วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

“ต้องเปิดพื้นที่ความเห็นต่าง?” สัมภาษณ์ -เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On August 28, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

“เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช” ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อเป็นธรรมชาติของปัญหาที่เมื่อการถ่วงดุลอำนาจน้อยลง การละเมิดสิทธิก็มากขึ้น องคาพยพต่างๆมีแนวโน้มใช้อำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังคมไม่เห็นคุณค่าของความเห็นต่างที่หลากหลาย

ถาม : สถานการณ์สิทธิมนุษยชน

ตอบ : เราต้องยอมรับว่าสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชนค่อนข้างจะสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย รวมทั้งชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านที่มีประกาศเขตอุทยานฯหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่างๆ ซึ่งทับซ้อนที่ทำกิน รวมทั้งเรื่องทรัพยากรมีแนวโน้มค่อนข้างสูงขึ้น ปรกติแล้วภาครัฐถ้ารวมกับเอกชนที่มีอิทธิพลเข้าไปด้วยจะเป็นกลุ่มที่มักใช้อำนาจเกินขอบเขตไปละเมิดสิทธิผู้อื่นโดยไม่มีการตรวจสอบ ยิ่งรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ การใช้อำนาจ ยิ่งน้อยลง เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมชาติของปัญหาที่เมื่อการถ่วงดุลอำนาจน้อยลง การละเมิดสิทธิก็มากขึ้น

ขณะเดียวกันอำนาจในการจัดการสั่งการในอดีตมีตั้งแต่นักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ข้าราชการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีการกระจายอำนาจไปสู่การเมืองท้องถิ่นด้วย จึงมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่ภายใต้ คสช. อำนาจทุกอย่างรวมศูนย์ โดยเฉพาะมาตรา 44 สามารถจัดการคนนั้นคนนี้ได้หมด การตรวจสอบก็ยิ่งแผ่วลงไปอีก คือแทบไม่มีใครกล้าตรวจสอบ ถ้าส่วนกลางตัดสินใจอย่างใดแล้ว ฝ่ายต่างๆก็มีหน้าที่ทำตามที่สั่งเท่านั้นเอง การทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีมุมมองแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น พอบอกว่ายางพาราราคาตกก็ไปตัดต้นยางพาราที่ชาวบ้านปลูก ทั้งยังอาจมีความคลุมเครือเรื่องกรรมสิทธิ์ต่างๆ

ผมคิดว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งหรืออำนาจส่วนกลางโดยผู้ปฏิบัติไม่ได้คำนึงถึงบริบทที่มีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในพื้นที่ทำกิน สิทธิชุมชน สิทธิการมีชีวิตอยู่ สิทธิการทำมาหากิน ที่สำคัญคือ กลุ่มนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชน อันนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการปราบปรามก็ว่าได้ เนื่องจากกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนใช้กระบวนการในการเรียกร้อง การหาแรงสนับสนุน แต่รัฐบาล คสช. ถือว่าสร้างความไม่สงบ ผมคิดว่าคำจำกัดความของ คสช. มันย้อนแย้งกับหลักปฏิบัติโดยทั่วไปของการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนจำนวนมากจึงมีคดีมากมาย ถูกจับกุมอย่างที่เห็น ถือเป็นกลุ่มที่ถูกละเมิดสิทธิมากกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งเอ็นจีโอก็มีอยู่เนืองๆ

เท่าที่ผมดูจากปฏิกิริยาของบรรดานักการทูตต่างๆ หรือองค์กรนานาชาติ เขาเป็นห่วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น องคาพยพการปกป้องสิทธิมนุษยชนก็มีความอ่อนแอลง ไม่มีความเข้มแข็ง ทั้งที่ควรเข้มแข็งมากขึ้น หลายประเทศหลายองค์กรจึงเป็นห่วงการละเมิดสิทธิที่มากขึ้น คดีความต่างๆหรือเงื่อนไขความยุติธรรมที่น้อยลง

ถาม : สิทธิเสรีภาพด้านอื่นๆเป็นอย่างไร

ตอบ : ไม่ใช่แค่เรื่องกลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างเดียวที่ถูกกดทับไว้ จริงๆแล้วเราต้องพูดถึงการกลับสู่ประชาธิปไตย ทำให้สังคม การเมือง การปกครองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรื่องสิทธิและเสรีภาพที่มีแนวโน้มแย่ลง ฉะนั้นเมื่อความเป็นประชาธิปไตยน้อยลงจนไม่รู้ว่าอยู่ในระดับไหนก็ทำให้สถานการณ์โดยรวมไม่ค่อยมีความหวังว่าเราจะปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มที่ แต่เราก็มีความพยายาม ซึ่งรัฐบาลและผู้มีอำนาจก็บอกว่าหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ มีข้อดีเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น อันนี้ดูจะโฆษณาเกินจริง เพราะจนขณะนี้เรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรจากรัฐธรรมนูญเลย เราจะคาดหวังรัฐธรรมนูญร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ต้องมีกลไกทางภาครัฐที่ทำให้เราเกิดความหวังหรือเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ด้วย ไม่ใช่แค่คำโฆษณา ก่อนจะทำประชามติก็พูดถึงคุณงามความดีในการจะปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่จนขณะนี้ผมยังไม่เห็นเลยว่าเกิดองคาพยพใดที่เป็นจริง

ส่วนยุคนี้สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยตกต่ำสุดขีดหรือไม่ ผมคงบอกได้เพียงว่ายังมองไม่เห็นความเป็นประชาธิปไตยเท่าไรนัก พูดง่ายๆว่าเราจะเดินไปสู่ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้อย่างไร เพราะองคาพยพต่างๆมีแนวโน้มของการใช้อำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีการเลือกตั้งก็ตาม แต่ผลพวงที่ผ่านมาก็อาจทำให้สังคมเกิดความสับสนระหว่างประชาธิปไตยกับการปกครองในระบอบปัจจุบันที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

โอกาสที่จะเห็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพของประชาชนเบ่งบานหรือไม่นั้น ผมว่าหวังพึ่งภาครัฐยาก เพราะภาครัฐในอดีตก่อนการรัฐประหารก็เป็นระบบการใช้อำนาจค่อนข้างมาก ยิ่งมาถึงรัฐบาลที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบนี้ ผมคิดว่าคนในสังคมเองก็เกิดความลังเลและสับสนว่าการปกครองที่สังคมไทยพึงปรารถนาคืออย่างไร คสช. ก็พยายามจะใช้อำนาจปิดปากความเห็นต่าง ทำให้ดูเหมือนว่าเราไม่มีความขัดแย้งหรือยอมโอนอ่อนผ่อนตามผู้มีอำนาจ ซึ่งจริงๆแล้วความเห็นต่างในสังคมยังมีอยู่และมีความหลากหลาย แต่คนในสังคมสามารถหาจุดร่วมกันได้ในอนาคต

ผมคิดว่าความขัดแย้งที่ คสช. พยายามพูดว่าสามารถจัดการได้นั้น มันไม่สามารถจัดการได้ เพราะมันไม่มีจริง แต่มีความขัดแย้งโดยทั่วไปของคนที่มีความเห็นแย้งหรือต่างเท่านั้น ถ้าเหตุการณ์เป็นไปแบบนี้จะทำให้คนในสังคมไม่เห็นถึงคุณค่าของความเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย เห็นถึงความจำเป็นในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง เพราะจะคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลหยิบยื่นให้หรือสิ่งที่ภาครัฐหยิบยื่นให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ใครที่เห็นต่างคืออุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศชาติ

ถ้ามันเดินต่อไปอย่างนี้ค่อนข้างจะเป็นอันตราย เพราะสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่เราต้องไม่มีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่เราต้องหากระบวนการที่สามารถแสดงความเห็นแตกต่างกันได้ ต้องยอมรับร่วมกันของคนในสังคม ตรงนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้คนในสังคมสามารถเข้าใจและเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมของมนุษย์ สังคมของประเทศ ซึ่งตรงนี้เป็นคุณค่าพื้นฐาน ถ้าคุณค่าพื้นฐานตรงนี้ถูกลดทอนโดยระบอบการปกครองที่มีการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มันก็ขาดการเรียนรู้ของคนในสังคมไป

ถาม : ความขัดแย้งมีแนวโน้มขยายตัว

ตอบ :ความจริงตอนนี้มีความขัดแย้งอยู่แล้ว การที่ภาครัฐมีความพยายามใช้อำนาจให้คนหยุดพูด ลบความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือจัดการกับผู้ที่มีความเห็นต่าง เรียกว่าภาครัฐปัจจุบันได้แปรสภาพตัวเองจากที่บอกว่าจะจัดการความขัดแย้งกลายเป็นหนึ่งในภาคีความขัดแย้งไปแล้ว เพราะตัวเองก็ไปขัดแย้งกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาคประชาสังคม นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ที่อ้างว่าตัวเองเป็นคนกลาง จริงๆก็ไม่ได้เป็นคนกลาง เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจว่ากระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่กระบวนการที่จะลดความขัดแย้ง แต่เป็นแค่กระบวนการหนึ่งที่ต้องการหยุดไม่ให้เกิดความเห็นที่แตกต่างที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง

ถาม : การสร้างความปรองดอง

ตอบ : อันนี้สืบเนื่องจากกระบวนการที่ภาครัฐแปรสภาพกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย จะเห็นได้ว่าหลายคนถูกจับไป ตั้งแต่คดีประชามติ หรือตั้งข้อหาซ่องโจร นักข่าวก็โดนมาตรา 116 คดีไผ่ ดาวดิน คดีกลุ่มนักศึกษาเยอะแยะมากมาย  ถามว่าอันนี้รัฐทำหน้าที่อะไร ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์กฎหมายหรือเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง เห็นได้ชัดว่ารัฐเอาตัวเองเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้ง ไม่ได้ทำหน้าที่รักษากฎหมาย รักษาความยุติธรรม ผดุงความยุติธรรม ดังนั้น ต้องยอมรับว่าภาครัฐเป็นหนึ่งในภาคีความขัดแย้ง ถ้าเราจะเดินหน้าสู่ความปรองดองก็ต้องดูว่าเราจะปรองดองกับใคร ผมก็พูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่าจะปรองดองใครกับใคร

ในอดีตที่ผ่านมาไม่ใช่นักการเมืองทะเลาะกับนักการเมือง ทหารเองหรือองคาพยพอื่นๆในสังคมก็มีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมืองในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จะบอกว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะอดีตนายกฯทักษิณ ผมคิดว่ามันด่วนสรุปและง่ายที่จะโยนความผิดให้คนใดคนหนึ่ง จริงๆแล้วผมคิดว่ามีผู้ที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งที่ผ่านมาจำนวนมาก

ดังนั้น การจะก้าวผ่านความขัดแย้งตรงนี้ไปได้ต้องดูว่าอดีตมันมีบาดแผลเกิดขึ้นไม่น้อย ความภาคภูมิใจในความเป็นพลเมืองของประเทศนี้ของคนหลายคนถูกลดทอนลงไป เราจะทำอย่างไรให้เกิดการเยียวยาในอดีตที่เป็นบาดแผล ไปเสริมสร้างความภาคภูมิใจว่าความคิดเห็นเหล่านั้นไม่ใช่ความคิดเห็นที่โง่ แต่เป็นส่วนหนึ่งในฐานะเจ้าของประเทศเช่นเดียวกัน ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีของความเป็นพลเมืองต้องถูกเรียกร้องกลับคืนมาด้วย คือเราต้องทำอะไรบางอย่างกับอดีตเพื่อให้ 2 อย่างมันคลี่คลาย

ในขณะเดียวกันถ้าเราสามารถเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้ เราก็ต้องดูว่าแล้วในปัจจุบันมีพื้นที่ที่คนเห็นต่างจะแสดงความคิดเห็นได้มากน้อยแค่ไหน เราจะเห็นว่าวันนี้แทบไม่มีพื้นที่จะพูดคุยกันได้เลย มีกฎหมายห้ามชุมนุมเกิน 5 คน มันไม่ได้เอื้อให้เราได้พูดคุยกัน จึงต้องเปิดพื้นที่ให้คนที่มีความเห็นต่างพูดคุยกัน ถกเถียงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อทำความเข้าใจสถานะปัจจุบันของเราและสังคมว่าจะอยู่กันยังไง พวกเราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เราก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน อันนี้ยังไม่มีพื้นที่เลย

อย่าถามว่าแล้วจะเข้าใจกันได้ยังไง ถ้าเกิดพื้นที่มันก็ปรองดองเอง ไม่ต้องห่วง ที่สำคัญปัจจุบันเรามีพื้นที่ในการทำความเข้าใจกันหรือไม่ อย่างไร เราต้องพยายามให้เห็นอนาคตของประเทศเรา สังคมที่อยู่ร่วมกัน ว่าภาพในอนาคตจะเป็นยังไง เราจึงจำเป็นต้องมีพื้นที่เพื่อพูดคุยกัน ซึ่งตอนนี้มีการเสนอยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีขึ้นมา แต่ผมในฐานะที่เป็นหนึ่งในเจ้าของประเทศนี้แทบไม่รู้ว่าอนาคตของผมจะเป็นอย่างไร เพราะร่างการปฏิรูปก็ร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าไปฟังคนโน้นคนนี้ แต่ไม่มีผมด้วย ไม่มีใครมาถามผม ไม่เห็นมีกระบวนการในการมีส่วนร่วมที่จะให้ความเห็นอนาคตของคนในสังคมเลยว่าเราจะไปด้วยกันยังไง

ส่วนเรื่องเยียวยาก็ไม่มี แถมยังสร้างบาดแผลใหม่ๆเพิ่มขึ้นทุกวัน พื้นที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่างในปัจจุบันก็ไม่ปรากฏ เพราะเรามองไม่เห็นอนาคต เราไม่มีการหาคุณค่าการอยู่ร่วมกันในอนาคต เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นอนาคตของคนกลุ่มหนึ่งที่ผู้มีอำนาจปรารถนาจะบังคับคนอีกหลายๆคนหลายๆกลุ่มให้ทำตามอนาคตที่เขาออกแบบมาว่าดีแล้ว ถ้าอยากเห็นประเทศไทยดีต้องทำตามนี้

ถ้าผมบอกว่าไม่เห็นด้วยก็ถูกมองว่าทำตัวเป็นอุปสรรคต่อการเจริญงอกงามของประเทศ มันเป็นอย่างนี้ ผมจึงบอกว่าอย่าเพิ่งไปคาดหวังกับภาครัฐมากนัก เพราะโดยธรรมชาติแล้วภาครัฐเองเป็นผู้ละเมิดสิทธิ เป็นคนที่ถืออำนาจไว้ในมือ เพราะฉะนั้นคุณค่าด้านสิทธิมนุษยชนจะมากน้อยแค่ไหน คนในสังคมต้องร่วมกัน สิทธิขั้นพื้นฐานต้องเท่าเทียมกัน เราเห็นเป็นเพื่อนมนุษย์ดุจเดียวกัน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ภาครัฐต้องหันมาเอาใจใส่เรื่องเหล่านี้มากขึ้น รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เดินหน้าไปสู่แนวทางสิทธิมนุษยชนที่มีความเข้มแข็ง แต่ถ้าภาคประชาชนไม่เล็งเห็นคุณค่าตรงนี้ ผมคิดว่าผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหยิบมือเดียวในประเทศไทยก็คงไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมให้เดินไปได้อย่างที่เราคาดหวัง


You must be logged in to post a comment Login