วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

เอาสนามหลวงคืนประชาชน

On January 24, 2019

คอลัมน์ โลกอสังหาฯ
เอาสนามหลวงคืนประชาชน
โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้วันสุข 25 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2562 )

วันก่อนผมเดินได้เกือบครึ่งรอบสนามหลวง สังเกตดูว่าตอนนี้สนามหลวงถูกปิดล้อมไว้ด้วยรั้วกั้น ประชาชนไม่มีโอกาสใช้งานเท่าที่ควร เราควรช่วยกันเรียกร้อง ร้องเรียนให้สนามหลวงกลับมาเป็นของหลวง หรือของประชาชนเจ้าของประเทศ ได้ใช้กันดังแต่ก่อน

ผมรู้จักท้องสนามหลวงในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กอายุ 10 ขวบ หรือเมื่อราว 51 ปีก่อน สมัยนั้นผมไปหัดขี่จักรยานสองล้อเป็นที่สนามหลวงแห่งนี้ ต่อมาก็ไปเล่นว่าว หรือดูเขาเล่นว่าว โดยเป็นการต่อกรกันระหว่างว่าวจุฬากับว่าวปักเป้า ในสมัยนั้นยังมีตลาดนัดท้องสนามหลวงก่อนที่จะย้ายไปจตุจักร แต่เดี๋ยวนี้สมบัติของแผ่นดินถูก “ปล้น” ไป “ขัง” ล้อมรั้วไว้เฉยๆ แทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย แน่นอนว่าในงานพระราชพิธีต่างๆก็ต้องใช้สนามหลวงแห่งนี้ แต่ในยามปรกติก็มักให้ประชาชนได้ใช้เสมอ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป

จาก wikipedia ท้องสนามหลวง หรือสนามหลวง เป็นสนามขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยทางขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้าอยู่ด้านเหนือ ทางด้านตะวันออกเป็นศาลฎีกา ด้านใต้เป็นวัดพระแก้ว ด้านตะวันตกเป็นวัดมหาธาตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติ มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา ตั้งแต่ปี 2520 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ
สนามหลวง1
สนามหลวง2
สนามหลวง3
สนามหลวง4
ท้องสนามหลวงเดิมเรียกว่าทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆมีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคลมาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า “ทุ่งพระเมรุ” นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นให้เรียกว่า “ท้องสนามหลวง”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบบริเวณ ข้างในสร้างหอพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธี สำหรับการพิธีมีพลับพลาที่ทำการพระราชพิธี มีหอดักลมลงที่พลับพลาสำหรับทอดพระเนตรการทำนา ข้างพลับพลามีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง ด้านเหนือมีพลับพลาน้อยสร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้วยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว

ที่ผ่านมายังมีการใช้สนามหลวงจัดกิจกรรมต่างๆของสาธารณชน อาทิ การปราศรัยใหญ่ในการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้ง หรือการชุมนุมทางการเมืองต่างๆ รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางกีฬา การละเล่นต่างๆ เช่น ฟุตบอล หรือเล่นว่าว และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปรับปรุงท้องสนามหลวงตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ก็ไม่อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางการเมืองใดๆเหมือนในอดีต

ที่ผ่านมาก่อนหน้าทุกวันนี้กรุงเทพมหานครอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการ แต่ห้ามนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย จอดรถ หรืออาศัยเป็นที่หลับนอน ซึ่งสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ระหว่างเวลา 05.00-22.00 น. นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถสัญจรผ่านถนนเส้นกลาง ซึ่งเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังศาลฎีกาได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นกรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเหตุการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่สนามหลวง เป็นหน่วยงานของราชการสังกัดกรุงเทพมหานคร ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในท้องสนามหลวง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังจะสังเกตได้ว่ารั้วของสนามหลวงแทบไม่มีการเปิด มีเปิดเฉพาะจุดคัดกรองสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าชมพระบรมมหาราชวัง แต่ก็เป็นแค่มุมหนึ่งเท่านั้น ผู้คนแทบไม่มีโอกาสเข้าไปใช้สนามหลวงนั่งพักผ่อนหย่อนใจดังแต่ก่อน แม้แต่เก้าอี้รอบสนามหลวงก็ปรากฏว่าได้มีการรื้อถอนออกไปบางส่วน ภายในตัวสนามหลวงเองก็ดูมีการปรับปรุงอะไรบางอย่าง แต่ไม่สังเกตเห็นมีประกาศว่ากำลังดำเนินการอะไรกันแน่

แต่ที่แน่ๆก็คือ รั้วด้านนอกของสนามหลวงเหลือพื้นที่ตรงขอบสนามหลวงเพียงราว 2-3 เมตรเท่านั้น แถมยังมีโคนต้นไม้ขวางทางเดินอีกต่างหาก ทางเดินจริงๆจึงเหลือราว 1 เมตรบริเวณโคนต้นไม้ บ้างต้องออกมาเดินบนถนนแทน ยิ่งบริเวณป้ายรถประจำทาง เมื่อมีคนมาออกันมากๆก็คงต้องลงไปบนถนน ซึ่งคงจะอันตรายไม่น้อย ส่วนทางเดินกว้างขวางที่ยังมีรั้วกั้นอีกชั้นหนึ่ง และบางส่วนก็ยังมีเก้าอี้อยู่นั้น ประชาชนกลับไม่ได้มีโอกาสเข้าไปนั่ง แล้วอย่างนี้สมควรหรือไม่

กทม. จะเอาอย่างไรกันแน่ น่าจะชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบบ้างว่าเมื่อไรจะได้ใช้สนามหลวงเพื่อการหย่อนใจเสียที


You must be logged in to post a comment Login