วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

“บ้านเมืองไม่ใช่ของ คสช. คนเดียว?” สัมภาษณ์- โคทม อารียา โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On February 12, 2018

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้การปฏิรูปประเทศไม่ใช่เรื่องของ คสช. ฝ่ายเดียว ต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย การสร้างความปรองดองก็ใช้กฎหมายกดทับไว้ การเลือกตั้งก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนคำพูดของนายกรัฐมนตรีไม่น่าเชื่อถือ

+++++++++++

การสร้างความปรองดอง

การสร้างความปรองดองภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพก็มีแต่ลดน้อยถอยลง เรื่องความปรองดองผ่านไป 3 ปีกับ 8 เดือนหลังการยึดอำนาจ ถามว่าตัวละครทางการเมืองหลักๆมีอะไรบ้าง ถ้าเป็นพรรคการเมืองก็พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมก็มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับอีกฝ่ายคือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หากเป็นนักการเมืองที่เคยสวมเครื่องแบบคือ คสช.

ตอนนี้ คสช. ยอมรับว่าตัวเองเป็นนักการเมืองแล้ว แต่การกำหนดกฎเกณฑ์กติกาต่างๆก็คิดเอาเองฝ่ายเดียว ควรเปิดรับฟังอย่างกว้างขวางจะดูดีกว่า ผมยังไม่เห็นว่าใครจะปรองดองกับใครได้ยังไง ครั้งหนึ่ง คสช. พยายามจะทำสัญญาประชาคม ทำกันครึกโครมอยู่นิดหน่อย มีใครจำได้หรือไม่ว่า คสช. ทำสัญญาประชาคมอย่างไร และใครเป็นภาคีสัญญาประชาคม ใครไปตกลงกับใคร เรื่องอะไร ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามแล้วรู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ผมมีบทความอันหนึ่งของคุณอานันท์ ปันยารชุน ท่านเรียกร้องว่าให้เปิดการพูดคุยสนทนา สานเสวนาไดอะล็อก ถ้าเราต้องการก้าวพ้นความขัดแย้ง เพื่อความเข้าใจกัน ทนรับฟังซึ่งกันและกันได้ เอาใจเขามาใส่ใจเราตามหลักสานเสวนา แต่ 3 ปีครึ่งก็ยังไม่ได้เริ่มเลย ที่ผ่านมามีแต่ผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำคือ คสช. ผู้ถูกกระทำคือฝ่ายต่างๆ คล้ายกับว่าคนที่ขยันขันแข็งคือ คสช. ส่วนฝ่ายอื่นก็เฉยๆ เฉื่อยๆ

จริงๆเรามีคล้ายกับกฎอัยการศึกนะ จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2558 เขาจึงใช้คำว่ากฎอัยการศึก ต่อมาก็มีการออกคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 แทนกฎอัยการศึก หลายคำสั่งคล้ายคลึงกันคือจำกัดสิทธิเสรีภาพ เพราะกลัวว่าให้คนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองแล้วจะวุ่นวาย เขาจึงใช้อำนาจมาบังคับกดทับไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วจะเกิดความปรองดองได้อย่างไรผมยังนึกไม่ออก

จนกระทั่งมีกฎหมายพรรคการเมือง ก็บอกว่าพรรคการเมืองต้องเตรียมตัวอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อไปสู่การเลือกตั้ง จะมีไพรมารีโหวตต้องมีสมาชิกในทุกเขตเลือกตั้งหรืออะไรก็ตามแต่ แล้วเป็นอย่างไร ออกมาแล้วไม่ใช้ เอาคำสั่ง คสช. มาแก้อีก กฎหมายเลือกตั้งออกมาก็ต้องใช้ แต่เขาบอกว่ายังไม่ใช้ ก็มาสู่เงื่อนไขขยายเวลาการเลือกตั้งออกมาอีก 90 วัน แล้วยังถามว่าอะไรกันนักหนา แค่ฉันจะเลื่อนไป 90 วัน มาวุ่นวายอะไรกับฉัน ฉันจะเลื่อนเป็นเรื่องของฉัน ผมจึงนึกไม่ออกว่าแล้วเราจะปรองดองกันได้อย่างไร

มองเป้าหมาย คสช. อย่างไร

ถ้าดูจากการกระทำของ คสช. พอเดาๆได้ว่าเป็นอย่างที่นักการเมืองบางคนบอกว่าเขาอยากตั้งพรรคการเมืองแต่ไม่ค่อยพร้อม ตั้งใจอยากเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกก็ต้องเตรียมการเรื่องนี้ ซึ่งสิ่งบ่งชี้นอกจากเลื่อนเลือกตั้งแล้วเลื่อนอีก เช่น คำถามนำว่าถ้า คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคหนึ่งก็เป็นสิทธิของ คสช. ใช่มั้ย นายกรัฐมนตรีไม่ลงเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะ 1.รัฐธรรมนูญห้ามไว้ 2.ไม่ได้บอกว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี คนในอาจอยากเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกก็ได้ ผมก็ไม่เข้าใจ เพราะเขามีหลายช่องทาง

การแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 3 เดือน เหตุผลก็อ้างไปเรื่อย สมัยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยึดอำนาจปี 2549 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เขายังจัดเลือกตั้งปลายปี 2550 แค่ปีเศษๆ แต่คราวนี้ คสช. บอกว่าไม่พร้อม มันมีอะไรบางอย่างที่เขาเตรียมอยู่

ผมก็พยายามฟังว่าเขามีความคิดอย่างอื่นหรือไม่ ผมคิดว่าเขายังสองจิตสองใจ พล.อ.เปรมก็เตือนแล้วว่ากองหนุน คสช. ลดน้อยถอยลง เขาจะออกทางไหน นายกรัฐมนตรีก็อยู่ที่พรรคการเมืองที่เขาหนุนเต็มที่ ใช้อำนาจรัฐที่อยู่ในมือ คสช. ไปสนับสนุน ซึ่งดูไม่จืดเลย อำนาจรัฐหมายถึงระบบราชการต้องเป็นกลางในการเลือกตั้ง ไม่ใช่เอาราชการไปสั่งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง จะสั่งโดยตรงโดยอ้อมก็ไม่ถูกทั้งสิ้น

จะเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือจะล้างมือในอ่างทองคำ ก็น่าจะประกาศไปเลยว่าข้าพเจ้าทำสำเร็จแล้ว คืนความสุขให้ประชาชนได้แล้ว เพราะได้วางรากฐานไว้อย่างดีแล้ว ต่อไปใครจะทำอะไรก็เป็นความรับผิดชอบของนักการเมืองหรือคนรุ่นต่อไป คสช. ก็จะลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม มีผลงานเต็มที่อย่างที่เขาฉายหนังไว้ เศรษฐกิจดีขึ้น แม้ความจริงที่เศรษฐกิจดีขึ้นทั่วโลกเป็นระดับมหภาค เศรษฐกิจระดับรากหญ้าก็กำลังมีโครงการไทยนิยม โครงการเยอะแยะที่จะลงสู่รากหญ้า ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เขาสนใจคนยากคนจน อย่างนี้ผมไม่คัดค้านหรอก แต่เขาพยายามวางฐานทางเศรษฐกิจ มีโครงการไทยนิยม ใช้งบประมาณต่างๆ มันโปร่งใสหรือไม่

ดูเหมือนการขับเคลื่อนขณะนี้คือด้านวัฒนธรรมเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องค่านิยม 12 ประการ การต่อต้านคอร์รัปชันที่รณรงค์ว่ามาเพื่อปราบโกง รัฐธรรมนูญปราบโกง ตอนนี้ก็มีคำว่า “ไทยนิยม” ซึ่งมีนัยทางการเมือง ประชาธิปไตยก็ต้องไทยนิยม เอาไทยนิยมก็ต้องลงรากหญ้า ประชารัฐจะช่วยคนจน ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการก็ให้โรงเรียนต่างๆรวมทั้งอาชีวศึกษาสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย พูดง่ายๆพยายามรื้อฟื้นความเป็นชาตินิยมขึ้นมา ที่สำคัญเขาตั้งเป้าหมายไว้มาก โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ 20 ปี ความจริงตามรัฐธรรมนูญมีกำหนดเวลาต้องทำให้เสร็จ แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่เห็นว่ายุทธศาสตร์อยู่ตรงไหน มีแต่ว่าจะให้ประเทศไทยพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางเป็นรายได้ระดับสูงภายใน 20 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

เขาวางอะไรต่อมิอะไรไว้มาก ที่สำคัญที่สุดคือวางหมากรัฐธรรมนูญให้มีสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง 5 ปี เลือกตั้งช้าก็เลื่อน 5 ปีออกไปอีก เขาเตรียมไว้หมด เขาต้องการเวลาวางรากฐานอย่างที่คิดไว้ให้ดีที่สุดแล้วจึงจะลงจากเวทีอย่างสง่างาม

ผมสรุปเป้าหมายของ คสช. 2 แนวทางคือ 1.เขาต้องการเวลาเพื่อตั้งพรรคการเมืองและอยากจะสืบทอดอำนาจ อยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนในหรือคนนอกก็แล้วแต่ คืออยากเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ จึงต้องใช้เวลาวางแผนให้แน่ใจ พยายามจะตีตื้นคะแนนนิยมจากประชาชน

อย่างที่ 2 ไม่เอาแล้ว วางรากฐานดีแล้ว ทำทุกอย่างสงบเรียบร้อย ทุกอย่างอยู่ในวินัย อยู่ในโอวาท รัฐเข้มแข็งไม่ต้องเป็นห่วง ถ้าต่อไปจะเกิดความวุ่นวาย ใครทำก็รับผิดชอบไป ผมทำดีที่สุดแล้ว ผมขอเป็นรัฐบุรุษนะ ไม่เอาแล้วเรื่องที่จะต้องเสียสละเหนื่อยยาก ทำเต็มที่ให้แล้ว ประเด็นที่ 2 คือไม่ต้องการสืบทอดอำนาจโดยตัวบุคคล แต่สืบทอดอำนาจผ่านระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รัฐธรรมนูญเขียนอยู่ในนั้นหมดแล้ว ไม่ต้องลงมาทำด้วยตัวเอง ใครจะทำก็ว่ากันเองต่อ

การดำเนินคดีกับประชาชน

ทำมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตั้งแต่เรื่องประชามติรัฐธรรมนูญก็โดนหลายคดี ตอนนี้ก็โดนนั่นโดนนี่ไปเรื่อยๆ เช่น กรณีอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการทำกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ หรือกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้เลือกตั้งปีนี้ อันนี้เป็นเรื่องสิทธิทางการเมือง แต่ที่ผมวิตกคือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการจัดการป่าจะเอาอย่างไร คสช. ยึดอำนาจก็ประกาศแผนแม่บทป่าไม้ว่าจะมีป่าไม้ 40% ได้คืนมาบ้าง แต่เต็มที่หรือเปล่าไม่รู้ ได้คืนอย่างถาวรยั่งยืนหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าจะให้มีป่าสงวนฯ ป่าอนุรักษ์ 40% ของประเทศ ผมก็ไม่ทราบรายละเอียด แต่ป่าธรรมชาติมีคนอยู่หรือเปล่า ให้คนที่บุกรุกป่าสงวนฯออกไป ต้องถามว่าแล้วจะให้เขาไปอยู่ที่ไหน แผนแม่บทใส่ใจเรื่องการสร้างป่าชุมชนอย่างจริงจังหรือไม่ ความจริงชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเท่าที่ผมสังเกตและศึกษามานานแล้ว ถ้าเขาทำป่าเสียหายหมดก็อยู่ไม่ได้ วิธีการทำเกษตรของเขาเป็นการเกษตรยั่งยืน เพราะทำผืนนี้แล้วย้ายไปอีกผืนหนึ่งแล้วกลับมาทำผืนเก่า เป็นเกษตรกรรมหมุนเวียน แม้จะต้องการพื้นที่เยอะหน่อย แต่ไม่ใช่ทำลายธรรมชาติอย่างเดียว มีการรื้อฟื้นธรรมชาติด้วย ถ้าเขาทำลายธรรมชาติก็อยู่ไม่ได้

คสช. ต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่มีแผนแม่บทก็พยายามไปจัดการกับคน ต้องให้ทางเลือกทางออกเขาด้วย เหมือนเรื่องการทำเหมืองทอง ถามว่าทำไมรัฐบาลชะลอการทำเหมืองทอง คนทำเหมืองเขาไม่รับผิดชอบเรื่องมลพิษหรือไม่ พูดตรงไปตรงมาเลยชาวบ้านรับไปเต็มๆ ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีสารตะกั่วหรือสารพาราควอต มีมลพิษที่ทำให้ชาวบ้านป่วย ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค คุณจะทำเหมืองก็ต้องดูแล ไม่ใช่ได้สัมปทานแล้วผลักภาระผลักปัญหาให้สังคม คุณมีกำไรเข้ากระเป๋าแต่ผลักภาระให้สังคมมันไม่ถูก อย่างนี้ต้องคุยกัน ถ้าคนบริหารจัดการไม่มองมิติให้รอบด้านก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้ง ใช้อำนาจกดไว้แล้วมันก็เป็นวัฏจักร

อย่างก่อนปี 2516 ค่าจ้างแรงงาน 12 บาทต่อวัน ราคาข้าวเกือบเท่าปัจจุบัน ไม่ได้ขึ้นเลย 45 ปี ความเดือดร้อนมันถูกกดทับหลายเรื่อง ไม่มีระบบสาธารณสุขที่ดีพอ พอรัฐบาลทหารหมดอำนาจปี 2516 ปัญหาต่างๆก็โผล่ขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แล้วก็บอกนี่ไง ถ้าไม่มีฉันก็วุ่นอย่างนี้ ผมก็กลัวเหมือนกันว่าถ้า คสช. ไป ไอ้ที่กดๆไว้มันจะโผล่ขึ้นมา ผมหวังว่าปัจจุบันเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น แต่เมื่อไม่คุยกัน ต่างคนต่างคิด มีคนที่สุดโต่ง ยอมหักไม่ยอมงอ มันก็ไปกันยาก อย่างนี้ก็แฉลบไปแฉลบมาทางอำนาจนิยม อีกสักพักก็ไปไม่ไหว แฉลบไปประชาธิปไตยเสรีพักหนึ่งก็มีปัญหา แล้วบอกว่าคนไทยใจร้อนจึงต้องปฏิรูป ปฏิรูปแล้วเป็นยังไง บางคนก็บอกว่าต้องศึกษาโน่นศึกษานั่น ต้องการเวลาในการขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมผมก็นึกไม่ออกว่าจะสำเร็จได้ยังไง ใช้วิธีจากบนลงล่างแทนที่จะใช้วิธีจากล่างขึ้นบน บนลงล่างก็วางกฎระเบียบต่างๆนานาจนคนอึดอัด พอเปิดฝาออกมาให้มันก็เดือดและวุ่นวายไปหมด

เลือกตั้งปี 2562 ก็ไม่แน่นอน

ผมไม่ทราบว่าคำว่า “โรดแม็พ” ของ พล.อ.ประยุทธ์แปลว่าอะไร โรดแม็พต้องมีเงื่อนเวลากำกับ ถ้าพูดถึงการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ไปพูดกับผู้นำญี่ปุ่นทำนองว่าการเลือกตั้งน่าจะมีปี 2559 ไปพูดที่องค์การสหประชาชาติบอกว่าจะมีปี 2560 ไปที่สหรัฐก็บอกว่าจะเลือกตั้งปี 2561 ตอนนี้กลับบอกอีกอย่าง เขาก็อ้างโรดแม็พไปเรื่อยๆ เป็นแค่วาทกรรม คนไทยงงว่าโรดแม็พของท่านแปลว่าอะไร ผมก็งง โรดแม็พมันต้องเดินไปสู่จุดใดจุดหนึ่ง ในเวลาใดเวลาหนึ่ง ทำตามโรดแม็พ

จะเลือกตั้งเมื่อไรต้องไม่เลื่อน ไม่ใช่ไปพูดที่ญี่ปุ่นก็ไม่เกี่ยว ไปบอกยูเอ็นและสหรัฐก็ไม่เกี่ยว ไม่ใช่โรดแม็พของผม ในอนาคตยังไงก็ต้องมีการเลือกตั้ง จะดีหรือไม่ดีไม่รู้ ความจริงต้องมีเลือกตั้งมานานแล้ว ตอนนี้ผมไม่เชื่อถือวาจาของนายกฯแล้ว เพราะท่านพลิ้วได้ตลอดเวลา พลิ้วได้แม้กระทั่งว่าไม่มีเลือกตั้งเลยก็ไม่มีใครเดือดร้อน พลิ้วขนาดนี้ก็ต้องถามว่ามีคนเห็นด้วยแค่ไหน ต้องทวงถาม ถามไปท่านก็พลิ้วว่าไม่เคยสัญญา พลิ้วไปเรื่อยจนไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร ผมคิดว่าคงไม่เป็นถึงขนาดนั้น

ส่วนที่นายกฯโยนคำถามให้ประชาชนว่าจะเลือก คสช. หรือจะกลับไปเป็นแบบเดิมนั้น ความจริงท่านก็โยนมาหลายคำถามแล้ว ท่านเอาตัวท่านเป็นที่ตั้งมากไปหรือเปล่า ถ้าไม่มีท่านอาจจะดีหรือไม่ดีก็ไม่รู้ แต่ท่านก็บอกว่าถ้าไม่มีท่านแล้วมันจะเป็นแบบเดิมๆ แบบไหนล่ะ

มีคนเล่าว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 บอกว่าข้าพเจ้าคือรัฐ ฟังดูคล้ายๆกับข้าพเจ้าคือรัฏฐาธิปัตย์ ตอนหลังก็บอกว่าหลังจากยุคท่านแล้วมันจะกลียุคนะ ความจริงกลียุคอาจเพราะพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำผิดพลาด เช่น ใช้จ่ายเงินเกินตัว เป็นต้น ผมก็ไม่ทราบว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว บ้านเมืองจะกลับไปเหมือนเดิมหรือเกิดความวุ่นวายอีกหรือไม่ แต่แสดงว่า 4 ปีครึ่งที่ท่านอยู่ในอำนาจ คือถ้าเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 กว่าจะมีรัฐบาลใหม่ก็เกือบ 5 ปีนั้น แสดงว่าท่านไม่ได้ทำอะไรสำเร็จเลยใช่หรือไม่ บ้านเมืองจะกลับไปเหมือนเดิมคือเท่ากับศูนย์ จึงต้องพึ่ง คสช. ให้ปกครองประเทศต่อ ผมว่าท่านเอาตัวท่านเป็นตัวตั้งมากเกินไปหรือเปล่า

เรื่องการปฏิรูป

ตอนนี้ยังงงอยู่ เพราะตอนที่เขียนโครงการก็กำหนดว่าจะต้องปฏิรูปพื้นฐานต่างๆ อยากจะให้คนที่มาปฏิรูปส่วนหนึ่งคือพรรคการเมือง เพราะจะมีอำนาจทางการเมือง อาจมีคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ สร้างความสามัคคีปรองดอง ให้มาประชันวิสัยทัศน์ มาพูดคุย แต่ตอนนี้แค่การปฏิรูปการศึกษาเป็นยังไง อาจารย์จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน เรื่องปฏิรูปตำรวจเป็นยังไง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน คุยกับนักการเมืองหรือไม่ว่าโอเค เอามั้ย หรือให้แสดงวิสัยทัศน์อย่างไร เพื่อจะได้ไปกำหนดเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งกันต่อไป ประชาชนจะได้ตื่นตาตื่นใจ มีทางเลือก อย่างนี้ดีอย่างนั้นไม่ดีเพราะอะไร ถกแถลงชี้แจงเหตุผลกันให้ชัดเจน แต่การเลือกตั้งเลื่อนออกไปก็ต้องหาจังหวะที่มันสอดคล้องกัน เหมือนคุณปรุงอาหารมันอาจจะจืดชืดไป

การปฏิรูปประเทศไทยไม่ใช่เรื่องของ คสช. ฝ่ายเดียว ต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย มีนักวิชาการ ภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมบ้าง นอกจากนี้ยังต้องเปิดโอกาสให้นักธุรกิจที่มีความสามารถมาร่วมด้วย เพราะทุกภาคส่วนมีส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อบ้านเมือง เราจะยกบ้านเมืองให้ คสช. ฝ่ายเดียว แล้ว คสช. บอกว่าผมไปแล้วมันจะกลียุค อย่างนี้ผมคิดว่าไม่ถูก คุณต้องทำให้ทุกคนมีความคิดว่าเขามีส่วนร่วมประคับประคองบ้านเมืองได้เหมือนกัน ทุกคนอยากจะให้บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า ความหวังดีของ คสช. เรารับไว้ ทราบแล้ว แต่คุณก็ต้องทราบความหวังดีของฝ่ายอื่นๆด้วย จะขอบคุณเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการทำโครงการถกแถลง จะได้มาช่วยแจมว่าจะปฏิรูปกันอย่างไร แล้วจะเกิดผลดีผลเสียอย่างไร ให้คนไทยรู้สึกเป็นเจ้าของมากขึ้นในการปฏิรูปที่จำเป็นต้องทำสำหรับอนาคตของประเทศไทย ประเทศไทยต้องเคลื่อนไป ต้องมีการพัฒนาไป อนาคตของเราจะดีจะด้อยก็ไปตามกาลเวลา แต่ไม่ถึงกับแย่จนเกินไป เราสามารถร่วมกันทำให้ดีกว่านี้ได้


You must be logged in to post a comment Login