วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

ประเมินค่าเรือดำน้ำก่อนจัดซื้อ

On November 26, 2019

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  29 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2562)

ในที่นี้หมายถึงเรือดำน้ำที่ทางราชการต้องการจะซื้อเพื่อกิจการทหาร ผู้เขียนเสนอให้ทำการประเมินค่าเรือดำน้ำก่อนที่จะซื้อ เพื่อไว้ต่อรองกับผู้ขาย (กรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง)

ผมในฐานะประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน เสนอให้ประเมินค่าเรือดำน้ำหรือแม้แต่ยุทโธปกรณ์ต่างๆก่อนการจัดซื้อ ประโยชน์ของการประเมินก็คือเพื่อไว้ใช้ต่อรองกับผู้ขาย เพื่อความโปร่งใสในการจัดซื้อ และเพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้มีอำนาจจัดซื้อด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อคิดเห็นนี้เกี่ยวกับวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง โปรดดูคลิป https://bit.ly/2qrh2P1

เว็บไซต์ Market Watch ได้ทำรายงานสถานการณ์ตลาดเรือดำน้ำพร้อมการคาดการณ์ถึงปี 2568 (Global Submarine Market 2019 Size, Trends, Industry Analysis, Leading Players & Future Forecast by 2025) (https://on.mktw.net/2O8BLzS) ผู้เขียนจึงนำมานำเสนอเพื่อให้ผู้สนใจได้ใช้ประโยชน์ประกอบการวางแผนการจัดซื้ออาวุธอย่างโปร่งใส เป็นธรรมอีกด้วย

เรือดำน้ำ หรือ Submarine หรือ Unnamed Underwater Vehicles (UUVs) เป็นเรือรบที่สามารถปฏิบัติการในขณะที่อยู่ใต้ผิวน้ำได้ สร้างจากเหล็กแต่มีความสามารถในการเคลื่อนที่ภายใต้น้ำ เรือดำน้ำถูกนำมาใช้ในการสงครามและการค้นคว้าสำรวจใต้ทะเลลึกในบริเวณที่มนุษย์เราไม่สามารถดำลงไปได้ด้วยการสวมเพียงชุดดำน้ำ ด้วยคุณสมบัติที่พิเศษเหนือกว่ายานพาหนะชนิดอื่นคือ มันสามารถอยู่ได้ทั้งบนผิวน้ำและใต้น้ำ ปัจจุบันเรือดำน้ำถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เราสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กที่สามารถดำน้ำในระดับที่ลึกมากเพื่อทำงานเฉพาะกิจบางอย่าง เช่น การสำรวจซากเรือโบราณ การวางสายเคเบิลใต้น้ำ การหาร่องรอยของแผ่นดินไหว และการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ซึ่งทำให้มนุษย์เราสามารถเข้าถึงโลกใต้ทะเลที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน (https://bit.ly/2XC3GeI)

ตลาดเรือดำน้ำโลกมีมูลค่ารวมกัน 21.4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 หรือเทียบเป็นเงินไทยได้ประมาณ 663,400 ล้านบาท ในกรณีที่ไทยซื้อเรือดำน้ำจีนในราคา 36,000 ล้านบาท (https://bbc.in/2qENmOn) คิดเป็นประมาณ 5.4% ของมูลค่าตลาดในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 หรืออีก 7 ปีต่อมา มูลค่าตลาดจะเป็น 30.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 945,500 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นประมาณ 4.5% ต่อปี แสดงว่าความต้องการซื้ออาวุธมีสูงขึ้นตลอดเวลา

สำหรับราคาของเรือดำน้ำนั้นแบ่งออกเป็นเกรด และหลายตระกูล อย่างกรณี the Virginia class หรือ SSN-774 class ซึ่งเป็นเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา มีราคา 2.8-3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 86,800-99,200 ล้านบาท มีความยาว 115 เมตร กว้าง 10 เมตร ความเร็ว 46 กิโลเมตรขึ้นไปต่อชั่วโมง วิ่งได้ 10.17 ล้านไมล์ บรรจุอาวุธเป็นตอร์ปิโดและจรวดระยะไกล (https://bit.ly/2D3mD0B)

มูลค่าของเรือดำน้ำยังขึ้นอยู่กับอายุของเรือดำน้ำที่ต้องบำรุงรักษามากหรือน้อยอีกด้วย ต้นทุนในการ “ยกเครื่อง” เรือดำน้ำนั้น เช่น จากลำละ 620 ล้านบาทในช่วงทศวรรษ 2533-2542 เป็น 930 ล้านบาทในช่วงทศวรรษ 2543-2552 และในปัจจุบันราว 1,550 ล้านบาทต่อลำ (https://bit.ly/34b4CsR และ https://bit.ly/2D8ZnOx) หากยิ่งอายุมากยิ่งเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามากขึ้น ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญ

ในการจัดซื้ออาวุธที่ทางราชการสหรัฐอเมริกาเสนอต่อสภานั้น (https://bit.ly/2XDTwKH) มีการระบุชัดเจนถึงรุ่น สมรรถนะ และรายละเอียดต่างๆเพื่อการตรวจสอบ รวมทั้งงบประมาณโดยรวม งบประมาณในแต่ละปี งบที่ผูกพันอื่นๆ และมีหมายเหตุถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่ยังไม่ได้รวมไว้ด้วย เช่น ค่าขนย้าย เพื่อให้สภามีข้อมูลประกอบการตัดสินใจอนุมัติซื้อ การจัดซื้อจึงต้องผ่านสภาที่ประชาชนเลือกมา ไม่ใช่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ตัดสินใจจัดซื้อกันเอง

สิ่งหนึ่งที่พึงรู้ก็คือ ในการสร้างเรือดำน้ำนั้น ในประเทศตะวันตกมีบริษัทที่รับจ้างทางราชการผลิตเรือดำน้ำ กองทัพเรือแต่ละประเทศไม่ได้ผลิตเรือดำน้ำเอง หรือรัฐบาลแต่ละประเทศไม่ได้ผลิตเรือดำน้ำเอง แต่มีบริษัทผลิตโดยตรง โดยในประเทศสหรัฐอเมริกามีบริษัทที่ผลิตเรือดำน้ำและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆอยู่หลายแห่ง ในการว่าจ้างให้ผลิตก็ต้องมีการประมูลกันตามสมควร คงไม่ได้ “ฮั้ว” กันเช่นในประเทศกำลังพัฒนา

ดังนั้น ในการประเมินค่าเรือดำน้ำคงต้องดำเนินการโดย

1.วิเคราะห์ตลาดเรือดำน้ำจากบทวิเคราะห์ของบริษัทที่เกี่ยวข้อง

2.หาราคาเรือดำน้ำในเชิงเปรียบเทียบทั่วโลก

3.หาข้อบ่งชี้เฉพาะสำหรับเรือดำน้ำที่จะซื้อกับเรือดำน้ำอื่น

4.ประมาณการค่าเสื่อม (กรณีซื้อเรือมือสอง)

5.ประมาณการค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตลอดอายุการใช้งาน

6.ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญกิจการเรือดำน้ำ เป็นต้น

ถ้ามีการวิเคราะห์เปรียบเทียบที่ดี รัฐบาลที่ต้องการจะซื้อจะสามารถทราบได้ว่าราคาที่จะซื้อนั้นสมควรหรือไม่ เราไม่ควรซื้อสินค้าใดๆโดยไม่ได้ผ่านการประเมินค่าโดยผู้ประเมินค่าทรัพย์สินมืออาชีพ รายงานประเมินจึงเป็นเครื่องมือในการใช้เจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย การประเมินค่าทรัพย์สินให้ถี่ถ้วนยังแสดงถึงความโปร่งใสในการจัดซื้อที่ส่วนราชการต่างๆควรดำเนินการ นอกจากนั้นการประเมินค่าทรัพย์สินยังเพื่อแสดงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้มีอำนาจจัดซื้อด้วย

ที่สำคัญเราจะได้ไม่ถูกครหาเรื่องเงินทอน เพื่อทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้นั่นเอง


You must be logged in to post a comment Login