วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

“ไข้เลือดออก” อันตรายจากยุงลายวายร้ายตัวเล็ก

On July 19, 2019

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : ฉัฐฐิมา เสาวภาคย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  19-26 ก.ค. 2562 )

“โรคไข้เลือดออก” ชื่อนี้ยังได้ยินอยู่บ่อยๆจนเป็นที่คุ้นหูของคนทั่วไป ในช่วงฤดูฝนแบบนี้การเพาะพันธุ์ของยุงลายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออกที่จะตามมาในที่สุด โดยจากสถิติกรมควบคุมโรคปี 2562 (ข้อมูลเริ่มต้นจากวันที่ 1 ม.ค. ถึงวันที่ 25 มิ.ย. 62) พบว่าสถิติคนป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน 1.6 เท่า ผู้ป่วยเสียชีวิต 54 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.15

โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการของไข้เลือดออกมีทั้งหมด 3 ระยะคือ 1.ระยะไข้ ทุกรายจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักเกิน 38.5 องศาเซลเซียส มักมีอาการเบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีน้ำมูกหรือไอ อาจพบผื่น จุดเลือดออกตามผิวหนังได้ 2.ระยะวิกฤต (ช็อก) เป็นระยะที่มีการรั่วของน้ำออกนอกหลอดเลือด ซึ่งอยู่ในช่วง 24-48 ชั่วโมงที่มีไข้ลงอย่างรวดเร็ว และประมาณ 1/3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง มีการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว มีภาวะน้ำท่วมปอด ตับวาย ภาวะการรู้สติเปลี่ยนไป และจะเสียชีวิตในเวลา 12-24 ชั่วโมงหลังจากเริ่มช็อก แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิดก็จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และ 3.ระยะฟื้นตัว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อก เมื่อไข้ลดลงส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการดีขึ้น มีปัสสาวะออกมากขึ้น เริ่มมีความอยากอาหาร มีผื่นแดงคันตามตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า โดยระยะฟื้นตัวใช้เวลา 2-3 วัน ทั้งนี้ ระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7-10 วัน

กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของไข้เลือดออก ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ป่วยเด็ก เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกแล้วป่วยซ้ำด้วยไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ใหม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี่ในบางสายพันธุ์อาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น และผู้หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือแท้งบุตรได้

ขณะที่การรักษาโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก ฉะนั้นการรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และควรมาพบแพทย์หากมีอาการไข้สูงเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย พร้อมช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้านและในชุมชนด้วยมาตรการ “3 เก็บ 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันดอกไม้ทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายจะสามารถป้องกันได้ 3 โรคคือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลายอีกด้วย


You must be logged in to post a comment Login