วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

จากวีรบุรุษสู่ทรราช? / โดย ณ สันมหาพล

On November 26, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง

ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

พรรคซานู-พีเอฟ พรรครัฐบาลซิมบับเว ได้ให้ที่ประชุมรัฐสภาถอดถอนประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ ผู้นำวัย 93 ปี ออกจากตำแหน่งในวันที่ 21 พฤศจิกายน ซึ่งไม่ยอมลาออกหลังจากเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทหารได้ยึดอำนาจจากมูกาเบ

รัฐธรรมนูญของซิมบับเวกำหนดให้สามารถถอดถอนประธานาธิบดีได้หากมี “การประพฤติผิดร้ายแรง ละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ปฏิบัติตาม ไม่พิทักษ์ หรือไม่ปกป้องรัฐธรรมนูญ” หรือ “เป็นบุคคลไร้ความสามารถ”

กองทัพซิมบับเวยืนกรานว่าไม่ใช่การทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล เป็นเพียงการเข้าปราบปรามกลุ่มอาชญากรรม ขณะที่ประธานาธิบดีมูกาเบและนางเกรซ มูกาเบ ภริยา ถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพัก

สถานการณ์ในซิมบับเวจะกลับคืนสู่ปรกติเร็วแค่ไหนก็ต้องติดตามกันต่อไป เพราะประชาชนหลายหมื่นคนก็ออกมาเรียกร้องให้มูกาเบออกจากตำแหน่งเช่นกัน ขณะที่สื่อต่างประเทศระบุว่าการยึดอำนาจครั้งนี้เกิดจากการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างนางเกรซ มูกาเบ กับนายเอ็มเมอร์สัน มนังกักวา อดีตรองประธานาธิบดีที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

สำนักข่าวบีบีซีไทยได้รายงานประวัติของมูกาเบที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้นำเหล็กแห่งซิมบับเว” ที่เผชิญกับความรุนแรงทางการเมืองเพราะความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสร์ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส์รายงานว่า ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 เงินเฟ้อของซิมบับเวแตะระดับ 89,700 ล้านล้านล้านเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

สาธารณรัฐซิมบับเว (Republic of Zimbabwe) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาติดกับประเทศแอฟริกาใต้ เดิมเป็นอาณานิคมของอังกฤษชื่อว่า เซาท์โรดีเซีย เมืองหลวงคือกรุงฮาราเร

โรเบิร์ต มูกาเบ เป็นลูกชายของช่างไม้ในชนบท แต่โชคดีได้ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยในแอฟริกาใต้ และมีโอกาสได้สอนหนังสืออยู่ในประเทศกานาพักหนึ่ง เขาสนใจเรื่องการเมือง ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนผิวขาวผู้ปกครองประเทศกับประชาชนอย่างมาก เมื่อกลับมายังบ้านเกิดในปี 1960 เขาได้เข้าไปช่วยก่อตั้งพรรคซิมบับเว แอฟริกัน เนชั่นแนล ยูเนี่ยน หรือซานู ซึ่งแยกตัวมาจากพรรคเดิม

ต่อมาปี 1964 เขาถูกจับในข้อหาพูดจาปลุกปั่นในที่สาธารณะ และถูกจำคุก 10 ปี เมื่อถูกปล่อยออกมาเป็นอิสระตรงกับช่วงสงครามกลางเมือง กลุ่มคนผิวดำซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลคนขาว มูกาเบเข้าร่วมกับแนวหน้าคนรักชาติแห่งซิมบับเวต่อต้านรัฐบาล การไกล่เกลี่ยที่ลอนดอนในปี 1979 ทำให้การสู้รบยุติลงและนำไปสู่การเลือกตั้งปี 1980 ทำให้ซิมบับเวได้เอกราช

พรรคของมูกาเบซึ่งเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “ซานู พีเอฟ” ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเหนือพรรคคนผิวดำอื่นๆ ทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นความหวังของประชาชนว่าจะนำประเทศสู่ประชาธิปไตยภายใต้ระบอบรัฐสภา

มูกาเบได้ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผิวดำมากมาย เช่น เพิ่มค่าจ้าง ให้เข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ และแจกจ่ายอาหาร แต่เมื่อเขาปลดผู้นำชนกลุ่มน้อยออกจากรัฐบาลทำให้ความยุ่งยากตามมา มีการปะทะกันระหว่างชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจของซิมบับเวทรุดลงอย่างรวดเร็ว พวกผิวขาวซึ่งเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจประเทศต่างพากันอพยพออกไป เพราะกังวลต่อความปลอดภัยของตนเอง

เมื่อความนิยมในตัวมูกาเบตกลง เขาก็ยิ่งใช้ความรุนแรงในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม เสรีภาพของสื่อถูกควบคุม นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกคุกคามทำร้าย ขณะที่เศรษฐกิจยิ่งตกต่ำ ซิมบับเวที่เคยอุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภูมิภาคกลับกลายเป็นประเทศที่ยากจนขาดแคลนทุกอย่าง

ท่ามกลางการแข่งขันทางการเมืองจากคู่แข่ง มูกาเบได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2013 ขณะที่มีอายุ 89 ปี หลายคนเริ่มคิดว่าเขาจะอยู่ไปอีกนานเท่าไร และใครจะมาสืบทอดอำนาจแทน ซึ่งมูกาเบเลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถามนี้ ขณะที่สุขภาพของเขาก็อ่อนแอลงจนเกิดการแย่งชิงอำนาจกันในพรรคซานู พีเอฟ ของบรรดาแกนนำพรรค รวมถึงภรรยาของมูกาเบที่เข้าเล่นการเมืองหลังจากกำจัดคู่แข่งคนสำคัญออกไปได้

การสืบทอดอำนาจและการผูกขาดอำนาจมายาวนานของมูกาเบนำมาสู่ความขัดแย้งและรัฐประหารในที่สุด ทั้งหมดมีผลพวงสำคัญคือวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่มูกาเบไม่ยอมรับว่าตัวเองล้มเหลว และยังดันทุรังที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป


You must be logged in to post a comment Login