วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

ปรับตัวให้ทันสถานการณ์

On January 7, 2021

คอลัมน์ : สำนัก(ข่าว)พระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 7 ม.ค.64 )

 และแล้วพิษไวรัสโควิด-19 ตัวเร่งทำให้เศรษฐกิจ รายได้ ทำให้หนี้ครัวเรือนไทย พุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี เรียกว่า จะทำให้คนยากจนเพิ่มขึ้น เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ตัวเลขสถิติการกู้ยืมเงินของภาคครัวเรือนประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีหนี้สินครัวเรือนในระบบหมุนเวียนอยู่ที่ 13,766,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ 182,091 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 86.6% สูงสุดในรอบ 18 ปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่อยู่ระดับ 83.8% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบไตรมาส 3 ปี 2562 ที่อยู่ระดับ 78.9% 

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงตัวเลขหนี้ครัวเรือนดังกล่าวว่า ในอนาคตข้างหน้าระดับหนี้ครัวเรือนก็จะพุ่งสูงขึ้นไปอีก ตราบใดที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่หายไป และการลดหนี้ครัวเรือนคือต้องเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย แต่ตอนนี้การเพิ่มรายได้ยังไม่ใช่จังหวะที่ดี ส่วนการลดรายจ่ายเป็นเรื่องของวินัยการเงินส่วนบุคคล เช่น การจะซื้อตู้เย็นหรือรถก็ควรจะมีการออมก่อนส่วนหนึ่ง ซึ่งค่านิยมตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น ขณะนี้โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่ โจทย์เฉพาะหน้าต้องมีมาตรการมารองรับเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง 

น.ส.ธัญญลักษณ์ บอกว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สูญเสียรายได้จากการเลิกจ้างงานหรือการลดเงินเดือน แต่หนี้สินยังคงมีอยู่เท่าเดิม ทำให้ภาคครัวเรือนอยู่ในภาวะที่ฝืดเคือง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน มีหนี้สินมากกว่าเงินออม อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ยิ่งสังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะสังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการไม่มีเงินออมเก็บไว้เลย โดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่สูงอยู่ในขณะนี้เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบกันหมด ความต้องการแรงงานโดยรวมลดน้อยลง ต้องรอให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บรรเทาลงมากกว่านี้  

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องเรียกว่า รัฐบาลจะต้องรีบดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ถ้าหากปรับทัน และหยุด ชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดไว้ได้ หรือป้องกันอยู่ เราก็พอจะรอดตาย แต่ถ้ามีต่อเนื่องไปอีกก็คงจะยาก ใครจะช่วย มันก็ไปไม่ไหว การช่วย การจัดการกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ต้องเรียกว่า ต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างเต็มที่ ไม่มีการคำว่า ชะลอ เขาต้องเร่งรัดจัดการให้คนที่ทำงานก็ทำให้สุดกำลัง อาชีพอะไรที่จะเป็นอาชีพรุ่งก็ต้องทำกันเต็มที่ ทำกันเต็มกำลัง จนในที่สุดความเต็มที่สุดของที่สุดอาจจะหยุดความระบาดของโรคร้าย 

ทำให้ชีวิตของผู้คนกลับมาเริ่มต้น ทำให้รู้จักกิน รู้จักใช้ จัดระเบียบการใช้ดำรงชีวิตแบบใหม่ ซึ่งการใช้ชีวิตแบบเดิมนั้นคงจะอยู่ได้ยากแล้วล่ะ เพราะโลกเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน ถ้าเราไม่เปลี่ยน มันก็ไปไม่ได้ ถ้าจะไปให้ได้ต้องปรับตัว ปรับใจ เปลี่ยนให้ทันการณ์ ให้รู้ทันสถานการณ์ เราก็จะเป็นผู้ไปรอด อยู่รอด แล้วก็ปลอดภัย 

เจริญพร 


You must be logged in to post a comment Login