วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

ประเทศล้มเหลว สังคมล้มละลาย

On November 1, 2021

บทความพิเศษ โดยศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สังคมไทยในยุคหลังจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว คงไม่แตกต่างจากหลายสังคมในเวทีโลกที่จะเผชิญกับความท้าทายที่มีต่อปัญหาการบริหารภาครัฐและการจัดการทางสังคมชุดใหญ่ ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอถึงวิกฤตที่จะเกิดกับรัฐและสังคมไทยหลังจากการสิ้นสุดของการระบาด และอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตทับซ้อนซึ่งในอีกด้านหนึ่งปัญหาเหล่านี้ได้กลายเป็นปัญหาความมั่นคงในรูปแบบต่างๆที่ท้าทายต่อการวางนโยบายของรัฐบาลในอนาคตของยุคหลังโควิดเป็นอย่างยิ่ง

วิกฤตโรคระบาด : ความมั่นคงด้านสาธารณสุข

สิ่งที่โลกและสังคมไทยกำลังเผชิญก็คือ ปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ การระบาดที่เริ่มขึ้นในจีนตอนปลายปี 2562 และขยายแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในต้นปี 2563 พร้อมกับการกลายพันธุ์ในปี 2564 ภาวะเช่นนี้ได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของโลก อาจจะไม่แตกต่างจากความรุนแรงของไข้หวัดสเปนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนมาก

การระบาดของโควิด-19 กลายเป็นวิกฤตของหลายประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในจีนเองที่เป็นต้นทางของการระบาด ในยุโรป เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา (ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) ด้วย

การระบาดของเชื้อไวรัสชุดนี้บ่งบอกถึงปัญหา ความมั่นคงด้านสาธารณสุข (Health Security) อย่างมีนัยสำคัญ และเท่ากับเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการเตรียมรับมือกับโรคระบาดยังคงเป็นปัญหาสำหรับรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบันเสมอ จะเชื่อว่า “ความเป็นสมัยใหม่” ของสังคมที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางแพทย์ เป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์สามารถต่อสู้และเอาชนะการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ทุกชนิด อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป

ดังนั้น ผู้นำไทยอาจจะต้องตระหนักว่าความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นประเด็นสำคัญ และต้องการการลงทุนจากภาครัฐอย่างเป็นระบบ จะคิดแต่การลงทุนในภาคส่วนของความมั่นคงทางทหารอาจจะไม่เพียงพอ อีกทั้งผู้นำรัฐบาลต้องคิดถึงมาตรการในการรับมือที่มีประสิทธิภาพควบคู่กับการออกแผนปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อหยุดยั้งการระบาดที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า และยังต้องคิดถึงการเตรียมรับวิกฤตนี้ในอนาคตหากเกิดการกลายพันธ์ุของเชื้อไวรัสชุดนี้

วิกฤตรัฐบาล : ความมั่นคงทางการเมือง

หลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 สิ้นสุดลง รัฐบาลจะเผชิญกับแรงเสียดทานทางการเมืองอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าขีดความสามารถใน “การบริหารจัดการวิกฤต” (Crisis Management) ของรัฐบาลประสบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในด้านต่างๆอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่เชื่องช้า การออกมาตรการที่ไม่ชัดเจน ปัญหาการควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาด การควบคุมบุคคลที่ติดเชื้อ การควบคุมการเข้าออกประเทศของบุคคล ตลอดรวมถึงการขาดแผนสนับสนุนที่จะรองรับการออกมาตรการของรัฐบาล นอกจากนี้ในปี 2563 ปัญหาความขาดแคลนหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ ที่เป็นอุปกรณ์พื้นฐานให้ทั้งกับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนโดยทั่วไปนั้น เป็นภาพสะท้อนถึงประสิทธิภาพที่สำคัญของรัฐบาล

สภาวะเช่นนี้ทำให้ยิ่งนานวันคำถามถึงนโยบายและทิศทางการบริหารภาครัฐที่เกิดขึ้นกลายเป็นข้อพิสูจน์ถึงปัญหาประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลอย่างชัดเจน และยังรวมถึงปัญหาความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นในกระบวนการบริหารภาครัฐ เช่น ความเกี่ยวข้องของฝ่ายการเมืองกับการกักตุนหน้ากากอนามัย จนทำให้แม้บุคลากรทางการแพทย์เองก็ขาดแคลนในสิ่งพื้นฐานเหล่านี้ในปี 2563 หรือปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับประชาชนในปี 2564 ตลอดรวมถึงปัญหาชุดตรวจโควิด-19 เป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้ทำให้สถานะของรัฐบาลเป็นลบอย่างมาก และตามมาด้วยการถูกวิจารณ์อย่างหนักในเวทีสาธารณะ อันทำให้เกิดข้อสรุปประการหนึ่งว่า ในบริบทของ “การบริหารวิกฤต” ที่เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็น “วิกฤตการบริหาร” แม้รัฐบาลจะมีอำนาจอย่างเต็มจากการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแล้วก็ตาม จนปัญหาเหล่านี้ขยายตัวเป็น “วิกฤตศรัทธา” ในตัวเอง และยิ่งนานวันวิกฤตเช่นนี้ขยับตัวไปสู่ปัญหา “ความมั่นคงทางการเมือง” (Political Security) เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลโดยตรง อันเป็นผลจากการลดลงของความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อตัวนายกรัฐมนตรี ดังจะเห็นได้จากคะแนนเสียงสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในการสำรวจประชามติไม่ได้สูงขึ้น และลดต่ำลงจากช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น คงประเมินได้ไม่ยากนักว่าหลังจากการระบาดจบลง รัฐบาลจะเผชิญกับปัญหาการเมืองที่เข้มข้นทั้งในสภาและนอกสภา รวมถึงการดำเนินการของรัฐบาลในช่วงวิกฤตจะถูกนำมาเป็นประเด็นในการตรวจสอบมากขึ้นด้วย หรือกล่าวโดยรวมก็คือ หลังจากวิกฤตโควิดจบลง รัฐบาลน่าจะเผชิญกับ “วิกฤตการเมือง” ที่เกิดจากการเรียกร้องในเรื่องทางเศรษฐกิจและสวัสดิการ จนอาจคาดคะเนได้ว่ารัฐบาลในอนาคตจะเผชิญกับความท้าทายจากปัญหา “ความมั่นคงทางการเมือง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วิกฤตเศรษฐกิจ : ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ในระดับมหภาคมีความชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของเชื้อโควิด จนเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Global Economic Recession) ดังจะเห็นได้ถึงการชะลอตัวของปัจจัยต่างๆในทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ สภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วโลก จนอาจกล่าวได้ว่าโลกหลังจากการระบาดครั้งนี้อาจนำไปสู่การจัดโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลกใหม่ และทั้งเศรษฐกิจโลกก่อนการระบาดก็อ่อนลงจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมาแล้ว

สภาวะเช่นนี้มีผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในอีกส่วนหนึ่งเศรษฐกิจไทยเองก็ประสบกับปัจจัยลบที่เป็นดัง “แรงกระแทก” ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ส่วนคือ แรงที่หนึ่ง เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร 2557 แรงที่สอง มาจากผลกระทบจากสงครามการค้าและการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 รัฐมหาอำนาจใหญ่ แรงที่สาม เป็น “แรงกระแทกใหญ่” อันเป็นผลจากการระบาดของเชื้อโควิดที่ยังไม่ใช่จุดสุดท้ายของการสิ้นสุดของการระบาดที่จะก่อให้เกิดการฟื้นตัวทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมไทย

ผลเช่นนี้ทำให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนในอนาคตว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะยังอยู่ในภาวะวิกฤต และอาจจะไม่แตกต่างจากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สดใส ในอีกด้านของภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าเกษตรหลัก 5 ชนิดคือ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม จะเห็นว่าสินค้าเกษตรทั้ง 5 ชนิด ไม่มีราคาดีอย่างที่เกษตรกรคาดหวัง ซึ่งในอีกด้านก็ส่งผลต่อชีวิตของเกษตรกรโดยตรง ดังตัวอย่างของราคาข้าว ราคายาง และราคาปาล์ม เป็นต้น

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเช่นนี้ต้องยอมรับว่ามีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นได้ชัดว่าความรุนแรงของปัญหาเกิดจากการปิดตัวลงของภาคธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจในระดับกลางและระดับเล็ก (SME) ล้วนต้องแบกรับภาระอย่างหนัก จนอาจทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคการผลิตหรือภาคบริการก็ตาม อันทำให้เกิดการตกงานครั้งใหญ่ในสังคมไทย และภาคเกษตรเองก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาความผันผวนของสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ผลเช่นนี้ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีปัญหา ข้อถกเถียงในเชิงเวลาก็คือ เศรษฐกิจไทยจะตกถึงจุดต่ำสุดเมื่อใด เพื่อที่จะเป็นความหวังของการขยับตัวขึ้นในอนาคต

สิ่งที่ต้องตระหนักในอนาคตก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่รวดเร็วอย่างที่หวัง เพราะไม่เพียงจะต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น หากยังจะต้องอาศัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลในอนาคตอีกด้วย หรืออาจกล่าวในมิติความมั่นคงได้ว่า “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” (Economic Security) จะเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลในยุคหลังโควิด และการพาเศรษฐกิจไทยกลับสู่ภาวะปกติให้ได้อย่างรวดเร็วจะเป็นประเด็นการเมืองที่สำคัญเช่นกัน พรรคการเมืองที่สามารถทำให้ความคาดหวังทางเศรษฐกิจของประชาชนเกิดเป็นจริงได้จะเป็นผู้กุมชัยชนะทางการเมือง (อาจไม่แตกต่างจากการเมืองกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตปี 2540) จนอาจกล่าวได้ว่าการต่อสู้ในการนำเสนอแนวทางการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยจะเป็นประเด็นสำคัญของการแข่งขันทางการเมืองในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และน่าสนใจว่าแนวทางแบบ “ประชานิยมสุดขั้ว” เช่นที่รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการอยู่นั้น จะเป็นปัจจัยของชัยชนะทางการเมืองในการแข่งขันได้จริงเพียงใด

วิกฤตสังคม : ความมั่นคงของมนุษย์

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยอย่างมากจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มคนจน หรืออาจกล่าวได้ว่าชีวิตทางสังคมของคนไทย โดยเฉพาะคนชั้นกลางและคนชั้นล่างน่าจะประสบปัญหาความยากลำบากมากขึ้น การพาตัวเองกลับเข้าสู่การจ้างงานครั้งใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติของเศรษฐกิจไทยอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งหากพิจารณาจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 จะเห็นได้ว่าหนึ่งในผลกระทบที่สำคัญก็คือ ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) ดังนั้น ในวิกฤตเศรษฐกิจไทยของยุคโควิด จะพบว่าปัญหาความมั่นคงของมนุษย์น่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 อย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังเห็นสัญญาณความหนักหน่วงของปัญหานี้จากการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับร้อยละ 93 และต้องถือว่าตัวเลขเช่นนี้คือสัญญาณของวิกฤตชีวิตของคนไทยอีกด้วย

วิกฤตเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 ที่นำไปสู่การเลิกจ้างงานและการปิดตัวลงของภาคธุรกิจเช่นนี้ ทำให้ประเด็นความมั่นคงของมนุษย์มีความสำคัญอย่างมาก และภาครัฐจะต้องใส่ใจมากขึ้น ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้เรื่องการจัดสวัสดิการทางสังคมได้รับความสนใจในเชิงนโยบายมากขึ้นด้วย หรืออาจคาดการณ์ในอนาคตได้ว่า ข้อเรียกร้องเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” (Welfare State) จะเป็นประเด็นสำคัญ เพราะชีวิตของผู้คนจำนวนมากในสังคมต้องเผชิญกับความยากลำบาก อันทำให้การสร้างระบบสวัสดิการแห่งรัฐเป็นหัวข้อสำคัญเชิงนโยบาย แทนที่จะพึ่งพาอยู่กับนโยบายประชานิยมแบบ “แจกเงิน” เป็นหลัก

ผู้นำทางการเมืองจะต้องตระหนักเสมอว่า รัฐสมัยใหม่มีความรับผิดชอบในการแบกรับภาระของประชาชนในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤต ฉะนั้นผลจากวิกฤตโรคระบาดที่ขยายไปสู่การเป็นวิกฤตความมั่นคงของมนุษย์นั้น ภาครัฐจะต้องมีมาตรการความช่วยเหลือที่ชัดเจน และหากปราศจากนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลแล้ว ประเด็นนี้อาจกลายเป็น “วิกฤตการเมือง” จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วย อีกทั้งผลของการแก้ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์จะเป็นโอกาสของการสร้าง “ความมั่นคงทางสังคม” (Societal Security) ของไทยในอนาคตอีกด้วย กล่าวคือ การสร้างความมั่นคงของมนุษย์จะมีผลโดยตรงต่อการทำให้ความมั่นคงทางสังคมของไทยมีความเข้มแข็ง

วิกฤตศรัทธากองทัพ : ความมั่นคงของสถาบันทหาร

วันนี้ผู้นำทหารอาจจะต้องตระหนักว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธาจากสังคม กองทัพก็กำลังเผชิญกับวิกฤตเช่นนั้นไม่แตกต่างกัน ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ความรู้สึกของประชาชนในหลายส่วนไม่ได้มองกองทัพด้วยสายตาที่เป็นบวกแต่อย่างใด ประกอบกับผู้นำกองทัพในช่วงที่ผ่านมามีภาพลักษณ์เชิงลบมากขึ้น แม้จะยังมีสื่อที่ใกล้ชิดกับผู้นำทหารและบรรดาปีกขวาจัดที่ยังคอยทำหน้าที่เป็น “กองเชียร์” อยู่บ้าง แต่เสียงเชียร์เช่นนี้ไม่ได้มีพลังเช่นในช่วงของการรัฐประหาร ผู้นำกองทัพอาจต้องยอมรับความจริงว่าภาพลักษณ์ของสถาบันกองทัพตกต่ำลงมาก และการคิดแก้ปัญหาในแบบของงาน “PR” หรือความพยายามในการใช้ “ปฏิบัติการจิตวิทยา” (ปจว.) เป็นเครื่องมืออาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหาความตกต่ำของทหารได้จริง

นอกจากนี้ตัวอย่างเช่นผลจากการกราดยิงที่โคราชไม่อาจถือเป็นปัญหาส่วนบุคคล แต่กลับบ่งบอกถึงประเด็น “ลัทธิพาณิชย์นิยมในกองทัพ” (Military Commercialism) หรือการทำธุรกิจของนายทหารในกองทัพ ซึ่งอาจรวมถึงการใช้อำนาจทางทหารเข้าไปมีบทบาทในรัฐวิสาหกิจ และประเด็นสำคัญอีกส่วนเป็นเรื่องของ “ธุรกิจอาวุธ” ที่เอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับผู้นำทหาร และนำไปสู่ “ความอื้อฉาวด้านอาวุธ” (Arms Scandal) จนกองทัพกลายเป็นสถาบันที่สังคมไม่ให้ความเชื่อถือ โดยเฉพาะสังคมมองว่าการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ของนายทหารระดับสูงและกลุ่มผู้เกี่ยวข้องมากกว่าจะตอบสนองความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศ การจัดซื้อเรือดำน้ำและรถถังเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้

ในสภาวะที่ประเทศเผชิญกับโรคระบาดจนส่งผลให้ประเทศต้องประสบกับวิกฤตด้านงบประมาณนั้น การปรับลดเงินที่ใช้ในการซื้ออาวุธกลับไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ผู้นำทหารอาจจะทำปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อเป็นเครื่องมือในการตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม เช่น การประกาศไม่รับเงินประจำตำแหน่งวุฒิสมาชิก การใส่ชุดป้องกันอย่างรัดกุมออกมาพ่นยาฆ่าเชื้อโรค หรือการเรียกร้องให้กำลังพลเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนรายการ “เรียลลิตี้โชว์” ที่จะไม่ทำให้โครงการซื้ออาวุธถูกนำมาทบทวน ดังจะเห็นถึงความพยายามที่จะผลักดันโครงการซื้ออาวุธเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรีในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้กำลังกลายเป็น “ปัญหาความมั่นคงของสถาบันทหาร” เพราะยิ่งสังคมเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคมากเท่าใด สังคมก็ยิ่งไม่มีความรู้สึกถึงความจำเป็นของการจัดซื้ออาวุธที่มีมูลค่าสูง ดังจะเห็นถึงการเอาภาพเรือดำน้ำที่กองทัพเรือไทยจัดซื้อจากจีนมาทำเป็นเรื่องตลกขบขัน สภาวะดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสถานะของสถาบันทหารในสังคมเป็นอย่างยิ่ง

วิกฤตภัยแล้งวิกฤตอาหาร : ความมั่นคงด้านอาหาร

วิกฤตคู่ขนานกับการระบาดของเชื้อโรคในครั้งนี้คือ ความแห้งแล้งและภาวะน้ำท่วม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะความผันผวนของอากาศที่เกิดขึ้นในชนบทของไทย หากความผันผวนของอากาศรุนแรงและขยายตัวไปมากขึ้นแล้ว ชนบทอาจจะไม่ใช่พื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะรองรับการตกงานของคนเช่นในปี 2540 ได้แต่อย่างใด วิกฤตโควิดที่กำลังพาคนตกงานจากเมืองกลับสู่ชนบทเพียงเพื่อพบว่าชนบทเองก็กำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และอาจจะทำให้ภาคเกษตรมีปัญหา ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลิตผลทางการเกษตรของประเทศ และอาจก่อให้เกิดปัญหา “ความมั่นคงด้านอาหาร” ได้ในอนาคต

ตัวแบบของผลดังกล่าวที่เกิดการเชื่อมโยงระหว่างโรคระบาดกับปริมาณอาหารในสังคมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายสังคม กล่าวคือ การระบาดนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อขีดความสามารถในการผลิตอาหารของสังคม จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าการระบาดของโควิด-19 จะนำไปสู่ความขาดแคลนอาหาร อีกนัยหนึ่งคือการเกิดของ “ปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร” (Food Security) อันเป็นผลจากโควิด-19 และปัญหาเช่นนี้อาจขยายตัวเป็น “วิกฤตด้านอาหาร” (Food Crisis) ได้ด้วย

วิกฤตไฟ-ฝุ่น-ควัน : ความมั่นคงด้านอากาศ

วิกฤตอีกชุดที่สังคมไทยเผชิญเป็นประเด็นสำคัญคู่ขนานกับการระบาดของโควิด-19 คือ “ปัญหาความมั่นคงด้านอากาศ” (Climate Security) ตัวอย่างในสังคมไทยเช่น ความรุนแรงของไฟป่าและความรุนแรงของฝุ่นพิษที่กำลังเกิดขึ้นในภาคเหนือ ปัญหานี้กำลังชี้ให้เห็นถึงภาวะ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ไม่ต่างจากกรณีภัยแล้ง และเป็นเรื่องที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเช่นกัน

นอกจากนี้ปัญหาในส่วนของฝุ่นพิษ (PM2.5) กำลังกลายเป็นปัญหาถาวรที่สังคมต้องเผชิญในทุกช่วงต้นปี โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา “ความมั่นคงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ” (Climate Change and Security) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในไทยเองด้วย ผู้นำการเมืองไทยในอนาคตคงต้องตระหนักถึงปัญหาความมั่นคงใหม่ที่ไม่ใช่ภัยคุกคามแบบเดิม แต่เป็นภัยคุกคามที่เป็นเรื่องของสภาวะอากาศ ซึ่งประเด็นเช่นนี้กำลังส่งผลกับพื้นที่ต่างๆของโลก และอาจจะกระทบอย่างมากกับสังคมเกษตรที่สภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศมีผลโดยตรงต่อผลผลิต อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกด้วย กล่าวคือ การทับซ้อนระหว่างวิกฤตโรคระบาดกับวิกฤตอากาศจะยิ่งมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในสังคม

วิกฤตการบริหารจัดการ : ความมั่นคงแห่งชาติ

จากวิกฤตโควิดที่นำไปสู่วิกฤตอื่นๆนั้น สุดท้ายแล้วเรื่องทั้งหมดสะท้อนถึงปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ “วิกฤตการบริหารจัดการ” ของรัฐบาล จนอาจกล่าวได้ว่าการจัดการกับวิกฤตของรัฐบาลได้กลายเป็นวิกฤตในตัวเอง และส่งผลต่อ “ความมั่นคงของรัฐบาล” (Regime Security) เงื่อนไขเช่นนี้จึงเป็นคำตอบในตัวเองว่า ความอยู่รอดของรัฐบาลจะถูกชี้ขาดจากขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาวิกฤตที่สังคมต้องเผชิญ

ดังนั้น ประเด็นที่มีนัยสำคัญกับอนาคตคือ หากรัฐบาลไทยก้าวข้ามวิกฤตการบริหารจัดการไม่ได้แล้ว วิกฤตที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะแก้ไขได้ยาก และการฟื้นตัวของประเทศในอนาคตก็จะใช้เวลามากขึ้น อันจะส่งผลโดยตรงต่อสถานะของประเทศ อาจกล่าวได้ว่าประสิทธิภาพของรัฐบาลเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้าง “ความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security) ฉะนั้นจึงอาจกล่าวเป็นข้อสรุปได้เสมอว่า รัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพย่อมไม่มีความสามารถในการสร้างความมั่นคงแห่งชาติ

อนาคตแห่งความท้าทาย!

ถ้าประเทศไทยไม่สามารถพลิกฟื้นตัวเองจากวิกฤตโควิด-19 ที่พาเอาวิกฤตอื่นๆตามมาสมทบด้วยจนเกิดเป็น “อภิมหาวิกฤตไทย” ด้วยแล้ว ภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทยอาจเป็นเพียงประเทศที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในเวทีสากลในฐานะของ “ประเทศล้มเหลว-สังคมล้มละลาย” จนอาจทำให้ชีวิตของผู้คนต้องตกอยู่ในภาวะที่เป็น “ทุพภิกขภัย” และดำรงอยู่ด้วยความยากลำบาก ภาวะเช่นนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต

ภูมิทัศน์ของประเทศไทยในยุคหลังโควิด-19 จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคำถามที่สำคัญในอนาคตคือ ประเทศจะก้าวออกจากวิกฤตโรคระบาด ตลอดรวมทั้งวิกฤตอื่นๆที่เกิดขึ้นคู่ขนานดังที่กล่าวในข้างต้น ได้จริงเมื่อใด!


You must be logged in to post a comment Login