วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

‘ประชารัฐ’เอื้อทุนใหญ่ซ้ำเติมคนจน /โดย ilaw.or.th

On November 27, 2017

คอลัมน์ : ข่าวไร้พรมแดน

ผู้เขียน : ilaw.or.th

เว็บไซต์ iLaw รายงานการจัดเสวนาเรื่อง “ประชารัฐคืออะไร เพื่อคนไทยหรือเพื่อนายทุน?” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560 โดย ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้น

อาจารย์สามชายกล่าวว่า นโยบายประชารัฐเป็นนโยบายที่ประชันขันแข่งกับประชานิยม จะเห็นได้ว่าโครงการภายใต้นโยบายประชารัฐมีความเหมือนกับโครงการประชานิยมในอดีต เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทรเปลี่ยนเป็นโครงการบ้านประชารัฐ กองทุนหมู่บ้านเดิมก็ถูกเปลี่ยนชื่อโครงการเป็นกองทุนเศรษฐกิจฐานราก ร้านธงฟ้าเป็นร้านประชารัฐ คำว่าประชารัฐเคยถูกพูดถึงในอดีตคือเพลงชาติไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และการกล่าวถึงในหนังสือเรื่องประชารัฐของชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่หนังสือเล่มนี้พยายามนำเสนอว่า ประชารัฐเป็นแนวทางที่พยายามทำให้ประชาชนอยู่เหนือรัฐ ลักษณะของประชารัฐคือ รัฐจะต้องได้รับการยอมรับอย่างชอบธรรม จะต้องมีพื้นที่อิสระในการมีส่วนร่วม ระบบราชการจะต้องรับผิดชอบในการดำเนินการต่างๆ และจะต้องมีข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ ซึ่งลักษณะทั้งหมดไม่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในทางปฏิบัตินโยบายประชารัฐยังนำภาคธุรกิจเอกชนมาเป็นส่วนขับเคลื่อนที่แทบจะควบคุมรัฐ ซึ่งเป็นการสร้างโครงสร้างทางสังคมที่เป็นอันตราย

ในแง่นี้คือ รัฐกำลังจับมือกับเอกชนรายใหญ่ให้มาลงทุนในบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ซึ่งกลุ่มบริษัทที่มีความเข้มแข็งมากเหล่านี้ยังเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีที่กระจายในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ขณะเดียวกันรัฐจัดสรรเงินผ่านโครงการต่างๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น สิ่งที่รัฐบาลทำเกี่ยวกับประชารัฐตอนนี้คือ ส่งเงินลงไปจำนวนมากและให้บริษัทไปตั้งรออยู่ นอกจากนี้รัฐยังทำตัวเสมือนประทับตรารับรองร้านค้าประชารัฐเพื่อให้คนไปซื้อสินค้ามากขึ้น คำถามคือคิดว่าสุดท้ายเงินมันจะไปที่ไหน?

อาจารย์สามชายอธิบายบริษัทประชารัฐรักสามัคคีว่า เป็นวิสาหกิจชุมชนจัดตั้งเพื่อให้เอกชนไปช่วยชาวบ้านและหาตลาดให้ โดยคาดหวังว่าบริษัทเอกชนจะนำความรู้ของภาคเอกชนไปช่วยชาวบ้าน แต่การดำเนินงานในลักษณะนี้จะมั่นใจได้อย่างไรว่าสินค้าพวกนี้จะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ได้จริง เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีบริษัทประชารัฐฯก็เคยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในโครงการอื่นมามากแล้ว และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสินค้าของชาวบ้านจะถูกวางเพื่อที่ชาวบ้านจะได้ผลกำไร เพราะการจัดวางสินค้าเหล่านี้มีต้นทุนที่ต้องเสีย

ทั้งที่มีวิสาหกิจชุมชนอยู่แล้วและชาวบ้านถือหุ้น 100% ทำไมไม่เริ่มต้นจากด้านล่าง ถ้าเอกชนบริสุทธิ์ใจที่จะช่วยทำไมไม่เริ่มต้นจากฐานล่างที่เป็นประชาชนก่อน แทนที่จะไปเริ่มจากด้านบนอย่างรัฐหรือเอกชนเช่นนี้ หากจะทำประชารัฐภาคประชาชนจะต้องเป็นใหญ่และสมาทานสิทธิในการเข้าถึงทุนหรือทรัพยากรของภาคประชาชน การจัดสรรที่ดิน ป่าไม้ และน้ำ ที่ปัจจุบันถูกลิดรอนมาโดยตลอดต้องให้ประชาชนเข้าถึงให้ได้ และกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นธรรม ประชารัฐที่รัฐบาลกำลังพูดถึงคือ การสร้างความเท่าเทียมกันและความเป็นประชาธิปไตย แต่ผิดฝาผิดตัว วิธีปฏิบัติจึงเลื่อนไหลไปเรื่อย สร้างความไม่เชื่อมั่นและเสื่อมศรัทธาลงไปเรื่อยๆ

ประชารัฐจึงส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมเพิ่มสูงขึ้น ทุนขนาดใหญ่เอกชนจะครอบคลุมรัฐ ประชาชนเป็นแรงงานในการผลิต ดึงทรัพยากรออกจากชุมชน สิ่งไหนมีคุณภาพจะถูกดึงออกมา ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่และมีแนวโน้มอาจจะรุนแรงมากขึ้น กลุ่มทุนขยายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นในรูปแบบของประชารัฐ

คนจนในวงล้อมของประชา “รัด”

อาจารย์เดชรัตกล่าวว่า ทุนประชารัฐเป็นเครือข่ายเฉพาะตัวที่คนเข้าร่วมมีความใกล้ชิดกับรัฐบาล แต่หากมองในแง่บวก ในการจัดการเชิงโครงสร้าง การเปิดกว้าง การแก้ไขในเรื่องกฎกติกามีความจำเป็น แต่สิ่งที่ คสช. ไม่ได้ทำคือ การออก พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชนอย่างชัดเจน ความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชนกับนโยบายประชารัฐคือ ถ้าเป็น พ.ร.บ. หมายถึงทุกคนสามารถไปร่วมในวิสาหกิจชุมชนได้ แต่ คสช. ไม่ออก พ.ร.บ. จึงกลายเป็นว่าถ้าใครอยากร่วมวิสาหกิจชุมชนต้องมาร่วมกับรัฐภายใต้นโยบายประชารัฐ

สิ่งนี้คือปัญหาของกระบวนการที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนทำหน้าที่ได้อย่างทัดเทียมกัน ดังนั้น ใครที่เชื่อว่านโยบายประชารัฐเป็นสิ่งที่ดี ต้องตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่เปิดโอกาสให้ทุกคนทำได้

อาจารย์เดชรัตให้ภาพเศรษฐกิจไทยภายใต้นโยบายประชารัฐของ คสช. ว่า ปี 2559 ประเทศไทยมีคนจนประมาณ 5.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 963,000 คนจากปี 2558 โดยกลุ่มคนที่จนที่สุดมีรายได้ประมาณ 9,604 บาทต่อเดือน มีรายจ่ายอยู่ที่ 12,163 บาทต่อเดือน ภาวะติดลบทางการเงินทำให้คนจนไม่ได้รับอาหารเท่ากับเกณฑ์ที่ควรจะได้รับ ไม่ใช่ว่าอาหารไม่พอ แต่คนจนเข้าถึงอาหารไม่ได้ เพราะมีราคาแพงขึ้นอย่างมาก ราคาที่แพงขึ้นนี้เกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์มากนัก ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่คนกลาง และคนที่ได้มากที่สุดคือคนที่อยู่ปลายทาง คือเป็นคนที่ทำนโยบายประชารัฐ  จะเห็นได้ว่าการดำเนินการนี้ทำแล้วยังไม่เห็นผลในภาพรวม แต่เห็นผลบางส่วนอย่างที่รัฐโฆษณากัน

เมื่อดูผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติถึงตัวเลขส่วนแบ่งรายได้ประจำของคนต่อเดือนเปรียบเทียบระหว่างปี 2558 และ 2560 กลุ่มคนที่จนที่สุดรายได้น้อยลง เมื่อพิจารณารวมแล้วคนไทย 40% มีรายได้น้อยลง ขณะที่กลุ่มที่รวยอยู่แล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น แปลว่าเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตดีในกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ดี ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศเริ่มขยับตัวดีขึ้น แต่คนจนยังจนลง การอยู่ในวงล้อมประชา “รัด” ทำให้การต่อรองไม่อาจดำเนินการได้

ผลกระทบต่อเกษตรกร

อาจารย์สุรวิชกล่าวว่า รัฐบาลใช้แนวนโยบายประชารัฐดำเนินการเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผ่านโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่สัมพันธ์กับทุนขนาดใหญ่ กลุ่มทุนจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตปุ๋ยและยา ภาคเกษตรจะอยู่ได้ต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเกษตรกรทั่วไปไม่มีศักยภาพในการซื้อหาเทคโนโลยีเหล่านี้ เจตนาดังกล่าวดีจริงหรือไม่ต้องมองประกอบกฎหมายอื่นด้วย เช่น ต้นปีรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาประมวลรัษฎากร รายละเอียดหลักคือ ก่อนหน้านี้ผู้ให้เช่าที่ดินเคยหักค่าใช้จ่ายได้ 61% อาชีพเกษตรกรเคยหักค่าใช้จ่ายได้ 80-90% แล้วแต่รูปแบบของการเกษตร แต่พระราชกฤษฎีกานี้เหมารวบหักได้ 60% ทั้งหมด

จึงไม่แน่ใจว่ารัฐบาลอยากจะช่วยเกษตรกรมากแค่ไหน ผู้ที่ให้เช่าที่ดินมีภาระเพิ่มขึ้น 1% แต่เกษตรกรหักค่าใช้จ่ายได้ลดลงทีเดียวถึง 30% เบื้องต้นมีคำอธิบายมาว่า เกษตรกรจนอยู่แล้วไม่ต้องเสียภาษี ไม่เดือดร้อนอยู่แล้ว นอกจากนี้นโยบายทางการเกษตรยังมีข้อขัดแย้งบางอย่าง กล่าวคือ รัฐบาลมีการสนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่มีแนวโน้มการใช้สารเคมีสูง ทวนกระแสกับความต้องการของโลกที่ต้องการผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นข้อด้อยของประชารัฐที่ไม่ได้ไตร่ตรองรอบคอบหรือกำหนดสัดส่วนพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่และเกษตรอินทรีย์

ส่วนสถานการณ์ของ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ หากประกาศใช้จะเอื้อให้ทุนใหญ่ในการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ที่เป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในด้านการเกษตร ซึ่งกระทบต่อความมั่งคงทางอาหาร โดยมีแนวโน้มว่าจะบีบให้เกษตรกรที่เคยเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกเองเลิกเก็บ เพราะมีโอกาสผิด พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดจะอยู่ภายใต้สิทธิของบริษัทเอกชน ซึ่งมีโอกาสที่เกสรของต้นไม้ที่เกิดจากเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะปลิวและผสมเข้ากับพืชพันธุ์ของชาวบ้าน เมื่อเกิดการผสมพันธุ์แล้วบริษัทเอกชนสามารถฟ้องร้องได้ เรียกได้ว่าเกษตรกรอาจเป็นอาชญากรได้หน้าตาเฉยในวันใดวันหนึ่ง

ส่องผ่านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก

อาจารย์วาสนาอธิบายการร่วมมือกันของรัฐและทุนผ่านแว่นประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกว่า ลักษณะของอำนาจรัฐจับมือกับนายทุนเพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องใหม่ ล่าสุดเห็นได้จากกรณีของฮ่องกงที่รัฐบาลจีนเลือกคนจำนวนหนึ่งในฮ่องกงมาเป็นตัวแทนเลือกตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกง และผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งได้จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีน ที่น่าสนใจคือตัวแทนเลือกตั้งเป็นนายทุนใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของฮ่องกง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นโยบายของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกงก็จะมีการเอาใจนายทุนที่เป็นตัวแทนเลือกตั้ง ก่อให้เกิดปัญหาคือ ชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงานคุณภาพชีวิตแย่ลง นำไปสู่การปฏิวัติร่มในปี 2557 นอกจากนี้การที่จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ ส่วนหนึ่งคือจีนใช้การเป็นพันธมิตรกันระหว่างรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและนายทุน ดังนั้น หากคิดว่าประชารัฐร่วมมือกับนายทุนก็จะคล้ายบางส่วนของนโยบายที่รัฐบาลจีนทำมาตลอด

อีกตัวอย่างคือ ไซบัตสึ (Zaibutsu) กลุ่มทุนของญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลญี่ปุ่นในยุคเผด็จการทหาร ไซบัตสึเริ่มเกิดขึ้นจากการปฏิรูปประเทศให้เป็นสมัยใหม่ที่ต้องใช้เงินจำนวนมากจนรัฐบาลล้มละลาย และหันไปให้สัมปทานกับเอกชนร่วมทำโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคที่โดยมากเป็นทุนกลุ่มใหญ่ ก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน นายทุนได้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าหนี้ให้เงินและเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสาธารณูปโภคไปด้วยอีกทาง การพัฒนาก้าวกระโดดของญี่ปุ่นมาจากรัฐบาลเผด็จการและกลุ่มทุนขนาดใหญ่จนกระทั่งเป็นแรงขับดันให้เกิดการทำสงครามเพื่อหาทรัพยากรป้อนกลุ่มทุนและหาตลาดรองรับสินค้า

ในแง่หนึ่งการรวมตัวกลุ่มทุนกับรัฐบาลที่ไม่มีประชาธิปไตยก็สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ แต่ต้องวงเล็บไว้ว่า มันก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม อย่างไรก็ตาม นโยบายของจีนและญี่ปุ่นต่างกับประชารัฐคือ บริษัทหลายบริษัทที่เข้าร่วมประชารัฐมีลักษณะข้ามชาติ กำไรของเขาไม่ได้กลับมาเพื่อความมั่นคงหรือความอยู่ดีกินดีของคนไทย ส่วนตัวจึงรู้สึกว่าพันธมิตรระหว่างอำนาจรัฐกับทุนในยุคประชารัฐมีแนวโน้มคล้ายกับจักรวรรดินิยมในอดีต


You must be logged in to post a comment Login