วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

ด้านมืดตัวเองของมนุษย์ / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On February 12, 2018

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

ปราชญ์ชาวกรีกโบราณอย่างเพลโตเคยกล่าวว่า “ผู้ที่ชอบกล่าวความจริงนั้นย่อมจะได้รับความเกลียดชังมากที่สุดในสังคมของมนุษย์”

คำกล่าวนี้บ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะนิสัยหรือสันดานส่วนลึกที่สุด ซึ่งเป็นโฉมหน้าที่แท้จริงของมนุษย์เรา

อมตวาจาของเพลโตสอดคล้องและสนับสนุนเหตุผลในทางเดียวกับทรรศนะของคาร์ล กุสตาฟ จุง จิตแพทย์ชาวสวิสที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นจิตแพทย์ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งกล่าวว่า “มนุษย์เราหากไม่เคยได้ลิ้มรสสัมผัสกับส่วนที่ลึกที่สุดของขุมนรกโลกันตร์ มันก็เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะก้าวขึ้นไปถึงสรวงสวรรค์ได้”

คำกล่าวนี้มีความหมายในทางปรัชญาของศาสนาที่ลึกซึ้งมาก โดยเฉพาะนัยของศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นเถรวาทหรือมหายานก็ตาม

เป็นความจริงว่ามนุษย์เรานั้นหากไม่เคยลิ้มรสของความทุกข์ยากและมืดมนที่สุด ก็เป็นเรื่องยากที่จะเบิกบานและมีจิตที่สว่างไสว เข้าใจลึกซึ้งในธรรมรสได้ ข้อนี้เป็นธรรมซึ่งบ่งบอกว่ามนุษย์จะมองเห็นธรรมอันเป็นด้านสว่างที่สุดได้นั้น มีความหมายในอีกนัยว่าจะต้องมองเห็นและยอมรับด้านมืดของตนเองให้ได้เสียก่อน

ถ้าจะกล่าวให้เข้าใจเรื่องนี้ง่ายขึ้นต้องไปรื้อถึงตำนานอิแนนนา (Inanna) ของชาวสุเมเรียนโบราณที่รู้จักกันดีในฐานะ “ราชินีแห่งสรวงสวรรค์” ของพวกสุเมเรียน กล่าวได้ว่าในบรรดาชาดกหรือตำนานของสุเมเรียนนั้นมีตำนานหรือเรื่องราวเกี่ยวกับเธอมากที่สุด

ชาดกและเรื่องราวอันมากมายนั้นมีสารพัด ตั้งแต่ความรัก กิเลส ตัณหา ราคะ ไปจนถึงการสู้รบในสงคราม การเมือง และเรื่องราวจิปาถะอีกมากมาย ทำให้เธอเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากในอารยธรรมของสุเมเรียน

สาเหตุอาจเพราะเธอเป็นกวี จึงมีบทบาทต่อการสร้างสรรค์งานประพันธ์หรือมหากาพย์มากมายของพวกสุเมเรียนนั่นเอง และอาจเป็นเพราะความเชื่อของสุเมเรียนที่ว่า เธอคือผู้ใกล้ชิดกับพระเจ้าในสถานะใดสถานะหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่ราชินีแห่งสรวงสวรรค์ หรือราชธิดาของพระเจ้า ทำให้มีการยกย่องสถานะของอิแนนนาเอาไว้สูงส่งและถูกยกย่องให้ความสำคัญมากมายในวัฒนธรรมของสุเมเรียน

ในเรื่องเล่าอันมีมากมายเกี่ยวกับอิแนนนา มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษ แม้แต่คาร์ล กุสตาฟ จุง ยังนำปมบางปมหรือบางเรื่องเล่าของเธอในตำนานมาอ้างอิงในทางวิชาการจิตวิเคราะห์

คาร์ล กุสตาฟ จุง ถือว่าอิแนนนาคือแบบฉบับของความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวมาก ความกล้าหาญที่ยากมากที่สุดของเธอคือ การไม่ยึดติดกับสิ่งใดๆ ถือว่ามีความเป็นขบถอันสูงสุด คือไม่แค่ทั้งนรกและสวรรค์

ในบรรดาสิ่งที่มนุษย์ยอมรับได้ยากหรือไม่ได้เลย เพราะยึดติดอยู่กับหน้าตา เกียรติยศ และชื่อเสียงของตนเอง แต่มันไม่มีปัญหาอะไรเลยกับอิแนนนา สภาวะที่เป็นความกล้าหาญและความเป็นขบถ รวมถึงความว่างเปล่า เกี่ยวข้องกับการกล้าเพียงพอที่จะยอมรับด้านมืดของตัวเอง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะมีอยู่ในทั่วทุกตัวคน

ปรัชญาความกล้าหาญอย่างถึงที่สุดอยู่ตรงการกล้ายอมรับต่อด้านมืดของตัวเอง อิแนนนาไม่แคร์แม้แต่การสมสู่กับมนุษย์ในขุมนรกที่ลึกที่สุด ยอมรับสิ่งที่เป็นความทุกข์มากที่สุด

นี่คือความจริงตามการกล่าวของคาร์ล กุสตาฟ จุง ว่า แม้ไม่ได้สัมผัสถึงก้นบึ้งลึกสุดของขุมนรกโลกันตร์ ก็ไม่อาจก้าวขึ้นถึงจุดสูงสุดของสรวงสวรรค์ได้เลย

บางทีผู้ที่ถืออำนาจอยู่ในมืออาจจำเป็นต้องยอมรับด้านมืดของตนให้ได้เสียก่อนจึงจะเข้าถึงความจริงเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากไม่ยอมรับความกล้าหาญในแบบฉบับของอิแนนนาแล้วก็อาจต้องยินยอมน้อมรับต่ออีกปรัชญาแทน นั่นคือ “แม้นไม่เห็นโลงศพก็ไม่หลั่งน้ำตา!”

หรือว่าบ้านเมืองไทยในตอนนี้กำลังถึงทางเลือกระหว่างความกล้าในการยอมรับด้านมืดที่สุดของตัวเองกับการต้องเดินไปเพื่อหลั่งน้ำตาใสๆตอนเห็นโลงศพ

มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 72 ไฮไลท์ในงานไม่ได้มีเพียงการแข่งขันฟุตบอลประเพณีเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ถูกจับตามองมากและถือเป็นสีสันของงานมาโดยตลอดคือ “ขบวนหุ่นล้อการเมือง” ที่จัดอย่างอลังการเป็นประจำทุกปี ปีนี้ได้เพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีกเมื่อมีข่าวว่ามีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากผู้มีอำนาจของบ้านเมือง ซึ่งห้ามทำหุ่นคล้ายผู้นำทหารหรือล้อเลียนประเด็นนาฬิกาหรู ตรวจอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

ประเด็นนี้คงกล่าวอะไรไม่ได้มากมายนัก คงทำได้เพียงแค่การยกตัวอย่าง ใครอ่านบทความนี้จบแล้วคิดได้ก็เชิญเลือกกันเองแล้วกัน นี่คือความจริงที่คาร์ล กุสตาฟ จุง ได้บอกเราว่า ความจริงนั้นขมขื่นเจ็บปวดนัก แต่เราต้องยอมรับให้จงได้จึงจะมีโอกาสสัมผัสกับสรวงสวรรค์!


You must be logged in to post a comment Login