่อสร้างอาคารสูงและด้วยราคาที่ดินใจกลางกรุงเทพที่มีราคาสูงมาก รวมถึงข้อจำกัดในการบริหารและจัดการที่ดินจึงจำเป็นต้องใช้ที่ดินให้มีความคุ้มค่าเพื่อลดปัญหาด้านต้นทุน การลดน้ำหนักอาคารทางสมาคมจึงได้ร่วมมือกับวิศวกรผู้ออกแบบและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือทำการวิจัยและพัฒนาคอนกรีตกำลังอัดสูงได้ถึง 1,200 กิโลกรัมต่อ 1ตร.ซม.เข้ามาช่วยในงานก่อสร้าง ส่วนเรื่องน้ำหนักของตัวตึกอาจต้องนำเข้าวัตถุดิบ หินภูเขาไฟเข้ามาเสริมอีกทาง เพื่อทำคอนกรีตให้มีน้ำหนักเบา ซึ่งนี่ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แต่ตึกมหานครไม่ได้ใช้เทคโนโลยีนี้เพราะว่าความสูงมหานครแค่ 314 เมตร
อาคารสูงจำเป็นที่ต้องใช้คอนกรีตที่มีคุณภาพสูง และต้องใช้ทักษะวิศวกรรมระดับสูงควบคู่ไปด้วย ทางสมาคมฯ จึงได้ร่วมกับคณะผู้จัดงานConcrete Asia 2016 จัดเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อเรื่อง”ทิศทางการก่อสร้างอาคารสูงในประเทศไทยในปัจจุบัน” โดยเชิญสถาปนิกที่มีความชำนาญด้านอาคารสูงมาพูดถึงมุมมองการก่อสร้างอาคารสูงในอดีตจนถึงปัจจุบันและอีกสิบปีข้างหน้าพร้อมวิศวกรผู้มีประสบการณ์ในการสร้างอาคารสูงกลุ่มบริษัทผู้รับเหมา บริษัท บวิค-ไทย จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารมหานคร บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อสร้างจี ทาวเวอร์ เป็นต้น ทางสมาคมพยายามที่จะผลักดันให้งานวิจัยทางวิชาการสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง ให้เทียบเท่าระดับนานาชาติ

นายเกรียงศักดิ์ ดมอุ่นดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วิสค์คอน แอนด์ ครัมพ์ส จำกัดกล่าวเสริม ตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่จะเข้ามาช่วยในการสร้างอาคารสูงคือ ฟูลลี่ โมบาย แพลน (FullyMobilePlant)ตัวช่วยที่จะนำเครื่องจักรเข้าไปติดตั้งในพื้นที่ได้เสร็จภายในวันเดียว ซึ่งในอนาคตจะต้องได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยประหยัดทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ก่อนใช้เงินหลักหลายร้อยล้านในการนำแพลนปูนไปติดตั้ง ปัจจุบันผู้ประกอบการมีงบเพียง2-3 ล้านบาทก็สามารถนำแพลนปูนไปใช้ได้ ทางเลือกนี้จะเป็นตัวที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสทำธุรกิจ รวมไปถึงช่วยในเรื่องของการแข่งขันในสภาวะที่ต้นทุนน้อยแต่ต้องการคุณภาพของสินค้าที่ดีเหมือนเดิม โดยเครื่องจักรนี้จะนำไปแสดงในงาน Concrete Asia 2016 ด้วย
อนึ่งงานแสดงเทคโนโลยี และการประชุมนานาชาติด้านคอนกรีต Concrete Asia 2016 จัดเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อเรื่อง”ทิศทางการก่อสร้างอาคารสูงในประเทศไทย วันที่ 21 – 23 กันยายน 2559 ณ อาคาร 5 และลานกลางแจ้ง P5อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดมีผู้ประกอบการ และกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างจากประเทศไทย และต่างประเทศร่วมชมงานกว่า 5,000 ราย จากสินค้ากว่า 200 แบรนด์ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.concrete-asia.com


You must be logged in to post a comment Login