วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

อิทธิพลของมลภาวะ

On April 3, 2019

คอลัมน์ สันติธรรม
อิทธิพลของมลภาวะ
โดย บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้วันสุข 5-12 เมษายน 2562)

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อชีวิตมนุษย์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ควันไฟที่เกิดจากการเผาป่าในภาคเหนือขณะนี้ทำให้มีผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเดินเข้าโรงพยาบาลกันเป็นว่าเล่น และจะมีผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆติดตามมามากขึ้นเรื่อยๆ แพทย์บอกว่าสมองต้องการเลือดและเลือดต้องการออกซิเจน ถ้าอากาศมีออกซิเจนน้อยจะมีผลต่อการทำงานของสมอง

นอกจากควันพิษมีผลทางกายภาพแล้วยังมีผลต่อจิตใจอีกด้วย คนป่วยและพ่อแม่ของเด็กที่ป่วยจากการสูดดมควันพิษเข้าไปจิตใจคงห่อเหี่ยวหรือไม่ก็สาปแช่งผู้เผาป่า อย่าว่าแต่คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเลย อีกหลายคนก็เกลียดชังและสาปแช่งคนที่เป็นต้นเหตุให้เกิดมลพิษเช่นกัน
desert at night
มนุษย์เรามีประสาทสัมผัสรับสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเข้าไปในร่างกาย ถ้าอาหารที่เข้าทางปากและควันที่เข้าทางจมูกมีผลต่อชีวิต สิ่งที่เข้าทางหูและตาก็ย่อมมีผลต่อชีวิตเช่นกัน เด็กที่ได้ยินได้เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันด้วยวาจาหยาบคายและใช้ความรุนแรงจะซึมซับรับเอาพฤติกรรมของพ่อแม่ไปเป็นนิสัย

มนุษย์มีความตระหนักถึงอิทธิพลของสภาพแวดล้อมต่อชีวิตมาตั้งแต่อดีตแล้ว ในศาสนามีเรื่องราวยืนยันความจริงเรื่องนี้อยู่

ในคัมภีร์กุรอานมีเรื่องเล่าว่า เมื่อนบีอิบรอฮีมได้ลูกชายคนแรกชื่ออิสมาอีลกับภรรยาคนที่สองในอียิปต์ได้ไม่นาน เขาได้ตัดสินใจพาภรรยาและทารกน้อยอิสมาอีลเดินทางรอนแรมเข้ามายังคาบสมุทรอาหรับ เมื่อมาถึงบริเวณหุบเขาบักก๊ะฮฺซึ่งเป็นหุบเขาทุรกันดารไร้ผู้คน เขาได้ทิ้งภรรยาและทารกน้อยอิสมาอีลไว้พร้อมกับเสบียงและน้ำที่กินได้ไม่กี่วัน

ทำไมนบีอิบรอฮีมจึงทำเช่นนั้นทั้งๆที่เขาเพียรวอนขอต่อพระเจ้าให้ประทานลูกแก่เขามาเป็นเวลานาน แต่พอได้ลูกชายคนแรกแล้ว เขากลับนำไปปล่อยไว้ในหุบเขาที่ทุรกันดารไร้ผู้คน

คำตอบคือ สังคมอียิปต์ในเวลานั้นเป็นสังคมอวิชชา ผู้คนเคารพกราบไหว้ดวงดาว ผีสางเทวดา และวัตถุบูชาสารพัดรูปแบบ ไม่ต่างไปจากสังคมในอิรักบ้านเกิดเมืองนอนของเขาซึ่งเขาอพยพออกมา

นบีอิบรอฮีมได้ลูกชายคนแรกเมื่อเขามีอายุมากแล้ว เขารู้ดีว่าวันหนึ่งเขาต้องตายจากโลกนี้ไป หากลูกของเขาต้องถูกทิ้งไว้ให้เติบโตในสังคมอวิชชาเช่นนั้น ลูกชายสุดที่รักของเขาจะซึมซับรับเอาความอวิชชาของสังคมอียิปต์เข้าไปในจิตวิญญาณและกลายเป็นคนอวิชชาไปในที่สุด

สิ่งสำคัญที่ทำให้นบีอิบรอฮีมตัดสินใจยอมเสียสละสิ่งที่ตนเองรักที่สุดคือคำบัญชาของพระเจ้า เขานำครอบครัวของเขาออกจากสภาพแวดล้อมอวิชชาเพื่อรักษาความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวไว้ เขาถือว่าถ้าลูกชายของเขาต้องตายในสภาพที่วิญญาณสะอาดหมดจดจากมลทินอวิชชา มันยังดีกว่าที่จะปล่อยให้ลูกชายของเขาตายในสภาพเป็นคนอวิชชา

นบีอิบรอฮีมมีประสบการณ์มาแล้วในเมืองอูร์บ้านเกิดเมืองนอนของเขา ซึ่งทำให้เขาเชื่อมั่นว่าถ้าใครศรัทธาในพระเจ้า พระองค์จะคุ้มครองคนผู้นั้น และความเชื่อมั่นของเขาก็เป็นจริง เพราะอิสมาอีลได้รับความคุ้มครองจากพระเจ้าจนรอดชีวิตเติบโตขึ้นมา และเป็นบรรพบุรุษของชาวอาหรับเผ่ากุเรช เผ่าที่นบีมุฮัมมัดถือกำเนิดขึ้นมา

ชาวอาหรับยังคงเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมต่อชีวิตต่อเนื่องกันมา เมื่อหุบเขาบักก๊ะฮฺกลายเป็นชุมชนเมืองมักก๊ะฮฺและเป็นศูนย์กลางทางด้านการค้า ครอบครัวชาวอาหรับที่มีฐานะจะจ้างหญิงที่เพิ่งคลอดลูกในชนบทมารับลูกของตนไปเลี้ยงนอกเมือง นบีมุฮัมมัดขณะเป็นทารกก็มีหญิงชนบทที่เป็นแม่นมมารับท่านไปเลี้ยง

เหตุผลของการทำเช่นนั้น ประการแรกก็เพราะเมืองมักก๊ะฮฺเป็นชุมทางการค้าที่มีกองคาราวานสินค้าผ่านเข้าออกตลอดเวลา เมืองมักก๊ะฮฺจึงเต็มไปด้วยฝุ่นทรายและพ่อค้าจากต่างถิ่นที่พูดภาษาตลาดหลากหลายสำเนียง ชาวอาหรับในเมืองมักก๊ะฮฺจึงต้องการให้ลูกของตัวเองได้รับอากาศบริสุทธิ์นอกเมือง และได้ภาษาอาหรับดั้งเดิมจากครอบครัวอาหรับในชนบท

อาจเป็นเพราะการอยู่ท่ามกลางทะเลทรายที่อ้างว้างกว้างใหญ่ไพศาล ไร้สิ่งที่เป็นอวิชชาตั้งแต่วัยเด็กนี้เอง จึงทำให้นบีมุฮัมมัดไม่ชอบการเคารพบูชารูปปั้นตั้งแต่เด็กเช่นเดียวกับนบีอิบรอฮีมบรรพบุรุษของท่าน


You must be logged in to post a comment Login