วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

วิกฤตเผด็จการซ้ำซาก! / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On August 14, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

เมื่อก่อนเราแบ่งระบอบเผด็จการเป็น 2 แบบคือ เผด็จการพลเรือนและเผด็จการทหาร ตั้งแต่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบัน 85 ปี เผด็จการทหารกับเผด็จการพลเรือนสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันปกครองประเทศ แต่หลังๆเผด็จการทหารถูกปฏิเสธจากสังคม คนไล่เผด็จการทหาร ทำให้เผด็จการทหารอายุสั้น เพราะเผด็จการหมายถึงอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อย ทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจจึงอยู่ได้ไม่ยาว เผด็จการพลเรือนจะอยู่ได้ยาว ระบอบเผด็จการบ้านเราที่อายุยาวนั้นมี 2 สาเหตุคือ 1.มันหลอกได้ โดยเฉพาะเผด็จการพลเรือนว่าเขาคือประชาธิปไตย เพราะเขามาจากเลือกตั้ง อันนี้อยู่ได้ยาว เพราะเขาหลอกว่าเป็นประชาธิปไตย คนถึงไม่ไล่ คนเลยมาช่วยกันรักษาไว้ พอมาเทียบกับเผด็จการทหาร อีกอันหนึ่งที่ระบอบมันยาวนอกจากหลอกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว มันยืดระบอบเผด็จการด้วยการทำให้มีรัฐประหาร คือเผด็จการพลเรือนเขาจะรักษาระบอบเผด็จการ คืออำนาจของคนส่วนน้อยไว้ได้ รักษาเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดไว้ได้ เขาก็ต้องให้ทหารมายึดอำนาจ ทหารมายึดอำนาจเป็นการยืดอายุระบอบเผด็จการ ทำให้อธิปไตยคนส่วนน้อยยังคงดำรงอยู่

เช่นพรรคประชาธิปัตย์สู้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ด้วยการเลือกตั้งก็ไปเอาทหารมายึดอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่จะเป็นทำนองนี้มากกว่าเพื่อน จะอาศัยทหารมากำจัดศัตรูทางการเมืองของตัวเอง ยุให้ทหารมายึดอำนาจ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่นำม็อบ กปปส. ออกมา เพราะพวกพันธมิตรฯไม่ไหว คนเริ่มไม่ค่อยเชื่อ มันด้านแล้ว นายสุเทพจึงต้องออกมา ไปเชื่อมไปชุบตัวเป็นภาคประชาชน ไปอยู่กับม็อบต่างๆเพื่อสู้กับฝั่งทักษิณ ยืมมือพรรคประชาธิปัตย์ด้วย คือต่างคนต่างหลอกใช้กัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา

ผมคิดว่าระบอบเผด็จการทหารจะเรียกว่าอำนาจอธิปไตยของทหารเหมือนสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่จะอยู่ยาวๆนั้นไม่ได้แล้ว แม้เอาทหารมาล้างไพ่แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อมีเลือกตั้งเขาก็กลับมาเหมือนเดิม รัฐประหารจึงลดจากระบอบเป็นวิธีการของเผด็จการพลเรือน เป็นวิธีการหนึ่งในการปกครอง

ดังนั้น เผด็จการรัฐสภาจึงมี 2 วิธีการในการดำรงอำนาจอธิปไตยคนส่วนน้อยไว้คือ ในทางเศรษฐกิจรักษาทุนนิยมผูกขาดไว้ผ่านการรัฐประหารกับการเลือกตั้ง สับกันไปมา ทุกวันนี้ทหารก็หลงกล เข้าทางทักษิณ พวกที่วางแผนให้คือพวกสหายเก่าพรรคคอมมิวนิสต์ที่พ่ายแพ้นโยบาย 66 แล้วแยกย้ายไปอยู่พรรคการเมืองต่างๆ ไปอยู่กับกลุ่มทุน เขาใช้ความรู้จากทฤษฎีปฏิวัติคอมมิวนิสต์ไปสร้างแนวร่วมจึงเกิดปรากฏการณ์อย่างที่เห็นทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าพูดว่าเป็นระบอบ คสช. หรืออำนาจอธิปไตยเป็นของ คสช. ก็ไม่น่าจะใช่แล้ว

คณะรัฐประหารรับใช้กลุ่มทุน

เพราะคณะรัฐประหารทุกคณะรับใช้ทุนผูกขาด กองทัพแห่งชาติเลยกลายเป็น “กองทัพทุนผูกขาด” ไป ไม่ใช่กองทัพของชาติ ของประชาชน กองทัพไม่มีระบบเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง กองทัพเป็นกลไกเอกของรัฐ ต้องรักษาความมั่นคงของรัฐ รัฐบาลที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการจึงรักษาระบบทุนนิยมผูกขาดทางเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานทางการเมืองโดยไม่รู้ตัวมาตลอด เพราะกองทัพไม่ได้เป็นผู้นำทางความคิดของตัวเอง แต่อาศัยผู้นำทางความคิดของพวกทุนนิยมผูกขาด พวกเนติบริกร สร้างลัทธิรัฐธรรมนูญ

ตอนคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องเอาอำนาจมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ ต้องเปลี่ยนทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ คือเศรษฐกิจเป็นรากฐานของการเมืองที่ต้องทำให้เกิดทุนที่เป็นของประชาชน เช่น ที่ดินเป็นของประชาชน แต่มันไม่เกิด ที่ดินยังเป็นกรรมสิทธิ์เปลี่ยนจากเจ้าศักดินามาเป็นของเจ้าที่ดิน ไม่ได้ยกเลิกระบบเจ้าที่ดินให้มาเป็นทุนอุตสาหกรรมหรือทุนนิยมเสรี

ตอนเลิกทาสก็ยังไม่ได้มีการปฏิรูปที่ดิน ยังไม่ได้เปลี่ยนกรรมสิทธิ์เจ้าที่ดินศักดินามาเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวนาชาวไร่หรือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ อำนาจจึงยังไม่เปลี่ยนแปลง คณะราษฎรเอาอำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อยมายึดกุม จึงกลายเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด ทุนนิยมด้อยพัฒนามาจนวันนี้ เป็นรากฐานให้แก่การเมืองระบอบเผด็จการรัฐสภาที่มีพรรคการเมืองปกครองประเทศ เป็นพรรคของเผด็จการทุนนิยมผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นทุนเก่าเช่นพรรคประชาธิปัตย์ ทุนศักดินา ทุนเจ้าที่ดิน หรือทุนใหม่เช่นกลุ่มทุนทักษิณ กลุ่มทุนอุตสาหกรรม แม้จะมีการเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี โครงสร้างก็ยังไม่เปลี่ยน จะยึดอำนาจกี่ครั้งก็เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็น รสช. คมช. หรือ คสช.

มีการเลือกตั้งก็จะเกิดเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารอีก คือระบอบเผด็จการพลเรือนหรือเผด็จการรัฐสภากลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร เหมือนมีไฟก็มีควัน ควันเป็นปรากฏการณ์ ไฟเป็นฐานแท้ ตราบใดที่มีระบอบเผด็จการ ตราบนั้นก็มีรัฐประหาร ตราบใดที่มีระบอบเผด็จการ ตราบนั้นก็มีม็อบ ถ้าไม่อยากให้มีรัฐประหาร ไม่อยากให้มีม็อบ ก็ต้องดับไฟ ก็จะไม่เกิดควัน

ดับไฟคือต้องยกเลิกอำนาจอธิปไตยคนส่วนน้อยมาเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชน ของประชาชน ด้วยการสร้างสภาประชาชนขึ้นมาทำหน้าที่แทนรัฐสภาของคนส่วนน้อย โดยมีประชาชนทุกเขตทุกสาขาอาชีพจากจำนวน 500 คน มาเป็น 5,000 คน เปลี่ยนรัฐบาลประจำการปรกติของระบอบเผด็จการ ของพรรคคนส่วนน้อย ไม่ว่าคนส่วนน้อยโดยทหารหรือพลเรือน มาเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลของประชาชนในรูปของพรรคของประชาชนจริงๆ ควบคุมรัฐและสภาจริงๆ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ทำ เขาบอกว่าสภาประชาชนเป็นของปลอม ของเขาเป็นของแท้ที่มีทุกสาขาอาชีพ ทุกกลุ่ม เสื้อแดง เสื้อเหลือง เอาเข้าจริงเขาก็ไม่ตั้ง เพราะไปเชื่อความคิดเนติบริกรที่ไม่ใช่นักวิชาการรัฐศาสตร์การเมือง แต่เป็นนักวิชาการลัทธิรัฐธรรมนูญ เพราะบ้านเราเผด็จการใช้กฎหมายปกครอง ซึ่งนักกฎหมายไม่เคยผ่านโรงเรียนการเมือง ผ่านโรงเรียนวิชาปฏิวัติสังคม พวกนี้จึงเขียนกฎหมายตามใจผู้ปกครองหรือคณะที่ยึดกุมอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นคณะทหารหรือพลเรือนเขาก็เขียนกฎหมายให้ได้หมด จึงเกิดเนติบริกร

คสช. ไม่ใช่ทหารประชาธิปไตย

คสช. ไม่เหมือนทหารยุคประชาธิปไตยในยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มีอุดมการณ์แนวทางการเมืองเป็นของตัวเอง เพราะทหารยุคนั้นต้องสู้กับคอมมิวนิสต์ จึงศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์ แล้วก็เอาประชาธิปไตยไปสู้ถึงชนะคอมมิวนิสต์ เรียกว่าต้องศึกษาลัทธิประชาธิปไตย ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิเผด็จการด้วยว่าเป็นอย่างไร ศึกษาหมด เขาเป็นอิสระและเป็นผู้นำทางความคิดของเขาเองจึงสู้ได้ จึงชนะคอมมิวนิสต์ แต่ทหารยุคหลังไม่มีความรู้ทางการเมืองของตัวเอง และไม่เดินหน้าต่อนโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 2 ที่ยังทำไม่เสร็จ ทหารประชาธิปไตยเดิมๆก็เกษียณหมดแล้ว เพราะฉะนั้นรุ่นต่อๆมาตั้งแต่ รสช. คมช. จนถึง คสช. ในปัจจุบันก็ไม่รู้เรื่องการเมืองของกองทัพที่สู้เอาชนะคอมมิวนิสต์และเผด็จการด้วยนโยบาย 66/23 นึกว่าคอมมิวนิสต์เลิกไปแล้ว

ผมคิดว่าการเอาชนะคอมมิวนิสต์ต้องสร้างประชาธิปไตยคือ สลายเงื่อนไขคอมมิวนิสต์มาก่อสงครามยึดอำนาจรัฐ ความไม่เป็นธรรมทั้งหลายคือระบอบเผด็จการทุกรูปแบบต้องยกเลิกทิ้งหมดถึงจะชนะคอมมิวนิสต์ ถ้าคอมมิวนิสต์หมดเงื่อนไขก็จบ แต่นี่เรายุติสงครามได้ ชนะสงครามแล้วนึกว่าชนะพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์มีแก้ว 3 ดวงคือ พรรค แนวร่วม และกองกำลังติดอาวุธ นึกว่าชนะกองกำลังติดอาวุธคือชนะสงคราม เลิกสงครามแล้ว อีก 2 ดวงคือ พรรคคือแนวคิด และแนวร่วมที่จะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ชนะ คือทำแนวร่วมกับเผด็จการรัฐสภา โดยไปอยู่ในพรรคการเมืองต่างๆและไปอยู่กับกลุ่มทุนผูกขาดทั้งหลาย ไปอยู่กับเผด็จการทหารด้วย โดยเป็นที่ปรึกษา จะอยู่ในรูปไหน ใครก็แล้วแต่

ดังนั้น ถ้าจะถามว่ารัฐบาล คสช. ยุคนี้เป็นยังไง ก็ว่ากันตามโครงสร้าง อันนี้มันไม่ใช่ยุค คสช. มันเป็นโครงสร้างของระบอบเผด็จการรัฐสภา แต่เขายืมทหารมาช่วยยืดอายุให้เท่านั้นเอง หรือทำเผด็จการพลเรือน เผด็จการรัฐสภาให้ดูใหม่ขึ้น แล้วพรรคเหล่านี้ก็จะปกครองต่อไป เช่น พรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทยก็ปกครองกันต่อไป ชนชั้นบนก็ปกครองกันต่อไป ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางไม่ได้ปกครอง สังคมไทยก็จะวิกฤตกันอีก มีต้มยำกุ้งรอบ 2 พฤษภาทมิฬรอบ 3 หรือ 14 ตุลารอบ 4 ก็ว่าไป เรียกว่าไม่จบ

วิกฤตการเมืองจะเกิดขึ้นและอาจจะแรงกว่าเดิมด้วยซ้ำถ้า คสช. ไม่เปลี่ยน เราพยายามบอก คสช. เปลี่ยนอำนาจพรรคคนส่วนน้อย สภาคนส่วนน้อย ให้เป็นสภาประชาชน สร้างความเป็นพรรคขึ้นมากุมอำนาจรัฐ เปลี่ยน กปปส. ให้เป็นรูปแบบของสภาที่เป็นมวลชนประชาธิปไตย แต่นายสุเทพไม่เอา ตอนนี้เห็นแล้วว่านายสุเทพเป็นยังไง จะกลับไปสู่พรรคประชาธิปัตย์ ไปหนุนพรรคเหมือนเดิม

การเลือกตั้งปี 2560

ผมคิดว่ายังไม่น่ามีการเลือกตั้ง เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่างและห่วงว่าจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองหนักขึ้น เพราะช่วงเปลี่ยนผ่านไม่มีใครไว้ใจใคร การแย่งชิงอำนาจกันระหว่างเผด็จการเก่าๆจะรุนแรงมาก เป็นความขัดแย้งที่ซ้อนความขัดแย้งอยู่ ความขัดแย้งทางโครงสร้างที่อยู่ในรูปของเผด็จการกับประชาชน และอยู่ในขบวนการเผด็จการด้วยกันเอง ซึ่งเผด็จการด้วยกันจะสู้กันรุนแรงมาก ความขัดแย้งของประชาชนกับเผด็จการก็จะรุนแรงมโหฬาร ถ้าปล่อยไว้ก็จะเป็นมิคสัญญี เกิดสงครามกลางเมืองที่คอมมิวนิสต์สร้างขึ้น ความจริงเขาเล็งที่จะฟื้นสงครามคอมมิวนิสต์เก่า มีการประสานงานกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่ ซึ่งแนวร่วมคอมมิวนิสต์มีอยู่ในพรรคการเมือง เป็นทั้งเจ้าที่ดิน พวกอนุรักษ์นิยม

รัฐบาลหลังเลือกตั้ง

ผมคิดว่ามีอยู่ 2-3 มุม มุมหนึ่งคือกลับไปเหมือนเดิมเหมือนสมัย คมช. แต่พรรคพวกที่ยุให้ทำรัฐประหารเขาไม่อยากให้เสียของ อยากให้รัฐบาล คสช. อยู่ต่อ เลยบอกว่าอย่าออก จะช่วยกันตั้งพรรคให้ ไปรวมทุกพรรค ดึง ส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหารหรือเผด็จการพลเรือนก็มีลักษณะเป็นพรรคตามธรรมชาติ อย่าง คสช. ก็มีลักษณะเป็นพรรคตามธรรมชาติ คือการยึดกุมอำนาจรัฐมันก็คือพรรค ดังนั้น พรรค คสช. พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทยก็เป็นเผด็จการเหมือนกัน เป็นเผด็จการในแง่ของระบอบ อำนาจอธิปไตยของคนส่วนน้อย แต่ผ่านการเลือกตั้ง

ถ้าจะทำลายวงจรอันนี้ก็ต้องโอนอำนาจให้สภาประชาชน พรรคประชาชน ซึ่ง คสช. จะเป็นรัฐบุรุษ แต่ต้องเปลี่ยนผ่าน โอนอำนาจสู่มือประชาชน เป็นพรรคตามธรรมชาติ พร้อมที่จะเป็นรัฐบาล จัดตั้งสภาประชาชน เป็นรัฐสภาทำหน้าที่ระยะเปลี่ยนผ่านช่วงการปกครองเฉพาะกาล เสร็จแล้วก็เปิดให้มีการเลือกตั้งตามโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยใหม่ ก็จะเป็นเรื่องใหม่ การซื้อเสียงก็จะไม่มี ถึงมีก็ไม่มีอิทธิพลอะไร วิธีคิดต้องเปลี่ยนไป ต้องไปจัดตั้งวิธีทางความคิดให้กับประชาชนทั่วประเทศโดยใช้กระบอกเสียงของรัฐ การเปลี่ยนวิธีคิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ


You must be logged in to post a comment Login