วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ความยุติธรรมต้องไม่มีข้อสงสัย / ประชาธิปไตย เจริญสุข

On August 21, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

เรื่องการปฏิรูปเราก็ทำมาเรื่อยๆตั้งแต่สมัยที่ดิฉันเป็นที่ปรึกษาของประธาน ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนั้นมีอำนาจหน้าที่เรื่องวางมาตรการ เราเห็นข้อบกพร่องในเรื่องการบริหารงานของตำรวจ จึงได้ทำมาตลอด ดิฉันเคยพาคณะอนุกรรมการไปถึงภาคใต้เพื่อไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของตำรวจที่ไปทำงานเสี่ยงอันตรายในพื้นที่ จากนั้นได้ทำมาตรการเสนอไปแล้ว แต่เผอิญคณะกรรมการชุดของเราหมดวาระ จึงไม่แน่ใจว่างานที่ทำไปแล้วได้ดำเนินการเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่ ดิฉันไม่รู้รายละเอียด

โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นกระบวนการยุติธรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นขั้นต้น ถ้ากระบวนการยุติธรรมขั้นต้นดีแล้ว ต่อไปถึงอัยการ ถึงศาล ก็จะถูกต้องหมด แต่ถ้าบิดเบี้ยวตั้งแต่ครั้งแรกจะทำให้เกิดความเดือดร้อน ความไม่ถูกต้อง ความไม่เป็นธรรมตลอดไป ขณะนี้ไม่รู้ว่าเขาปฏิรูปอย่างไรบ้าง เพราะไม่ได้เข้าไปเป็นกรรมการในเรื่องนี้ แต่การบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ถูกกล่าวหาว่ามีการเรียกเงินเรียกทองอะไรกัน ดิฉันเชื่อว่าเขาไม่ทำหรอกถ้าไม่มีความจำเป็นด้านการดำรงชีวิตหรือครอบครัว หากภาครัฐจัดสวัสดิการให้ดี

สมมุติเงินเดือนเราไม่สามารถให้สูงได้ เพราะจะมีผลเวลาเกษียณ รับเงินบำนาญ ก็อาจจัดสวัสดิการด้านอื่นๆแทน เงินเดือนก็เป็นไปตามขั้นเหมือนข้าราชการฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อยต้องให้สวัสดิการให้เขาอยู่ได้อย่างค่อนข้างมีความสุข ยกตัวอย่างที่เห็นชัด ตำรวจจราจรทำงานหนักมาก แต่เงินเดือนไม่ค่อยพอใช้ ทำให้เขาต้องทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หากเขามีสวัสดิการ มีการช่วยเหลือจากรัฐอย่างจริงจัง มีที่อยู่ให้ครอบครัว นี่เป็นหลักใหญ่ที่รัฐต้องทำในเรื่องนี้

ปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องเร่งด่วน

การปฏิรูปตำรวจต้องทำเป็นเรื่องด่วน เพราะเป็นกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น ถ้าตำรวจดี ทำงานอย่างถูกต้อง ประชาชนได้รับความเป็นธรรม การดำเนินคดีอะไรก็จะถูกต้อง ทำให้บ้านเมืองหรือประชาชนได้รับความเป็นธรรมและมีความสุข เพราะฉะนั้นต้องเริ่มที่การปฏิรูปตำรวจก่อน ดูเรื่องการพัฒนาหรือการบริหารงานบุคคล เท่าที่จำได้ เราเอาเรื่องของ “จ่าเพียร” ซึ่งกำลังจะเกษียณและขอย้ายเพื่อกลับไปอยู่ใกล้ครอบครัว แต่ไม่ได้รับการเหลียวแล จนในที่สุดท่านก็มาเสียชีวิต ดังนั้น ก่อนจะให้ตำรวจดี ผู้บริหารประเทศต้องดูแลตำรวจให้ได้รับความเป็นธรรมและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีก่อน

ส่วนที่มีผลสำรวจจากหลายสำนักว่าตำรวจมีการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดนั้น ดิฉันไม่รู้ว่าการโยกย้ายหรือเลื่อนตำแหน่งมีการซื้อตำแหน่งกันหรือไม่ แต่เคยพบกับตัวเองตอนเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนฯที่ระยอง มีตำรวจคนหนึ่งเป็นพนักงานสอบสวนมาขอผลัดฟ้อง ซึ่งดิฉันกำลังเซ็นอนุญาต พนักงานสอบสวนถามดิฉันว่า ท่านหัวหน้าครับที่ท่านมาอยู่จังหวัดนี้ได้ ท่านจ่ายเท่าไร เขาถามอย่างนี้เลยนะ ดิฉันถึงกับงง แต่ไม่ได้งงเรื่องการซื้อขายอะไร เพราะรู้มาบ้างแล้วว่าวงการตำรวจมีการจ่ายเงินจ่ายทองอะไรกันแบบนี้ แต่งงที่ว่าในสถานะที่เรากำลังทำหน้าที่ของศาล เขาเป็นพนักงานสอบสวนทำไมถามเราอย่างนั้น เขาอัดอั้นตันใจอะไรหรือเปล่าถึงอยากรู้ว่าวงการยุติธรรมเป็นอย่างนี้หรือไม่ ดิฉันตอบว่าศาลไม่มี เขาจะย้ายเป็นไปตามอาวุโส การย้ายการเลื่อนตำแหน่งจะดูตามอาวุโสว่าสมควรไปอยู่ที่ไหน เราขอไปได้ แต่เขาจะดูอาวุโสด้วย เราขอไปศาลใหญ่หรือศาลจังหวัดใหญ่ๆไม่ได้ ต้องให้คนอาวุโสได้ไปก่อน เพราะฉะนั้นเราถึงไม่มีการใช้เงินใช้ทองซื้อตำแหน่ง

ดิฉันไม่ได้เห็นกับตาว่าตำรวจมีการซื้อขายตำแหน่งกันหรือเปล่า แต่ดิฉันถูกถามอย่างนี้ เพราะเขาโดนอย่างนี้หรือไม่ ดิฉันยอมรับว่าเป็นห่วงภาพลักษณ์ของศาล ของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าตำรวจ อัยการ จนถึงศาลที่มีข่าวเรื่องเหล่านี้ เพราะดิฉันใช้ชีวิตอยู่ในระบบศาล เป็นผู้พิพากษามา 36 ปี ระบบการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งมีคณะกรรมการตุลาการเป็นหลักประกัน มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง ผู้พิพากษาจึงมีอิสระในการทำงาน อยากให้กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดมีความเป็นอิสระเหมือนกัน อย่างอัยการก็มีคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ตำรวจก็มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) หากในทางปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์อะไรที่มีข้อบกพร่องก็ต้องแก้ไข

คณะที่ดิฉันทำงานเคยเสนอไม่ให้ฝ่ายบริหารเข้าไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ให้ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกหรือประชาชนซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้อง หมายถึงเอาเสียงจากประชาชนเจ้าของประเทศเข้าไปเป็น ก.ตร. ด้วย

การปฏิรูปตำรวจจะเป็นรูปธรรมในยุครัฐบาล คสช. นี้หรือไม่ ดิฉันคิดว่าเขามีคณะอนุกรรมการที่ทรงคุณวุฒิ แต่ไม่มีมาจากประชาชน จึงอาจไม่มีความลึกซึ้งในความรู้สึกที่ว่าประชาชนต้องการอะไร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการอะไร เพราะประชาชนกับตำรวจอยู่ใกล้ชิดกัน ประชาชนก็หวังพึ่งตำรวจ ตำรวจก็ต้องทำให้ประชาชนมีความสุข จึงต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิอาจมีข้อมูลที่ไม่ค่อยตรงนัก การปฏิรูปตำรวจจึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างที่เรามีผู้แทนราษฎรซึ่งใกล้ชิดประชาชน เรื่องต่างๆที่เสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรก็เพื่อประชาชน แต่ขณะนี้เราไม่มี ส.ส. จึงไม่รู้ว่าแนวคิดที่ว่าจะปฏิรูปนั้นเป็นอย่างไร

ดิฉันขอย้ำว่าที่ผ่านมาเราพยายามปฏิรูปตำรวจมาตลอด มีการเสนอมาตรการเป็นเล่มเลย แต่ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน ส่งไปที่สำนักนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ส่งไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาหรือไม่อย่างไร

อุปสรรคใหญ่การปฏิรูปตำรวจ

มันมีบางสิ่งบางอย่างที่ยึดถือเป็นวัฒนธรรมกันมานาน เราต้องพยายามแก้ไขสิ่งที่เขาปฏิบัติมา เรื่องที่ไม่ถูกต้องต้องทำให้ได้ อย่าไปเกรงใจว่ามีคนนั้นคนนี้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ถ้าคิดจะทำต้องทำเลย ไม่ควรเอาตำแหน่งมาสั่งข้าราชการตำรวจให้ต้องทำตาม ออกกฎหมายไปเลย อย่างตุลาการจะมีคณะกรรมการตุลาการ อัยการมีคณะกรรมการอัยการ เขาจะมีการเลือกคณะกรรมการโดยคนของเขาเอง เอาแบบศาลหรืออัยการก็ได้

ถ้าการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ดิฉันคิดว่ามันก็คงอยู่เหมือนเดิม ประชาชนก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจเหมือนเดิม เพราะตำรวจใกล้ชิดกับประชาชน ทำอะไรไปก็ต้องมีการร้องเรียน เพราะฉะนั้นก่อนจะให้ตำรวจทำงานให้ประชาชนมีความสงบสุข ผู้บังคับบัญชาก็ต้องให้ความยุติธรรมกับตำรวจก่อน โดยเฉพาะด้านสวัสดิการ

ศาลและอัยการควรปฏิรูปหรือไม่

ดิฉันออกจากศาลมานานแล้ว ไปเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ถึง 10 ปี แต่เวลาได้รับเชิญไปพูดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศาล ก็มีคนพูดถึงศาลในแง่โน้นแง่นี้ จริงบ้างไม่จริงบ้าง บางเรื่องก็ไม่สามารถพูดได้ อย่างเรื่องเอาระเบิดไปขว้างที่ศาลก็ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน มีแต่คนให้ความศรัทธาศาล ให้เกียรติศาลพอสมควร เพราะถือว่าเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่เมื่อมีเหตุการณ์อย่างนี้ ดิฉันถึงบอกว่าต้องไปดูว่าทำไมคนจึงไม่เคารพศาล มันเกิดจากอะไร เราอย่าไปโทษสังคม

ดิฉันพูดเสมอว่าผู้พิพากษาก็ต้องมีการแก้ไข ทำให้มันดีขึ้น การแก้ไขตัวเราเองง่ายกว่าที่จะให้สังคมเขาแก้ไข ทำไมเกิดความรู้สึกอย่างนี้ สังคมไม่ดีหรือจึงไม่เคารพศาล นี่เป็นความเห็นส่วนตัว ดิฉันเห็นว่าศาลเองก็ต้องมีการปฏิรูปเช่นกัน ต้องทำให้ศาลให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนตามอุดมการณ์และจิตวิญญาณของผู้พิพากษาอย่างแท้จริง

การพิจารณาคดีต้องปราศจากอคติทั้งหลาย เหมือนอย่างที่ปรมาจารย์ตุลาการ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์จิตติ ทังสุบุตร เคยพูดไว้ว่า เมื่อผู้พิพากษามานั่งบัลลังก์ต้องปราศจากอคติทั้งปวง ไม่ว่าคุณจะมาจากฝ่ายไหน หรือจากพรรคการเมืองฝ่ายไหน หรือเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศแค่ไหน ต้องให้ความเป็นธรรมเหมือนกัน เท่าเทียมกัน มันจะเกิดความรู้สึกที่ดีต่อศาล และความสามัคคีก็จะเกิด ถ้ากระทำความผิดก็ต้องถูกลงโทษ ถ้าไม่ผิดก็ต้องเป็นอิสระ ยกฟ้องไป ต้องขจัดความสงสัยว่าเลือกปฏิบัติหรือสงสัยในความผิด

เพราะฉะนั้นเราต้องขจัดความสงสัยในกระบวนการยุติธรรม คำพิพากษาของศาลมีส่วนสำคัญที่จะต้องอธิบายให้ละเอียดว่าทำไมท่านถึงลงโทษ ทำไมถึงยกฟ้อง อย่างเมื่อเร็วๆนี้กรณีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 ท่านเขียนคำพิพากษาอธิบายชัดเจนว่าทำไมถึงยกฟ้อง คนธรรมดาที่ฟังก็เข้าใจและไม่อคติ

ดังนั้น ขอย้ำว่าคำพิพากษามีส่วนสำคัญมาก ต้องไม่มีข้อสงสัยว่าสองมาตรฐานหรือไม่ เรื่องของดุลยพินิจอาจถูกใจหรือไม่ถูกใจก็ตาม คำพิพากษาต้องอธิบายเหตุผลให้ละเอียดว่าเป็นมาอย่างไร ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจ อย่างเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ บางคนบอกว่าจะเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐว่าสามารถทำอะไรได้โดยไม่ต้องรับผิด ทั้งที่ความจริงแล้วคดีที่ส่งมาถึงศาลนั้น แต่ละเรื่องข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน ไม่ต้องกังวลว่ามันจะต้องเป็นบรรทัดฐานเหมือนกัน ยกเว้นคดีนั้นข้อเท็จจริงเหมือนกันมาก ถ้าข้อเท็จจริงต่างกัน คำพิพากษาก็ต่างกันไป

คำพิพากษามีผลต่อความปรองดอง

คำพิพากษาของศาลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะยามที่บ้านเมืองมีวิกฤตต่างๆที่ไม่ปรกติ เกิดความแตกแยกเป็นพวกโน้นพวกนี้ ศาลยิ่งต้องเป็นหลักให้ความยุติธรรม หากศาลไม่ให้ความยุติธรรมก็จะเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีใครที่จะให้ความเป็นธรรมได้ ตรงนี้เชื่อมโยงมาถึงคดีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ไม่ว่าจะเป็นนายกฯยิ่งลักษณ์หรือนายกฯคนอื่น ถ้าทำในลักษณะเดียวกันก็ต้องวินิจฉัยคดีไปในแนวเดียวกัน ไม่ใช่อันนี้ผิด อันนี้ไม่ผิด ถ้ามาจากพรรคนี้ผิด มาจากพรรคโน้นไม่ผิด มันก็เห็นชัดเลยว่ามีความยุติธรรมหรือไม่ บางทีศาลก็มีเหตุผลของท่าน แต่ต้องเขียนในคำพิพากษาให้ชัดเจน ทำไมบางคดีจึงไม่รอการลงโทษ แต่บางคดีรอการลงโทษ คำพิพากษาที่ดีเมื่ออ่านแล้ว วินิจฉัยแล้ว ต้องให้จำเลยยอมรับเลยว่าถูกต้อง ไม่ใช่ไปเถียงในใจว่าไม่ใช่ ที่ศาลวินิจฉัยมันไม่ถูกต้อง เอนเอียงอะไรอย่างนี้ การเขียนคำพิพากษาเขาสอนให้ต้องละเอียดลออ มีเหตุมีผล

คดีรับจำนำข้าวถือเป็นคดีสำคัญ ต้องมีผู้พิพากษาระดับผู้ใหญ่มาดูแล เชื่อว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์คงจะได้รับความเป็นธรรม เพราะหากมีปัญหาอะไรอาจทำให้ประเทศชาติเกิดความไม่สงบ ส่วนตัวยังเชื่อมั่นในกระบวนการของศาล แม้จะมีบางคนบอกว่ามีคนสั่งศาล ดิฉันก็ไม่เชื่อว่าใครจะมีอำนาจสั่งศาลได้ หากมีอะไรที่ผิดเพี้ยนไปบ้างก็อาจจะเป็นประสบการณ์ของผู้พิพากษายังน้อยไป หรือท่านอาจไปทำงานด้านอื่นซึ่งเป็นผู้บริหารนานแล้วแต่กลับมานั่งพิจารณาคดี เลยทำให้ความคิดของท่านอาจอ่อนไปหรือเป็นเรื่องอคติส่วนตัว ท่านชอบตรงโน้นตรงนี้ ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ แต่ไม่เชื่อว่าใครจะมีอำนาจสั่งศาลได้ เพราะพระธรรมนูญศาลยุติธรรมบัญญัติไว้ชัดเจน แม้แต่ประธานศาลฎีกายังไม่มีอำนาจที่จะมาสั่งผู้พิพากษาศาลยุติธรรมได้ ซึ่งคดีสำคัญๆต่อไปนี้ดิฉันคิดว่าจะเป็นไปด้วยความเป็นธรรม เพราะความเป็นธรรมจะทำให้บ้านเมืองสงบและสันติ

อนาคตกระบวนการยุติธรรมไทย

ดิฉันยังเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมจะมีอุดมการณ์และมีจิตวิญญาณของผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเหมือนเดิม อะไรที่ทำให้คนเข้าใจผิดไขว้เขวก็ต้องแก้ไข ไม่ว่าเรื่องส่วนตัวของผู้พิพากษาหรือการทำหน้าที่ต้องไม่ให้มีข้อสงสัยใดๆที่จะทำให้ประชาชนไม่เชื่อใจ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ท่านช่วยกันแก้ไขได้ ดิฉันเชื่อในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะผู้พิพากษาจะต้องเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน เพื่อคงความศรัทธาของประชาชน อย่างคณะกรรมการตุลาการที่แต่ละท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนั้น


You must be logged in to post a comment Login