วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต….ให้ห่างไกลโรคหัวใจ

On May 3, 2019

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : พล.อ.นพ.ประวิชช์ ตันประเสริฐ  อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 3-10 พฤษภาคม 2562 )

ปัจจุบันเราทุกคนทราบกันดีว่ามีโรคชนิดต่างๆเกิดขึ้นหลายโรค และสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมหรือการกระทำของตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในสังคม การทำงานหนักจนเกิดความเครียด การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารเร่งด่วน อาหารไม่ครบทุกหมวดหมู่ อาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อชดเชยความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลที่จะก่อให้เกิดโรคต่างๆตามมา โดยเฉพาะในกลุ่มของโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

โรคหัวใจ หมายถึงกลุ่มโรคที่มีผลต่อระบบหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจรั่ว โรคหัวใจรูมาติก เป็นต้น โรคหัวใจเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ปัจจุบันสาเหตุที่พบมากและเป็นอันตรายที่สุดคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่นำไปสู่อาการหัวใจวาย (Heart Attack) เดิมเชื่อว่าภาวะนี้เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือดจนเกิดการอุดตัน แต่ในปัจจุบันที่พบบ่อยมักเกิดจากผนังหลอดเลือดด้านในแตกจนเกิดการสะสมของลิ่มเลือดและนำไปสู่การอุดตันของเส้นเลือดแบบเฉียบพลัน การแตกของผนังหลอดเลือดด้านในนี้เกิดจากภาวะการอักเสบ (Inflammation) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจากอารมณ์แปรปรวน อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อนุมูลอิสระ ตลอดจนถึงภาวะความร้อนภายในร่างกาย การทำงานของฮอร์โมน การทำงานของประสาทอัตโนมัติ

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั้นควรเป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่ตัวเราเองก็สามารถสังเกตภาวะร่างกายตนเอง ซึ่งจะเป็นตัวนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ ได้แก่ ภาวะโรคอ้วน เครียดมากจนเกินไป อาการใจร้อน อารมณ์ร้อน รวมถึงภาวะอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง สูบบุหรี่ เป็นต้น อาการเริ่มต้นของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบนั้นจะแสดงออกในขณะเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น วิ่ง เดินขึ้นบันได หรือเมื่อโกรธ จะรู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกของโรคหัวใจขาดเลือดจะแตกต่างจากการเจ็บแบบอื่น โดยจะเจ็บแน่นๆบริเวณหน้าอกด้านซ้ายหรือสองด้าน บางรายจะเจ็บร้าวไปที่แขนซ้าย หรือมีอาการปวดไปถึงกรามคล้ายเจ็บฟัน เมื่อหยุดออกกำลังกายแล้วอาการเจ็บจะดีขึ้น แต่ถ้าเกิดการอุดตันของเส้นเลือดอาการเจ็บจะยังคงเป็นตลอดแม้หยุดออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังมีอาการหอบ เหนื่อยง่ายผิดปรกติ ใจสั่น ขาบวม อาจจะเป็นลม หรือมีอาการวูบร่วมด้วย

การดูแลป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดนั้นป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต รับประทานอาหารสุขภาพ ไม่เครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น ความจริงการรับประทานเป็นสิ่งที่จำเป็น ควรรับประทานแต่พอควร ไม่ควรให้อิ่มมากทุกมื้อ เลือกอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอและพอดี โอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจก็จะน้อยลง วิธีนี้เป็นการป้องกันตนเองก่อนที่จะเกิดโรค แต่ถ้าหากเกิดโรคขึ้นมาแล้วการรับประทานยาเป็นประจำ การผ่าตัด การทำบอลลูนขยายเส้นเลือดที่ตีบนั้น เป็นเพียงแค่การรักษาตามอาการเท่านั้น ไม่ได้ทำให้หายขาดจากโรค การแก้ไขดังกล่าวเป็นการแก้ไขแค่เพียงส่วนเล็กน้อยตรงบริเวณที่เส้นเลือดผิดปรกติที่ยาวเพียงไม่กี่มิลลิเมตรเท่านั้น ไม่ได้แก้ไขส่วนอื่นของเส้นเลือดที่ยาวมากมายที่มีอยู่ทั่วตัวเรา ถ้าเรายังคงดำเนินหรือมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตเหมือนเดิมก็อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกำเริบอีก

เมื่อเกิดภาวะบ่งชี้ของการเกิดโรค เช่น เจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก ใจสั่น ขาบวม ให้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโรคหัวใจ ควรพบแพทย์ทันที ยิ่งถึงมือแพทย์เร็วเท่าไรโอกาสที่แพทย์จะแก้ไขเส้นเลือดอุดตันให้เลือดไหลเวียนก็จะทำได้อย่างเร็วและมีประสิทธิภาพ หายจากโรคได้เร็ว แต่ก่อนเราเชื่อว่าเมื่อป่วยเป็นโรคหัวใจแล้วจะทำอะไรไม่ได้อีก ต้องนั่งนิ่งๆ นานๆ แต่ปัจจุบันความเชื่อนั้นเปลี่ยนไป คนผ่าตัดหัวใจแล้วยังสามารถทำงานได้ตามปรกติ สามารถออกกำลังกายได้ไม่แพ้คนปรกติ บางคนแข็งแรง สามารถเล่นกีฬาได้เหมือนนักกีฬาอาชีพ แต่การฟื้นฟูสภาพร่างกายควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดด้วยโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจ ซึ่งจะทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปรกติได้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตให้ถูกต้อง รับประทานยาประจำสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารสุขภาพให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ ทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องกระทำต่อเนื่องและตลอดไปเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำขึ้นอีก

กระบวนการนี้โดยรวมคือการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ เริ่มจากการชะลอความเสื่อมของร่างกายและเส้นเลือด โดยดูแลก่อนการเกิดโรคคือการป้องกันการเกิดโรค การดูแลขณะเป็นโรคคือการรักษา พร้อมช่วยแก้ไขสมรรถภาพร่างกายที่ผิดปรกติขณะเป็นโรคให้กลับสู่สภาพเดิม การดำรงพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ดีต่อเนื่องเป็นประจำหลังการรักษาหายจากโรค เพื่อป้องกันการกลับมาเกิดซ้ำของโรคเดิม ดังนั้น ทุกคนต้องเริ่มดูแลสุขภาพ ฟื้นฟูร่างกาย ชะลอความเสื่อมของหัวใจ ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (คงสภาพความหนุ่มสาว) กันตั้งแต่วันนี้


You must be logged in to post a comment Login