วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

โอกาสแตกหักการเปลี่ยนแปลง / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On February 5, 2018

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

หากเราได้พิจารณาแนวความคิดของ Arnold Toynbee จากทฤษฎี Challenge and Respond พร้อมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ของเขาตั้งแต่แนวความคิดที่ว่าการกำเนิดอารยธรรม (genesis) ได้มาพร้อมกับการกร่อนสลายภายในตัวของมันเอง คือการเกิดในความหมายของ Arnold Toynbee ที่มาพร้อมกับความเสื่อมถอยนั่นเอง

ความจริงทฤษฎี Challenge and Respond เราจะพบความเป็นจริงว่า เขามีความเชื่อว่าการสร้างสรรค์ความคิดขึ้นมาใหม่ของ creative minority group เชื่อเรื่องการ compose หรือการจัดเรียบเรียงความคิดขึ้นมาใหม่

ประเด็นน่าพิจารณาเห็นจะเป็นที่ว่า มนุษย์นั้นที่สุดก็อาศัยอยู่ด้วยความเชื่อและศรัทธานั่นเอง

ดังจะเห็นได้จากทรรศนะของคาร์ล กุสตาฟ จุง นักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ชาวสวิส ซึ่งมองว่ามนุษย์ได้สร้างความเชื่อและศรัทธาของตนเองสืบมาจากความรู้ในเรื่องนักษัตร แล้วใช้ข้อมูลและความรู้จากนักษัตรมาสร้างและผูกเป็นตำนานของความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จนต่อมาตำนานความศักดิ์สิทธิ์นั้นมนุษย์ได้สร้างขึ้นมาจากความเชื่อของตัวเองให้กลับกลายเป็นสิ่งที่ครอบงำความเชื่อให้บังเกิดขึ้นในจิตของมนุษย์เสียเอง จนสามารถครอบงำเป็นจิตสำนึก ความเชื่อ ความศรัทธาในที่สุด

จากข้อสรุปของ Arnold Toynbee ซึ่งได้ศึกษาผ่านการเกิดและการล่มสลายของอารยธรรมหลักในโลกถึง 23 อารยธรรม เพื่อทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์จนเขาได้สร้างสมมุติฐานหรือทฤษฎีหลักเพื่ออธิบายถึงการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ สังคมจะต้องมีกลุ่มท้าทายการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรียกว่า festive minority group โดยถือว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มส่วนน้อยในสังคม แต่เป็นกลุ่มผู้นำการท้าทาย โดยผลักดันสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามแนวความคิดใหม่ที่ได้นำเสนอหรือชี้นำสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยความคิดที่ใหม่กว่าความคิดของบรรทัดฐานดั้งเดิมของสังคม ตั้งแต่เรื่องจารีตประเพณี วิถีชีวิตของผู้คน และระเบียบกฎหมาย ตลอดจนถึงระบบของการปกครอง

หากตีความจากทฤษฎี Challenge and Respond อาจบอกได้ว่า ทฤษฎีของ Arnold Toynbee ที่บอกว่าเมื่อมีการท้าทายหรือ challenge เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา จะต้องมีการ compose คือเกิดกระบวนการจัดเรียบเรียงความคิดกันขึ้นมาเสียใหม่

ประการแรกเราต้องเข้าใจว่าเหตุใด Arnold Toynbee จึงให้ความสำคัญมากกับการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีอารยธรรมหรือ civilization เป็นองคาพยพส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ตรงนี้ทำให้มีบางคนยกย่องให้ Arnold Toynbee เป็นนักอภิประวัติศาสตร์ ซึ่งยังกินความไปถึงว่าเขาคือผู้ที่นำประวัติศาสตร์กับปรัชญาเข้ามาหลอมรวมกัน จนบอกได้ว่างานเขียนประวัติศาสตร์ของ Arnold Toynbee คืองานเขียนประวัติศาสตร์ของโลกนั่นเอง

เราพิจารณาจากการใช้คำว่า composed ของ Arnold Toynbee ซึ่งความหมายตรงไม่ได้แปลว่าการเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธี รวมทั้งถ้าเราศึกษางานของ Oswald Spengler ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อ Arnold Toynbee อาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรของมันมากกว่า อาจอธิบายได้ในลักษณะของกฎไตรลักษณ์ตามพระพุทธศาสนานั่นเอง และเป็นไปอย่างที่ทั้ง Arnold Toynbee และ Oswald Spengler เชื่อว่าการเกิดขึ้นและการกร่อนสลายของอารยธรรมนั้นคือสภาวะของทั้ง 2 ด้านที่เกิดมาพร้อมกัน ทำนองเดียวกับการออกยอดของใบมะละกอที่จำเป็นต้องยอมเสียสละใบเก่าของมันทิ้งไปเสียก่อน

หากเราเปรียบเทียบทรรศนะของ 2 นักจิตวิทยาชื่อก้องโลกระหว่างซิกมันด์ ฟรอยด์ กับคาร์ล กุสตาฟ จุง เราคงต้องบอกว่าคาร์ล จุง ไปลึกกว่าซิกมันด์ ฟรอยด์ ซึ่งมองเพียงเฉพาะปมเรื่องของเพศเท่านั้น แต่คาร์ล จุง ไปถึงขั้นระบุว่ามีสภาวะอันลึกมากกว่าจิตใต้สำนึก และยังกล่าวถึงองค์รวมของจิตที่เรียกกันว่า social mind หรือจิตสำนึกของสังคมนั่นเอง ซึ่งไม่แตกต่างกันมากนักกับทรรศนะของ Arnold Toynbee ที่กล่าวถึง social mind รวมทั้งให้ความสำคัญกับ mind record ในการบันทึกและเขียนประวัติศาสตร์ โดย Arnold Toynbee เคยกล่าวว่า man is a whole encyclopedia

บุคลิกภาพของมนุษย์เราจะเป็นไปอย่างไร หากมองปัญหาในแบบของคาร์ล จุง กล่าวอ้างถึงที่สุดกันแล้วทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมี 2 ด้าน หากจะอธิบายและให้เหตุผลเกี่ยวกับจิตวิทยากับการส่งผลต่อพัฒนาการทางจิตวิทยาของมนุษย์คงต้องบอกว่าคาร์ล จุง นั้น มีความลึกซึ้งละเอียดอ่อนมากกว่าซิกมันด์ ฟรอยด์

บางคนถึงกับระบุว่า คาร์ล จุง เชื่ออย่างลึกซึ้งถึงเรื่องกฎแห่งกรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพื้นฐานในการอธิบายถึงเรื่องของจิตใกล้เคียงกับความเชื่อของ Arnold Toynbee เช่นกัน โดยคาร์ล จุง ใช้คำว่า social ขณะที่ Arnold Toynbee เรียกว่า social mind นั่นเอง


You must be logged in to post a comment Login