วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

บทเรียนจาก COVID-19

On March 27, 2020

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  27 มีนาคม – 3 เมษายน 2563)

โรค Covid-19 ที่เริ่มระบาดจากเมืองอู่ฮั่นประเทศจีนเมื่อปลายปีที่แล้วทำให้พฤติกรรมของมนุษย์ในหลายประเทศทั่วโลกต้องเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โรคนี้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและทำให้ผู้ติดโรคนี้มีอาการป่วยและเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา

สาเหตุของโรคนี้มาจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า Corona ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า มนุษย์ทั่วโลกจึงเกิดความหวาดกลัว และเมื่อไม่อาจมองไม่เห็นด้วยตา มนุษย์ที่ฉลาดจะเชื่อไว้ก่อนว่าไวรัสนี้มีอยู่และเป็นการดีกว่าที่จะป้องกันไม่ให้มันเข้าไปในร่างกาย

ความหวาดกลัวนี้เองที่ทำให้มนุษย์หันกลับไปตระหนักถึงสุขภาพและคุณค่าของชีวิตตัวเองซึ่งเป็นสัญชาติญาณดั้งเดิมที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ นั่นคือ  การรักษาสุขภาพด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ อยู่กับบ้าน งดกิจกรรมบันเทิงและอบายมุขต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิถีธรรมชาติดั้งเดิมที่มีอยู่ในตัวมนุษย์และทำให้มนุษย์มีความปลอดภัย

เมื่อความรักสุขภาพและชีวิตเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ ศาสนาจึงถูกส่งมายืนยันธรรมชาติดังกล่าวของมนุษย์และมิได้ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์แต่ประการใด ในทางตรงข้าม มนุษย์จะได้รับเคราะห์กรรมทันทีเมื่อมนุษย์ออกจากวิถีธรรมชาติดั้งเดิมของตน

ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์และสาธารณสุข  แพทย์และเภสัชกรจะสามารถคิดวิธีป้องกัน รักษาและหาทางทำลายไวรัสมฤตยูตัวนี้ได้ในเวลาไม่นาน

covid19

Covid-19 เป็นโรคทางกายที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  เชื่อได้เลยว่าเมื่อปลอดจากโรคและมีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาโรคร้ายนี้แล้ว มนุษย์จะออกไปจากธรรมชาติดั้งเดิมของตัวเองอีกครั้ง

แต่ชีวิตมิได้มีแค่ร่างกายอย่างเดียว ชีวิตยังมีวิญญาณที่มนุษย์ต้องรักษาอีกด้วยเพราะวิญญาณคือผู้บังการให้มนุษย์ทำบาปที่ทำให้หัวใจของมนุษย์เป็นโรคโดยไม่ต้องเป็นโรคหัวใจหรือโรคใดๆทั้งสิ้น

โรคร้ายแรงทุกอย่างทำลายชีวิตทางด้านร่างกายของมนุษย์แค่ในโลกนี้ แต่บาปทำลายวิญญาณของมนุษย์ทั้งในโลกนี้และติดตามมนุษย์ไปถึงโลกหน้า นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมศาสนาจึงสอนมนุษย์ให้มีหิริโอตตัปปะ หิริคือความละอายต่อบาปและโอตตัปปะคือความเกรงกลัวบาป

ในอิสลามก็มีคำสอนเช่นเดียวกันนี้ แต่อิสลามถือว่าการที่มนุษย์ไม่ละอายต่อบาปและไม่เกรงกลัวบาปเพราะมนุษย์ขาดความสำนึกว่ามีพระเจ้าเฝ้ามอง บันทึกและตอบแทนการกระทำของมนุษย์ มนุษย์จึงกล้าทำบาป ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงมุ่งปลูกฝังให้มนุษย์เกรงกลัวพระเจ้า ความเกรงกลัวนี้มีศัพท์ทางวิชาการภาษาอาหรับเรียกว่า “ตักวา” ซึ่งหมายถึงความยำเกรงพระเจ้า

หากจะอธิบายให้เห็นภาพความหมายของคำว่า “ตักวา” ก็ให้นึกถึงคนใส่เสื้อผ้าที่เดินเข้าไปในพงหนามและต้องคอยระวังมิให้หนามเกี่ยวเสื้อผ้าและเนื้อหนังถูกหนามตำ

อิสลามถือว่า “ตักวา” เป็นคุณธรรมสูงสุดที่มนุษย์พึงมีเพื่อความสุขในชีวิตของตัวเองทั้งในโลกนี้และโลกหน้า  แม้คัมภีร์กุรอานถูกประทานมาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งหมดก็ตาม แต่คนที่จะได้ประโยชน์จากคัมภีร์กุรอานก็คือผู้ที่มีความสำนึกในเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้าและยำเกรงพระองค์

ความสำนึกในเรื่องการมีอยู่ของพระเจ้านอกจากจะถูกพร่ำสอนแล้ว ยังถูกตอกย้ำทุกวันด้วยข้อกำหนดให้ละหมาดวันละ 5 เวลา เพราะการละหมาดนอกจากจะตอกย้ำความศรัทธาในพระเจ้าแล้วยังมีวัตถุประสงค์เพื่อยังยั้งผู้ละหมาดจากความชั่วช้าและความลามกต่างๆ

ในคัมภีร์กุรอาน การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพียงประการเดียว นั่นคือ เพื่อให้ผู้ถือศีลอดได้รับคุณธรรมแห่งความยำเกรงพระเจ้าหรือ “ตักวา” นั่นเอง ในเดือนรอมฎอน มุสลิมจะงดเว้นจากการกินและการดื่มที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ตั้งแต่ก่อนแสงแรกของดวงอาทิตย์จะปรากฏในท้องฟ้าจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

การถือศีลอดจะให้บทเรียนแก่ผู้ถือศีลอดว่าถ้าอาหารและน้ำซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตยังงดเว้นได้ แล้วทำไมสิ่งที่เป็นอบายมุขหรือเป็นบาปและเป็นอันตรายต่อชีวิตจะงดเว้นไม่ได้

Covid-19 ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงอาจมีวัคซีนป้องกันและมียารักษาได้ แต่บาปซึ่งเป็นที่มาของความหายนะของสังคมและประเทศชาติไม่อาจป้องกันได้หากมนุษย์ไม่มี“ตักวา”


You must be logged in to post a comment Login