วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

ขอเชิญชมคอนเสิร์ตรายการ “Beethoven the Creator” บรรเลงผลงานของ ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน

On November 25, 2020

มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  โดยความสนับสนุนของบี.กริม, BDMS,เมืองไทยประกันภัย และมูลนิธิเอสซีจี ขอเชิญชมคอนเสิร์ตรายการ “Beethoven the Creator” บรรเลงผลงานของ ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน คีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ชาวเยอรมัน บรรเลงโดยวงรอยัลแบงค์คอก
ซิมโฟนีออร์เคสตร้า (RBSO) ร่วมด้วย ชญณัฐ วิสัยจร ศิลปินนักเปียโนระดับแนวหน้าของไทย บรรเลงเดี่ยวเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 1 ในบันไดเสียง C เมเจอร์ ประพันธ์โดย ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน และบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 3 ในบันไดเสียง E แฟลท เมเจอร์ นิคเนมว่า“Eroica” ผลงานระดับมาสเตอร์พีซที่นิยมฟังและบรรเลงมากที่สุดในบรรดาบทเพลงซิมโฟนีทั้ง 9 บทของเบโธเฟนอำนวยเพลงโดย มิเชล เทลคิน (Michel Tilkin) ผู้อำนวยการด้านดนตรีวง RBSO  แสดงวันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม 2563 เวลา 19.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

คอนเสิร์ต “Beethoven the Creator” บรรเลงผลงานของ ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน นักประพันธ์เพลงชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคโรแมนติค  บทเพลงแรกคือ เปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 1 ในบันไดเสียง    C เมเจอร์ ผลงานลำดับที่ 15  ท่อนแรก เริ่มด้วยทำนองหลักที่อาจหาญ ช่วงแรกๆฟังเหมือนเป็นดนตรีของไฮเดินและโมสาร์ท แต่เบโธเฟนเขียนให้กลองและทรัมเป็ตบรรเลงเพลงอย่างรุนแรงสอดแทรกเข้าไปในทำนองหลักที่ไพเราะ ศิลปินเดี่ยวเปียโนได้นำทำนองหลักที่ถูกนำมาพัฒนามาบรรเลงได้อย่างสวยงาม นักเปียโนได้นำทำนองมาบรรเลงคล้ายการด้นสดเพื่ออวดฝีมือ ท่อนที่สอง ฟังดูเหมือนอ่อนหวานด้วยการ  เติมสร้อยในทำนอง ทว่าเบโธเฟนได้ใส่อารมณ์เข้าไป ทำให้ผู้ที่ได้ฟังครั้งแรกถึงกับหลั่งน้ำตา ทั้งยังให้  คลาริเน็ทเล่นเดี่ยวคลอตอบโต้กับเปียโน  ท่อนสุดท้าย สนุกสนาน มีชีวิตชีวา ศิลปินเดี่ยวเปียโนบรรเลง ด้นสด อวดฝีมืออีกครั้ง และจบลงด้วยความประทับใจซิมโฟนีหมายเลข 3 ในบันไดเสียง E แฟลท เมเจอร์ “Eroica” เป็นอีกผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ประพันธ์
โดยเบโธเฟน บทเพลงเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก แสดงพลังอย่างกล้าหาญ สง่างาม และเป็นเสียง   แห่งชัยชนะ เป็นซิมโฟนีที่ยิ่งใหญ่ อมตะมาจนทุกวันนี้  เบโธเฟนประพันธ์งานชิ้นนี้ด้วยความรัดทดใจ และความสิ้นหวังเนื่องมาจากอาการหนูหนวก เดิมเขาตั้งใจจะอุทิศงานชิ้นนี้ให้กับนโปเลียน โบนาปาร์ต   ซึ่งขณะนั้นกำลังทำสงครามกับฝรั่งเศส หลังจากได้รับชัยชนะ ด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง นโปเลียนกลับสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ทำให้เบโธเฟนผิดหวังเป็นอย่างมาก  ความขัดแย้งนี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการสร้างสรรค์ เบโธเฟนได้แหกกฎเกณฑ์และรูปแบบการประพันธ์เชิงขนบดนตรียุคคลาสสิกพร้อมกับแสดงความรู้สึกและอารมณ์อย่างรุนแรง

ดนตรีท่อนแรก องอาจ สง่างาม พร้อมที่จะต่อสู้กับชะตากรรม จบลงด้วยเสียงดนตรีที่เร้าใจ ท่อนที่สอง “ขบวนแห่ศพ” (Funeral March) ทำนองเศร้าสร้อย หดหู่ อาลัยอาวรณ์ เสียงดนตรีแผ่วเบาดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เสมือนขบวนแห่ศพ สะท้อนความรัดทดใจในชะตากรรม ท่อนนี้มีชื่อเสียงมาก มักถูกนำไปบรรเลงในขบวนแห่ศพของบุคลสำคัญ อาทิ ในพิธีแห่ศพประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนนาดีแห่งสหรัฐอเมริกา  ท่อนที่สาม กระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวา เสียงกลุ่มฮอร์นเล่นทำนองสง่างามคล้ายสัญญาณแตรที่ใช้ล่าสัตว์  ท่อนสุดท้าย ดนตรีเข้มข้น เบโธเฟนได้นำทำนองต่างๆที่เคยประพันธ์ไว้และเขียนขึ้นใหม่ มาบรรเลงพร้อมกันทั้งวง ในแบบแวริเอชั่นหลายบท เสียงดนตรีที่สลับซับซ้อนงดงาม แสดงอารมณ์สุดขั้ว จบลงด้วยดนตรีที่มีความรุนแรง โหมกระหน่ำดุจพายุ ซิมโฟนี “EROICA” เป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ “ดนตรียุคโรแมนติค” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บทเพลงนี้เป็นงานประเภทซิมโฟนีที่ถูกนำออกแสดงกันทั่วโลกมากที่สุด การบรรเลงในครั้งนี้เป็นโอกาสที่แฟนเพลงจะได้ร่วมกันรำลึกถึงเบโธเฟน ซึ่งทั่วโลกต่างร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 250 ปีการเสียชีวิตของเขา
Bee2
ชญณัฐ วิสัยจร ศิลปินนักเปียโนระดับแนวหน้าของไทย มีผลงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ล่าสุดเขาได้บรรเลงบทเพลง Piano Concerto หมายเลข 5 ของเบโธเฟน ร่วมกับวง RBSO ภายใต้การควบคุมวงของ Kah Chun Wong ผู้อำนวยเพลงชื่อดังชาวสิงคโปร์ และร่วมบรรเลงกับนักฟลุตชั้นนำของโลก Jasmine Choi  ชญณัฐเคยเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนที่สถาบันดนตรีระดับโลกอย่าง Indiana University Jacobs School of Music เขามีประสบการณ์การเรียนดนตรีแบบเชมเบอร์มิวสิคกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียง อาทิ Luba Edlina Dubinsky (สมาชิกวงเชมเบอร์มิวสิคในตำนาน Borodin Trio), Alexander Kerr (อดีต Concertmaster ของวง Royal Concertgebouw แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์) นอกจากนี้เขายังได้เข้าเรียนแบบมาสเตอร์คลาสกับปรมาจารย์นักเปียโนระดับโลกอย่าง Dominique Merlet, Robert Levin และ Andrzej Jasinski, Robert McDonald, Phillipe Entremont, Gary Graffman และ Arie Vardi อาจารย์ผู้สอนหลักของชญณัฐประกอบด้วย Panayis Lyras, Emile Naoumoff  และ Jean-Bernard Pommier

บัตรราคา 300, 700, 900, 1200, 1500 บาท
ลด 50% สำหรับนักเรียน/นักศึกษา และผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

จองบัตรได้ที่ ThaiTicketmajor โทร. 02 262 3456 หรือ www.thaiticketmajor.com
สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานมูลนิธิ RBSO โทร.02 255 6617-8 / 02 255 9191-2
Email: rbso@bangkoksymphony.org


You must be logged in to post a comment Login