วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

IVL เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนมูลค่า 1.5 หมื่นล้าน เคาะดอกเบี้ย 5 ปีแรก 5.00% ต่อปี

On October 8, 2019

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL บริษัทเคมีภัณฑ์ระดับโลก เตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน มูลค่าไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 ทริส เรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” และอันดับเครติตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable”

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนดังกล่าวกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ซึ่งเป็นอัตราที่จูงใจสำหรับการลงทุนในภาวะปัจจุบัน โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี อยู่ที่ 1.40% และอายุ 10 ปี อยู่ที่ 1.49% ทั้งนี้ บริษัทได้แต่งตั้งธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนในครั้งนี้ โดยคาดว่าจะเปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 4-7 พฤศจิกายน 2562 จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท

IVL เป็นบริษัทเคมีภัณฑ์อันดับที่ 35 ของโลก โดยวัดจากรายได้รวมปี 2561 ตามรายงานของ Chemical Week ทั้งนี้ ในช่วงปี 2557-2562 IVL ได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและสถานะการเงินด้วยการขยายการลงทุนในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ได้แก่ Integrated PET เส้นใยสำหรับเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ในบ้าน ผลิตภัณฑ์สุขอนามัย และยานยนต์ ออกไซด์แบบบูรณาการและอนุพันธ์ เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ และบรรจุภัณฑ์ โดยมีโรงงานผลิต 101 แห่ง ใน 31 ประเทศ ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งเอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว IVL ได้เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็น และเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบของแบรนด์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และเทคโนโลยีการผลิต

นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า เพื่อรองรับการเติบโตและความหลากหลายของธุรกิจ IVL ได้ขยายการบริหารงานทั้งสำนักงานส่วนกลาง สำนักงานภูมิภาค และส่วนธุรกิจต่างๆ ด้วยแนวทางเชิงกลยุทธ์และการเติบโตอย่างมั่นคง ส่งผลให้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา รายได้และกระแสเงินสดของ IVL เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นายซันเจย์ อาฮูจา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวเสริมว่า ในช่วง 5 ปีมานี้ IVL ได้เสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจและสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตแบบบูรณาการระดับโลกที่ขยายไปยังทุกภูมิภาค ครอบคลุมตลาดสำคัญๆที่มีการบริโภคสูง ซึ่งความหลากหลายและความเป็นผู้นำเหล่านี้ทำให้ IVL ได้รับการจัดอันดับการลงทุนที่ดี และจะสามารถยกระดับความแข็งแกร่งของบริษัทได้อย่างเหมาะสม

ด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจดังกล่าวทำให้ในปี 2560 ทริส เรทติ้ง เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของ IVL จาก “A+” แนวโน้ม “Stable” เป็น “A+” แนวโน้ม “Positive” จากนั้นในปี 2561 ได้เพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของ IVL อีกครั้ง จาก “A+” แนวโน้ม “Positive” เป็น “AA-” แนวโน้ม “Stable” และเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน จาก “A-” แนวโน้ม “Stable” เป็น “A” แนวโน้ม “Stable”

Dow Jones Sustainability Index หรือ DJSI ให้การยอมรับการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ IVL โดยได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ กลุ่มดัชนีตลาดประเทศเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) ตั้งแต่ปี 2560 และการดำเนินงานที่ดีขึ้นทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG Rating) สมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ระดับโลก (DJSI World) และยังคงเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ กลุ่มดัชนีตลาดประเทศเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยความมุ่งมั่นและความเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาพลาสติกด้วยการรีไซเคิล IVL ได้ประกาศแผนการลงทุนเพิ่มเติมสำหรับโรงงานรีไซเคิล PET ทั้งในรูปแบบการขยายกำลังการผลิตของโรงงานที่ดำเนินการปัจจุบัน และการเข้าซื้อกิจการที่เหมาะสมทั่วโลก ซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนที่ผลักดันให้ใช้พลาสติก PET รีไซเคิล หรือ rPETเพิ่มมากขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 12 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทมีรายได้ประมาณ 376,000 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (Core EBITDA) ประมาณ 45,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 21,000 ล้านบาท และสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ 38,000 ล้านบาท อีกทั้งยังได้จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังได้เพิ่มความแข็งแกร่งด้านสถานะการเงินจากการที่มีการใช้สิทธิแปลงสภาพวอแรนท์ระหว่างปี 2560-2561 ประมาณ 31,000 ล้านบาท และมีการกระจายความหลากหลายของแหล่งเงินทุน ทั้งจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน รวมถึงเงินกู้สีเขียว (Green loans) และการออกหุ้นกู้ทั้งในตลาดการเงินในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯในครั้งนี้


You must be logged in to post a comment Login