วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

เลือกตั้งตอนไหนก็ไม่มีอะไรดีขึ้น? / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On May 1, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

สถานการณ์การเมืองวันนี้ต้องดูรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่ามีจุดประสงค์อย่างไรที่ต้องการให้พรรคการเมืองเล็กๆหรือขนาดกลางเข้ามา คือจะไม่มีพรรคที่มี ส.ส. จำนวนมากเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เพราะเขาเอาเศษที่เหลือของคะแนนที่ได้จากการเลือกตั้งมาเฉลี่ยให้กับพรรคที่มีบัญชีรายชื่อเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นคะแนนเสียงจะกระจายออกไป

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การแก้เกมของพรรคการเมือง เขาอาจมีพรรคนอมินี พรรคลูกกระจายออกไป แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นพรรคของเขา หลังเลือกตั้งก็อาจรวมกันตั้งเป็นรัฐบาลกับพรรคการเมืองใหญ่ แม้รัฐธรรมนูญจะมาไม้ไหนก็คงไม่เหนือบ่ากว่าแรงพรรคการเมืองใหญ่ๆ เพราะรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดประสงค์ไม่ให้ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องรวมกันระหว่างพรรคขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ส่วนฝ่ายค้านก็ต้องดูว่ามีการรวมกันระดับไหน อาจมีพรรคการเมืองใหญ่ที่ถูกดันไปเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องดูการแก้เกมเมื่อมีการเลือกตั้งว่าจะทำกันอย่างไร

สิ่งที่น่ากังวลคือการทำงานของรัฐบาลจะลำบาก เพราะจะมีองค์กรตรวจสอบ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) เข้ามาเกี่ยวข้อง คือถ้าเป็นรัฐบาลที่เขาไม่ต่อต้าน อย่างถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล แรงต่อต้านก็อาจจะน้อยลง แต่ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทยก็จะมีแรงต่อต้านเหมือนเดิม พรรคเพื่อไทยจะทำงานได้ยากมาก เพราะนโยบายต่างๆจะถูกตรวจสอบอย่างมาก จะเลวร้ายอย่างที่ผ่านมาหรือไม่ก็ต้องดูกันต่อไป แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องแก้เกมหรือรับมือมากที่สุด

พรรคใดจะได้เป็นรัฐบาล ก็มีพรรคใหญ่คือพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย พรรคระดับกลางก็มีพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ต้องดูว่าเขาสามารถรวมกับฝ่ายใดได้ เพราะการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยคงไม่วางมือ คงจะดำเนินงานทางการเมืองเหมือนพรรคประชาธิปัตย์

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า คสช. ล็อบบี้พรรคการเมืองต่างๆเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านนั้น คิดว่ามีความเป็นไปได้ เว้นแต่พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. จำนวนมาก แล้วมีพรรคนอมินีมาร่วมด้วย ก็จะสามารถพลิกเกมได้ แม้จะมีการวางมาตรการต่างๆให้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านก็ตาม อย่าลืมว่านักการเมืองทั้ง 2 พรรคใหญ่เขาเล่นการเมืองมานาน รู้ดีว่าจะดำเนินการอย่างไร

การที่รัฐธรรมนูญมีองค์กรในลักษณะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสของพรรคเพื่อไทย หากเป็นรัฐบาลจะฟันฝ่าได้มั้ย แล้วจะเกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีกหรือไม่ภายใน 5 ปี 7 ปีข้างหน้า

ที่จริงการเป็นฝ่ายค้านไม่ใช่จะไม่สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ เมื่อสถานการณ์ขณะนี้ทำให้เป็นรัฐบาลได้ลำบาก การมาเป็นฝ่ายตรวจสอบคือเป็นฝ่ายค้านก็อาจทำอะไรที่ค้างคาอยู่ได้ดีขึ้นก็ได้ เช่น คดีความต่างๆก็อาจจะดีขึ้น นี่เป็นมุมมองหนึ่งที่อาจจะไม่ถูกก็ได้ แต่คิดว่าพรรคเพื่อไทยได้รับบทเรียนมาเยอะมาก ถ้ากลับไปมีอำนาจรัฐอีก ขณะที่รัฐธรรมนูญให้มีหน่วยงานที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างมากมาย จะสามารถเป็นรัฐบาลได้ครบ 4 ปีหรือไม่ ดูแล้วก็น่าสงสารผู้นำของพรรคเพื่อไทย ถ้าเป็นรัฐบาลก็ต้องเจอปัญหาอุปสรรคต่างๆมากมายไปหมด

“ทักษิณ” จะยอมหรือไม่?

คงเดาใจท่านไม่ถูก แต่คิดว่าท่านเป็นคนฉลาด ท่านเป็นคนระดับอัจฉริยะทางการเมือง เชื่อได้ว่าอาจตัดสินใจแล้วก็ได้ว่าท่านควรอยู่ฝั่งไหนที่จะสามารถยื้อยุดกิจการการค้าของท่าน ญาติพี่น้องของท่าน หรืออนาคตทางการเมืองของพรรคการเมืองของท่านได้แค่ไหน เพียงใด การจะเล่นการเมืองในประเทศขณะนี้ต้องดูทิศทางลมมากกว่าจะคิดว่าต้องการอำนาจรัฐเป็นเครื่องเดิมพัน โอกาสข้างหน้าของนายกฯทักษิณและญาติยังมีอีกยาวไกล ท่านคงตัดสินใจได้ว่าถ้าจะเอาสิ่งที่มันใกล้มือแล้วมือพองกับสิ่งที่ไกลมือแล้วค่อยๆคืบคลานไปน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

ดิฉันพูดในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มองดูการเมืองว่าไม่น่าเล่นและไม่น่าเข้าไปยุ่งในตอนนี้ แต่ถ้าท่านจะรักษาสถานภาพในพรรคก็ต้องลงเลือกตั้งแน่นอน ท่านก็เคยเป็นทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมาแล้ว การเป็นฝ่ายค้านช่วงระยะ 2 ปีที่นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐบาล ท่านไม่ต้องเจ็บตัวอะไรมาก แต่ถ้าท่านจะเป็นฝ่ายรัฐบาลก็ต้องประเมิน คนระดับ ดร.ทักษิณท่านฉลาด ท่านรู้อะไรว่าควรหรือไม่ควร ในส่วนตัวคงเทียบท่านไม่ได้ในมุมมองทางการเมือง แต่เชื่อว่าท่านรู้ดีว่าควรจะเดินหรือหยุด หรือควรจะพักผ่อนก่อนก็แล้วแต่ ท่านคงประเมินได้ดีกว่าคนอื่น

ขอย้ำว่าท่านควรมองทิศทางลมให้ดี แล้วอย่าเจ็บตัวมากไปกว่านี้ คิดว่าคนระดับนายกฯทักษิณ นายกฯยิ่งลักษณ์ หรือคนในตระกูลชินวัตรน่าจะรู้ดีถึงบทเรียนที่ได้รับ ท่านก็หวังดีต่อประเทศชาติ แต่ในฐานะคนนอก เขาทะเลาะกันเราจะเข้าไปห้ามเราก็เจ็บตัว เป็นผู้ดูหรืออยู่รอบนอกน่าจะดีกว่าหรือไม่ เพราะอนาคตทางการเมืองยังยาวไกล ผู้ที่จะตัดสินใจได้ดีที่สุดคือตัวท่านเอง

ยุคนี้เหมือนลมพายุพัดมา ถ้าคนฉลาดเขาจะมองว่าเราจะยืนโต้ลมไหวมั้ย ควรจะผ่อนปรนไปตามแรงลมหรือไม่ ลมพายุมาแล้วเรายังยืนหยัดที่จะเอาอย่างนี้หรือไม่ยอมหลบพายุก็มีอย่างเดียวคือ ต้องถูกถอนรากถอนโคนไปตามกระแสลม

จะมีการเลือกตั้งปลายปี 2561 หรือไม่

ถ้ารัฐธรรมนูญมีลักษณะแบบนี้จะเลือกตั้งตอนไหนก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมากกว่าเดิม ถึงขณะนี้นโยบายต่างๆที่รัฐบาลทหารทำเป็นเรื่องที่ต้องสะสางปัญหามากมาย รัฐบาลชุดหน้าจะต้องสะสางมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนตัวคิดว่าไม่ต้องเลือกตั้งก็ดี ให้รัฐบาลทหารสะสางไปเรื่อยๆ จะได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะรัฐบาลใหม่จะเข้ามาแก้ปัญหาให้บ้านเมืองดีขึ้นเป็นเรื่องยากมาก มันยาวไปแล้วที่เศรษฐกิจจะดีขึ้น เราต้องดูหนี้สินของประเทศตอนนี้เท่าไร ต้องสะสางอย่างไร แม้หลายคนจะเชียร์ว่านายกฯทักษิณเก่งเรื่องเศรษฐกิจ แต่บางครั้งความหวังดีก็อาจทำร้ายตัวเอง

ดิฉันมองว่าทิศทางลมเป็นเรื่องสำคัญ จะเข้ามาดีหรือไม่ เหมือนโรงละคร เราเข้ามาเล่นเรามีบทบาทแค่เสนา เดี๋ยวเขาก็ไล่ลงจากเวที การเลือกตั้งจะมีหรือไม่มีก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้น ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าการเลือกตั้งจะยืดเยื้อไปอีกนั้น คิดว่าถ้ารัฐบาลชุดนี้สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ก็คงจะยืดเยื้อ แต่สถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆแล้ว หนี้สินประเทศมีเท่าไรเรายังไม่รู้ข้อเท็จจริงเลย สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องสะสางคือปัญหาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเขาคงจะเร่งให้มีการเลือกตั้งมากกว่าจะต้องรับภาระหนัก ต้องสะสางเหมือนกับทางการเงิน ปิดบัญชีไหวมั้ย มีเงินเดือนให้ข้าราชการมั้ย หนี้สินทำยังไง ซึ่งเป็นเรื่องหนักมากสำหรับรัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้าที่ต้องเข้ามารับภาระ จึงไม่คิดว่าจะยืดเยื้อการเลือกตั้ง เพราะแม้มีการเลือกตั้งรัฐบาลนี้ก็ยังมีอำนาจควบคุมเหมือนเดิมผ่านองค์กรต่างๆ ไม่ใช่เขาจะหมดอำนาจเลย รัฐบาลหน้าต้องแก้ปัญหา ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่รอดแน่นอน ไม่เข้าใจว่าพรรคการเมืองอยากจะเร่งเลือกตั้งไปเพื่ออะไร เพราะดูแล้วก็เชื่อว่าเขาคงไม่ดึงให้ยืดเยื้อ การเลือกตั้งไม่ปลายปีนี้ก็ต้นปี 2561 ให้ผ่านพระราชพิธีสำคัญไปก่อน

ส่วนมาตรา 44 ที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มองว่าเหมือนรัฐซ้อนรัฐ ก็เป็นลักษณะการเขียนกฎหมายตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ เพราะเขาไม่ปล่อยมือง่ายๆ ถึงบอกว่ารัฐบาลชุดหน้าจะทำงานได้ยากมาก ไม่เห็นจำเป็นต้องอยากเป็นรัฐบาลเลย เป็นฝ่ายค้านดีกว่า

มาตรา 44 สามารถล้มการเลือกตั้งและทำอะไรได้ทั้งนั้น เราต้องยอมรับว่าอภินิหารของกฎหมายมีจริงอย่างที่คุณวิษณุ เครืองาม พูด คือกฎหมายเขียนอะไรก็ได้ ไม่ใช่อภินิหารในตัวกฎหมาย แต่เป็นอภินิหารของผู้เขียนกฎหมาย อยากจะทำอะไรก็เขียนไปตามที่ต้องการ เมื่อเขาถืออำนาจรัฐก็สามารถเขียนกฎหมายลักษณะนี้ได้

ข้อเสนอให้ยกเลิก กกต.จังหวัด

ความจริงรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีเฉพาะ กกต.กลาง 5 คนเท่านั้น ต่อมามีกฎหมายลูกให้ กกต.กลางสามารถตั้ง กกต.จังหวัดได้เพื่อช่วยดูงานแทน กกต.กลาง ซึ่ง กกต.จังหวัดมีทั้งผลดีและผลเสีย คือคนที่เป็น กกต.จังหวัดส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ พ่อค้า ทนายความ รู้จักนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น บางคนเป็นลูกน้องนักการเมืองที่ถูกส่งให้มาเป็น พ่อค้าหวยเถื่อนก็มี ทำให้มีการช่วยเหลือพรรคพวกในจังหวัดนั้นๆ ก็มีข้อครหามากมาย

สมัยดิฉันเป็น กกต. ก็รู้ปัญหานี้ดี เราต้องดูว่าการมี กกต.จังหวัดจะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระได้มั้ย กกต.จังหวัดได้เงินเดือน 20,000 บาท และมีเบี้ยประชุม แต่ กกต.กลางไม่ได้เบี้ยประชุม ได้แค่เงินเดือน การมี กกต.จังหวัดผลเสียจะเป็นเรื่องอิทธิพลของนักการเมืองในจังหวัดนั้นๆ พอมีคดีซื้อสิทธิขายเสียงก็ต้องมีการช่วยเหลือกัน ถ้าพรรคใดคุมจังหวัดนั้นๆ กกต.จังหวัดก็จะเฮโลไปทางด้านนั้น เมื่อเทียบผลเสียกับผลดีจึงไม่ค่อยเกิดประโยชน์อะไรนัก เพราะการเลือกตั้งทุกครั้งจังหวัดต่างๆจะมี กกต.ท้องถิ่นที่มาจากบุคคลต่างๆ เช่น ปลัดจังหวัด ปลัดเทศบาลมาช่วยทุกครั้ง กกต.จังหวัดไม่ได้นั่งในคูหาเลือกตั้ง คนที่ดำเนินการคือเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร คนจัดการเลือกตั้งก็คือ กกต.ท้องถิ่นที่ทำงานในระยะเวลาสั้นๆช่วงการเลือกตั้งและมีการผลัดเปลี่ยนกันไป

ขณะที่ กกต.จังหวัดนั่งเฉยๆ รอจนกว่ามีการร้องเรียนก็จะมาเป็นกรรมการ และเจ้าหน้าที่ กกต. ทำสำนวนเสนอ กกต.จังหวัดเพื่อพิจารณาว่าจะให้ใบเหลืองหรือใบแดง แต่ก็ไม่ได้ยุติที่ กกต.จังหวัด ต้องส่งมาที่ กกต.กลางวินิจฉัยและตัดสิน บางครั้ง กกต.จังหวัดก็พูดให้ความเห็นว่าจะให้ใบเหลืองใบแดง คือไม่รู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนี้ทราบดีว่ามี กกต. 2 คน รู้เรื่องงานใน กกต. ดี เห็นว่าไม่ควรมี กกต.จังหวัด แต่ควรมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่เรากำลังพูดกันขณะนี้ว่าถ้ามีผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้วจะแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงได้หรือไม่ มันแก้ไม่ได้ เพราะการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นปัญหาระดับชาติ เป็นปัญหายาวนาน ไม่ว่า กกต.กลางก็แก้ปัญหาไม่ได้หากผู้ซื้อกับผู้ขายสมยอมกัน เวลาจับกุมเขาก็บอกว่าไม่ได้ซื้อขาย มันก็แก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงไม่ได้

ในความเห็นของดิฉันไม่ควรมีทั้ง กกต.จังหวัดและผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะมีผู้อำนวยการการเลือกตั้งซึ่งเป็นพนักงานของ กกต. อยู่แล้วในแต่ละจังหวัด ทำหน้าที่ทั้งฝ่ายสืบสวนสอบสวนและจัดการเลือกตั้ง แล้วจะตั้ง กกต.จังหวัดทำไม ต้องเอาใจเจ้านายรองแล้วยังเจ้านายใหญ่คือ กกต.กลางอีก เมื่องานส่วนใหญ่อยู่ในสำนักงาน กกต. ก็ดีกว่าที่จะให้มี กกต.จังหวัดและผู้ตรวจการเลือกตั้ง เว้นแต่ถ้ามีผู้ตรวจการเลือกตั้งอยู่กับกระทรวงมหาดไทย การเลือกตั้งครั้งหน้าให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนจัดการ ถ้าอยากจะให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งก็ควรจะเลิก กกต. ไปเลย กลับไปเหมือนเดิมดีกว่าที่จะมาค่อยๆเปลี่ยนทีละนิด

ขณะนี้ผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้บังคับบัญชา แต่ดูเหมือนจะให้ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย เท่ากับว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะท้ายสุดคนจัดการเลือกตั้งก็คือกระทรวงมหาดไทย จะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงหมดไปมั้ย คำตอบเดิมคือไม่หมด เพราะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ต้องมีเจ้านายในแต่ละจังหวัด

ประเด็นสำคัญคือต้องการให้มีองค์กรอิสระ เช่น กกต. อยู่อีกต่อไปหรือไม่ พูดกันตรงๆดีกว่า ถ้าไม่ต้องการให้มี กกต. ต้องการให้การเลือกตั้งกลับไปอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยก็เปลี่ยนไปเลย แก้รัฐธรรมนูญให้ไม่มี กกต. ไปเลย

แม้ให้ กกต.กลางเป็นคนเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่การบังคับบัญชาถ้าไม่อยู่ที่ กกต. ก็จะทำงานลำบาก เพราะเมื่อไม่ได้อยู่กับ กกต.กลาง เขาจะดำเนินการอะไร จะให้เขาเปลี่ยนแปลงอะไรก็ไม่ได้ กลายเป็นต่างคนต่างทำงาน ปัญหาก็จะเกิดขึ้น ดังนั้น ไม่เอาทั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งและ กกต.จังหวัดเลยจะดีกว่า สถานการณ์มีแนวโน้มว่าจะไม่มีองค์กรดังกล่าว เนื่องจากถูกมองว่าไม่มีความจำเป็น


You must be logged in to post a comment Login