วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

ข้อคิดขึ้นภูกระดึงในวัย 63

On January 12, 2021

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  16-22 ม.ค. 64 )

ผมถามหลายคนว่าเคยไปขึ้นภูกระดึงที่จังหวัดเลยหรือยัง ก็มีหลายท่านที่ตอบว่าเคยแล้ว แต่ตอนยังเป็นคนหนุ่มสาว ที่แก่ๆอย่างผมในวัย 63 คงมีน้อย และที่ผมเห็นมาก็แทบไม่มีใครแก่กว่าผมแล้วที่อยู่บนภูกระดึงในช่วงวันที่ 1-4 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

ภูกระดึงถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ชิ้นหนึ่งที่สร้างรายได้ได้มหาศาล ยิ่งถ้ามีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงก็คงยิ่งทำให้มีรายได้มาพัฒนาท้องถิ่น มาพัฒนาป่าไม้บนภู จะได้ไม่เกิดไฟไหม้ป่าบนอุทยานแห่งชาติที่ไม่น่าจะเกิดไฟไหม้ได้เลย ทั้งนี้ คงเป็นเพราะเรายังขาดงบประมาณในการดูแลเท่าที่ควรปัญหาต่างๆจึงเกิดขึ้น กระทั่งบนแหล่งท่องเที่ยวที่ควรควบคุมได้ครบวงจรเยี่ยงภูกระดึงยังถูกไฟไหม้เสียหายหนักมาแล้ว

ตั้งแต่ผมเกิดมาจนอายุ 63 ปี ยังไม่เคยขึ้นภูกระดึงเลย การ “พิชิต” ภูกระดึงจึงเป็นความใฝ่ฝันของผม หลายท่านคงสงสัยว่าไปไหนมาจึงไม่เคยขึ้น ผมก็ต้องตอบว่าเพราะงานยุ่งในช่วงสร้างตัวก็เลยไม่ได้ไปสักที จำได้ว่าเมื่อปี 2534 หรือเมื่อ 30 ปีก่อน ขณะที่ผมตั้งบริษัท ตอนนั้นอายุ 33 ปี มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันก็คือเลขาฯของผม ขณะนั้นอายุ 17 ปี ก็ยังไปขึ้นภูกระดึงกับเพื่อนๆมาแล้ว

ในปี 2564 นี้ ผมจึงตกลงกับศรีภริยาว่าจะไปขึ้นภูกระดึงสักครั้งหนึ่ง ซึ่งเธอก็ยินดีที่จะไปกับผมด้วย ครั้งแรกเราซื้อตั๋วรถทัวร์ไว้ หมดเงินไป 2,400 บาท แต่เธอทิ้งตั๋วไปเพราะกลัวโควิด!?! ก็เลยเหมารถเพื่อนไปแทน และเพื่อนสองศรีพี่น้องก็เลยไปขึ้นภูด้วยกัน รวมแล้วก็มีผมอายุ 63 ปี ศรีภริยาอายุ 58 ปี เพื่อนผู้หญิงอายุ 60 ปี และพี่ชายของเพื่อนอายุ 63 ปีเท่าผม ขึ้นภูกระดึงไปด้วยกัน

เราขับรถไปกันตั้งแต่ 9 โมงเช้าของวันที่ 1 มกราคม ไปเรื่อยๆจนถึงอำเภอภูกระดึง นอนพัก 1 คืน ผมเคยได้ยินว่ามีคนขับรถตอนกลางคืนแล้วไปสว่างที่ภูกระดึงแล้วก็ขึ้นเขาเลย จึงช็อกตายระหว่างทางเพราะความอ่อนเพลีย โรงแรมที่ผมพักเขาบอกว่าปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเต็มที่ราว 3 เดือน ส่วนช่วงเวลาที่เหลือก็มีไม่มากนัก โดยเฉพาะช่วงปิดภู 4 เดือนแทบไม่มีผู้ใช้บริการ อาศัยว่าเป็นที่ดินเดิมที่ซื้อไว้ในราคาไร่ละ 3 หมื่นบาทเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันราคาไร่ละ 1 ล้านบาท ธนาคารจึงยอมปล่อยกู้มาให้สร้างโรงแรมแบบรีสอร์ตขนาดเล็ก

ผมมีเรื่องโชคร้ายก่อนขึ้นภู คือตอนขาไปเข่าผมเริ่มตึงๆ ผมไม่เคยเจ็บเข่ามาก่อน พอนั่งรถไปนานๆประมาณ 8 ชั่วโมง เข่าก็ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเดินแทบไม่ได้จนวิตกว่าจะขึ้นภูไหวหรือ ภริยาจึงพาไปร้านขายยา เภสัชกรใจดีบอกว่าถ้าจะให้หายต้องทานยา สนนราคา 180 บาท มี 5 เม็ด เพื่อคลายกล้ามเนื้อ ผมก็ซื้อมาและทานตอนหลังอาหาร 1 เม็ด ปรากฏว่าในเช้าวันที่ 2 มกราคม อาการปวดเข่าหายเป็นปลิดทิ้ง สามารถเดินขึ้นเขาได้สบายๆ ผมมาดูกล่องยาอีกที เขาเขียนว่าเป็นยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนและอื่นๆ ตลกดีไหมครับ

ผมขึ้นภูกระดึงในเวลา 9 โมงเช้า แวะถ่ายรูปและพักไปเรื่อย จนถึงยอดภูเวลาบ่าย 3 โมง รวมเวลาปีนขึ้นเขาถึง 6 ชั่วโมง และเดินอีก 3 กิโลเมตร ราว 1 ชั่วโมงไปที่ศูนย์นักท่องเที่ยว ผมไม่ได้ใช้ไม้เท้าค้ำยันเลย รู้สึกสะดวกกว่าที่ใช้มือคอยจับราวหรือต้นไม้ กิ่งไม้เท่าที่มี หลังจากขึ้นถึงหลังแปก็ถ่ายรูปแล้วเดินบนพื้นราบต่อไปถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอีก 1 ชั่วโมง ช่วงพักแรกคือ “ซำแฮก” (คนขึ้นถึงจุดนี้จะหอบแฮกๆ) นั้น เป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุดก็ว่าได้ ส่วนช่วงสุดท้ายที่สูงชันที่สุดนั้นก็ค่อยๆเดิน และมีบันไดจึงไม่ยากนัก

ในคืนแรกที่นอนบนภูอากาศหนาวมาก ผมเอาเสื้อผ้าไปไม่มาก แต่อาศัยว่าพอสู้กับอากาศหนาวได้เพราะมีไขมันมากก็เลยรอดไป แต่ก็ตื่นเป็นพักๆเพราะความหนาว เอาผ้าห่มมาพับ 3 ชั้น โดยห่มช่วงบน ปล่อยช่วงล่างไม่ได้ห่มไว้ เพื่อรักษาความอบอุ่นในร่างกาย ยกเว้นเท้าที่นอกจากใส่ถุงเท้าแล้วยังเอาขายัดลงไปในกระเป๋าเดินทางเพื่อให้อบอุ่นขึ้นนั่นเอง

พอถึงเวลาตี 5 กว่าของวันที่ 3 มกราคม ผมตื่นขึ้นมาเห็นภริยาผมและสองพี่น้องที่ไปด้วยยังหลับอยู่ ผมเลยไม่ได้ปลุก กะว่าให้พวกเขาพัก เอาไว้ให้ดูพระอาทิตย์ขึ้นในวันถัดมาหลังจากปรับตัวได้ดีกว่า ผมออกเดินทางไปที่ดอยนกแอ่นเพียงคนเดียวพร้อมไฟฉายเล็กๆอันหนึ่งที่ได้จากงานศพของอาจารย์มนูญ ศิริวรรณ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ขณะนั้นอุณหภูมิ 3 องศา ผมเห็นบางคนเอาถุงนอนห่อตัวไปด้วยเพราะหนาวเหน็บ!?!

ตอนกลางวันอากาศร้อนมาก ผมใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวแบบคนทำงานและกางเกงผ้าธรรมดา พร้อมหมวกปีกเพื่อกันแดด เดินระยะทางเกือบ 30 กิโลเมตร โดยเดินไปดูพระอาทิตย์ขึ้น และเดินโดยรอบทั้งน้ำตกและหน้าผาทั้งหลาย ผมสรุปบทเรียนได้ว่าเราควรเช่าจักรยานล้อกว้างจะสะดวกกว่าการเดินทั้งวัน และข้อคิดอีกอย่างเกี่ยวกับเสื้อผ้าก็คือ ผมเห็นคนแบกไปมากเกิน ผ้าห่ม ถุงนอนก็มีให้เช่า เราอาจเอาไปเพียงลองจอนชั้นดีหรือเสื้อหนาวที่มีคุณภาพ และไม่ควรใส่หลายชั้นจนเทอะทะ

ขากลับในเช้าวันที่ 4 มกราคม พวกเราเอากระเป๋ากะไปให้ลูกหาบ แต่ยังไม่มีลูกหาบเลย จึงตัดสินใจแบกของลงมาเอง กระเป๋าของผมหนักราว 5 กิโลกรัม แต่เป็นของผมเองแค่ 3 กิโลกรัมเห็นจะได้ และเป็นของภริยาอีกเกือบ 2 กิโลกรัม พอแบกลงได้ระยะหนึ่ง เห็นเพื่อนผู้หญิงที่ไปด้วยแบกพะรุงพะรัง ผมจึงช่วยเขาแบกอีก 3 กิโลกรัม รวมแล้วผมแบกน้ำหนัก 82 กิโลกรัม และของอีกเกือบ 8 กิโลกรัมลงเขา

บางคนบอกว่าขาลงเขาเร็วกว่าขาขึ้นเพราะแรงโน้มถ่วง เรื่องนี้ไม่จริงเลยสำหรับผม เพราะขาลงมองเห็นความสูงชัน ต้องระวังมาก โชคดีที่ช่วงที่ผมไปไม่ใช่หน้าฝน ไม่มีทาก และทางเดินไม่เปียกแฉะ แต่ก็ลื่นมากเพราะฝุ่นและใบไม้แห้ง จึงต้องระวังมาก ออกจากฐานเวลา 7 โมงเช้า ถึงข้างล่างตอนเกือบบ่ายสอง ช่วงปีนลงใช้เวลา 6 ชั่วโมงเท่าขาขึ้น แต่เป็นเหมือนช่วงขาขึ้นที่ผมถ่ายคลิปเป็นระยะๆด้วย ตอนแรกผมได้ข่าวว่าขาลงจะเร็ว ผมจึงจองตั๋วรถทัวร์ไว้เวลา 11.30 น. แต่ปรากฏว่า ณ เวลานั้น ผมยังปีนได้ไม่ถึงครึ่งทางเลย

ระหว่างปีนลงมีเรื่องหวาดเสียว เพราะเกือบลื่นไหลหลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งลื่นไหลลงข้างทาง ดีที่ผมคว้าไม้ไผ่ไว้ได้ แต่ไม้ไผ่นั้นปลายแหลมมาก ผมคว้าได้ก็รีบปัดออกด้านข้าง หาไม่ก็คงแทงปักอกหรือคอเข้าไปแล้ว ผมนึกภาพเลือดไหลจ๊อกๆลงมาระหว่างทางแล้ว “หนาว” เลย อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจึงพึงระวังเป็นอย่างมาก แต่สำหรับคนวัยหนุ่มสาวการวิ่งขึ้นลงเป็นเรื่องปกติ ข้อเข่าพวกเขาก็คงดีด้วย

ถ้ามีกระเช้าขึ้นภูกระดึงสำหรับผู้สูงวัย หญิงมีครรภ์ คนพิการ ให้ได้มีโอกาสไปชื่นชมธรรมชาติข้างบนบ้างก็คงจะดีเป็นอย่างมาก ทำกระเช้าไปให้ทั่วทุกบริเวณจุดท่องเที่ยวของภูกระดึงไปเลย ไม่ต้องห่วงลูกหาบ เขาจะมีงานอื่นทำอีกมาก แม้แต่ขยะก็สามารถเก็บได้ง่ายด้วยกระเช้า มีใครป่วยไข้ก็ใช้กระเช้าลำเลียงได้ทันท่วงที แถมยังมีเงินช่วยพัฒนาป่าและชุมชนได้อีก ท่านทราบไหมว่าประชาชนชาวภูกระดึงต้องการให้มีกระเช้าถึง 97% ส่วนใครยังอยากปีนก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ยังสามารถทำได้เช่นกัน

นี่เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผมได้มีโอกาสปีนภูกระดึง ถ้ามีโอกาสผมก็คงจะไปอีก


You must be logged in to post a comment Login