วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ตุลาการภิวัฒน์ / โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

On September 4, 2017

คอลัมน์ : ข่าวไร้พรมแดน

ผู้เขียน : ปิยบุตร แสงกนกกุล

จากกรณีที่คุณวัฒนา เมืองสุข ถูกศาลลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 2 ครั้งภายใน 1 สัปดาห์ ผมขอนำบางส่วนบางตอนจาก “บทนำ” ในหนังสือเล่มใหม่ของผมที่จะตีพิมพ์กลางเดือนกันยายนมาให้อ่านกันดังนี้

หากลองนำ Judicialization of Politics ของต่างประเทศ มาเปรียบเทียบกับ “ตุลาการภิวัฒน์” ของประเทศไทยแล้ว มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญอยู่ 2 ประการ

ประการแรก กลไกทางกฎหมายที่คุ้มครอง “ตุลาการภิวัฒน์”

หากพิจารณา Judicialization of Politics ในประเทศอื่นแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทผู้พิพากษา ดูหมิ่นศาล หรือละเมิดอำนาจศาล เพื่อป้องกันและปราบปรามบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา

เมื่อศาลขยายแดนอำนาจเข้ามามีบทบาทในแดนทางการเมือง ตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแล้ว ย่อมเป็นไปได้เสมอว่าองค์กรทางการเมืองอื่นและพลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษานั้นอาจไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและบทบาทของศาล องค์กรทางการเมืองและพลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆจึงต้องมีโอกาสในการตอบโต้กับศาลได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่องค์กรทางการเมืองอื่นมีเพื่อตอบโต้คำพิพากษาของศาลกลับไป การชุมนุมประท้วงเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา ไม่ว่าจะกระทำในรูปแบบวิชาการหรือไม่ก็ตาม ทั้งหลายเหล่านี้ต่างก็เป็นกลไกในการสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจ

หากปราศจากซึ่งโอกาสในการตอบโต้ศาลแล้ว ยามใดที่ศาลใช้อำนาจศาลก็จะไม่ยับยั้งชั่งใจ นานวันเข้าศาลก็จะย่ามใจ กล้าใช้อำนาจโดยไม่เกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะในท้ายที่สุดหากใครต่อต้านและตอบโต้ศาล ศาลก็มีเครื่องมือในการจัดการคนเหล่านั้น เอาผิด เอาโทษคนเหล่านั้นในนามของ “กฎหมาย” นั่นเอง

กล่าวให้ถึงที่สุด ปรากฏการณ์ Judicialization of Politics ส่งผลให้ศาลขยายบทบาทตนเองออกมาข้องเกี่ยวกับแดนทางการเมือง ดังนั้น ศาลจำต้องยอมรับสภาพว่าตนกลายเป็น “ผู้เล่นทางการเมือง” (political actor) ศาลไม่ได้เป็น judicial actor ที่ทำตนเป็น “คนกลาง” ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเท่านั้น จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ศาลต้องถูกวิจารณ์ ตรวจสอบ ด่าทอ ต่อต้าน ตอบโต้ ประท้วงได้

ในขณะที่ปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัฒน์” ในประเทศไทยนั้น เมื่อศาลขยายแดนไปข้องเกี่ยวกับ “การเมือง” แล้ว กลับมีการสร้าง “เกราะคุ้มกัน” การตอบโต้ศาลขึ้นมา เกราะคุ้มกันเหล่านี้ปรากฏในรูปของกลไกกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตลอดจนผู้พิพากษาในฐานะส่วนตัวได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบุคคลอื่นในความผิดฐานหมิ่นประมาท ทั้งหลายเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันและปราบปรามการตอบโต้ศาลในยามที่ศาลตัดสินคดีที่ส่งผลกระทบทางการเมือง

“ป้องกัน” อย่างไร?

นักการเมืองและบุคคลทั่วไปอาจเกรงกลัวว่า เมื่อพวกเขาต่อต้านหรือประท้วงศาล ในวันข้างหน้าหากพวกเขามีคดีต้องขึ้นศาล ไม่ว่าจะเป็นคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลอื่นซึ่งนักการเมืองกล่าวหาฟ้องร้องกันเอง หรือคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นผู้พิพากษาซึ่งผู้พิพากษากล่าวหาฟ้องร้องในนามส่วนตัว หรือคดีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาลแล้ว ก็อาจทำให้ศาลใช้ดุลยพินิจพิจารณาลงโทษพวกเขา พูดง่ายๆคือ การประท้วงศาลอาจทำให้พวกเขากลายเป็น “เป้า” ของศาล หากวันใดที่ศาลมองว่านักการเมืองหรือบุคคลใดเป็น “ศัตรู” ของศาลแล้ว นักการเมืองคนนั้นหรือบุคคลนั้นก็ตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ทำให้พวกเขา “เลือก” ที่จะไม่ทะเลาะหรือขัดแย้งกับศาลเสียดีกว่า

“ปราบปราม” อย่างไร?

ในกรณีที่นักการเมืองและบุคคลทั่วไปต่อต้านหรือประท้วงศาลจนเกินขอบเขตที่ศาลจะอดทนอดกลั้นได้อีก ศาลก็จำต้องใช้มาตรการปราบปรามผ่านคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาล การลงโทษบุคคลที่ประท้วงศาลด้วยวิธีการดังกล่าว นอกจากจะทำให้ “หลาบจำ” แล้ว ยังส่งผลต่อบุคคลอื่นมิให้เอาเยี่ยงอย่างอีกด้วย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกรณีที่ประชาชนชุมนุมประท้วงศาล วิจารณ์ศาล แล้วสิ่งที่พวกเขาได้รับกลับไปคือ “โทษจำคุก” เช่น

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ และนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทนายวสันต์ โดยนายวสันต์ริเริ่มคดีนี้ในนามส่วนตัว ซึ่งศาลก็พิพากษาลงโทษจำคุกนายพร้อมพงศ์และนายเกียรติอุดม

หรือกรณี รศ.สุดสงวน สุธีสร ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจากการจัดชุมนุมและมีพวงหรีดเป็นสัญลักษณ์อยู่ที่อาคารศูนย์ราชการ ซึ่งอยู่นอกพื้นที่ศาลและห้องพิจารณาคดี ศาลฎีกาพิพากษาให้ รศ.สุดสงวนจำคุก 1 เดือน เป็นต้น

รวมทั้งกรณีล่าสุด นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ประท้วงศาลจากการดำเนินคดีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นบริเวณริมถนนหน้าประตูทางเข้าพื้นที่อาณาเขตที่ทำการศาล นอกพื้นที่อาณาเขตที่ทำการศาล ไม่ใช่บริเวณหน้าอาคารศาลหรือหน้าห้องพิจารณาคดี แต่พวกเขากลับถูกศาลดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา

กรณีตัวอย่างทั้งสามนี้ทำให้เห็นว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว การประท้วง วิจารณ์ ตอบโต้ศาล จากกรณีที่ศาลเข้ามามีบทบาททางการเมืองผ่านการตัดสินคดีตามปรากฏการณ์ Judicialization of Politics นั้นไม่อาจเป็นไปได้เลย เพราะการตอบโต้ศาลอาจนำมาซึ่งการถูกปราบปรามได้เสมอ

ประการที่สอง กลไกทางอุดมการณ์-วัฒนธรรมที่คุ้มครอง “ตุลาการภิวัฒน์”

มีความพยายามสร้างให้องค์กรตุลาการไทยใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์มากที่สุด เป็นเนื้อเดียวกันกับสถาบันกษัตริย์ให้มากที่สุด โดยผ่านคำว่า “การตัดสินในพระปรมาภิไธย” บ้าง โดยผ่านการอบรมบ่มเพาะผู้พิพากษาตุลาการตั้งแต่เริ่มต้นให้สำนึกถึงการเป็น “ข้าราชการที่กระทำในพระปรมาภิไธย” บ้าง โดยผ่านการแต่งตั้งอดีตผู้พิพากษาไปดำรงตำแหน่งองคมนตรีบ้าง โดยผ่านการตีความ-ขยายความจากพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ความยุติธรรม และศาลบ้าง ทั้งหลายเหล่านี้ได้สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับศาล บุคคลทั่วไปเกรงกลัว ยำเกรง เคารพศาลมากกว่าองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆที่ทั้งรัฐสภา รัฐบาล และศาล ต่างก็ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนเหมือนกัน อยู่ในระนาบเดียวกัน และตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

นอกจากความเชื่อเรื่ององค์กรตุลาการสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์แล้ว ยังมีความคิดความเชื่อที่ว่า “ศาลเป็นกลางและเป็นอิสระ” อีกด้วย ความเชื่อเช่นนี้ส่งผลให้ทุกคนทุกฝ่ายต้อง “น้อมรับ” คำพิพากษาของศาล ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาอย่างไรก็ต้อง “น้อมรับ” เพราะคำพิพากษาได้ผลิตขึ้นโดยองค์กรที่มีความเป็นกลางและอิสระแล้ว หากยังตอบโต้กันไปกันมาเช่นนี้ความขัดแย้งก็ไม่มีวันสิ้นสุด การไม่ยอมรับคำพิพากษาเท่ากับการปฏิเสธระบบกฎหมาย ปฏิเสธระบบศาล และยังพาประเทศไปสู่วิกฤตอีกด้วย

กลไกทางวัฒนธรรม-อุดมการณ์ไม่ได้ปรากฏให้เห็นชัดเจนเหมือนกลไกทางกฎหมาย ไม่ได้กำหนดความผิดหรือโทษ ไม่ได้เอากฎหมายเข้าบังคับหรือกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง แต่แสดงตัวผ่านระบบคิดของบุคคล ทำให้แต่ละคนพร้อมที่จะปฏิบัติตามโดยคิดว่าเป็นเรื่องปรกติและเกิดจากการตัดสินใจอย่างเสรีของตนเอง สังคมไทยถูกครอบงำด้วยความคิดที่ว่า “ศาลคือคนกลาง ศาลเป็นอิสระ” ทำให้แต่ละคนพร้อมยอมรับการตัดสินของศาลโดยไม่คิดตอบโต้ อย่างมากที่สุดก็เก็บงำความคิดความรู้สึกไม่พอใจไว้ในใจ แต่ก็ต้องประกาศว่า “น้อมรับในคำพิพากษา”

เราอาจเห็นได้จากกรณีที่องค์กรทางการเมืองต่างๆยินยอมรับสภาพคำพิพากษาโดยไม่ตอบโต้ แม้ระบบกฎหมายออกแบบให้องค์กรทางการเมืองอื่นๆอาจใช้อำนาจของตนตอบโต้ศาลกลับไปได้ก็ตาม เช่น การใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญตอบโต้กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบศาลรัฐธรรมนูญหรือยุบศาลรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการปลดหรือถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่ง เป็นต้น เราแทบไม่พบเห็นกรณีที่องค์กรทางการเมืองหรือนักการเมืองออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา อย่างมากที่สุดก็ทำได้แค่เพียงประกาศ “น้อมรับในคำพิพากษา” พร้อมมีข้อวิจารณ์ท้วงติงเล็กน้อย

ในขณะที่ในต่างประเทศนั้น หากมีคำพิพากษาที่เข้าข่าย Judicialization of Politics องค์กรทางการเมืองอื่นๆพร้อมที่จะ “ชน” และ “ตอบโต้” กับศาลเสมอ

ความแตกต่างทั้ง 2 ประการนี้เอง ทำให้ “ตุลาการภิวัฒน์” ในประเทศไทยแตกต่างจาก Judicialization of Politics ของต่างประเทศ องค์กรทางการเมืองอื่นๆที่ได้รับผลร้ายจากการตัดสินคดีแบบ “ตุลาการภิวัฒน์” ไม่อาจต่อสู้กับศาลได้ นานวันเข้าดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างองค์กรทางการเมืองทั้งระบบก็เสียไป กลายเป็นว่าศาลเป็นองค์กรที่อยู่เหนือองค์กรอื่นๆ ชี้เป็นชี้ตายในทางการเมืองโดยไม่มีองค์กรใดตรวจสอบถ่วงดุลได้ สภาพเช่นนี้ย่อมทำให้ศาลกลายเป็นองค์กร “เหนือ” รัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย


You must be logged in to post a comment Login