วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

หมุดคณะราษฎร สัญญะแห่งประชาธิปไตย / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On April 24, 2017

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

การเมืองในช่วงต้นเดือนเมษายนจนเลยช่วงเทศกาลสงกรานต์ร้อนฉ่าและมีประเด็นแหลมคมหลายประการ

หนึ่งคือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ตามมาด้วยคำถามสำคัญว่า ระหว่างรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้กับมาตรา 44 ที่ยังคงอยู่ อำนาจใดมีอำนาจเหนือกว่ากัน และระบบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญพ่วงมาตรา 44 จะเรียกเป็นระบบการปกครองแบบใดดี

อีกหนึ่งคือ กรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกประกาศให้ประชาชนงดติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำการใดๆที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่เนื้อหา ข้อมูลของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และนายแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ประกาศดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองหรือไม่

สุดท้ายที่กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าที่สุดในช่วงวันหยุดสงกรานต์คือ กรณีการหายไปของ “หมุดคณะราษฎร” ซึ่งมีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ปรากฏว่าถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่เรียกกันในโลกโซเชียลว่า “หมุดหน้าใส” ที่มีข้อความว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใสเพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

จากนั้นก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกโซเชียล มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนการเปลี่ยนหมุด โดยอ้างว่าหมุดคณะราษฎรเป็นสัญญะของการสร้างความแตกแยก เนื่องจากสัญญะของคณะราษฎรแย่งอำนาจจากพระมหากษัตริย์มา แต่ไม่ใช่เพื่อประชาชน เป็นการแย่งอำนาจมาเพื่อผลประโยชน์ของพวกตัวเอง จึงเป็นที่มาของความขัดแย้งทางการเมืองตลอดมา

อีกฝ่ายเห็นว่าการลักลอบเปลี่ยนหมุดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ต้องตามจับคนร้ายให้ได้และนำหมุดคณะราษฎรกลับมาประดิษฐานไว้ที่เดิม ทั้งให้รื้อหมุดหน้าใสออกไป เนื่องจากหมุดคณะราษฎรเป็นสัญญะทางประวัติศาสตร์ว่าสยามไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 สัญญะดังกล่าวจะต้องคงอยู่เป็นเครื่องเตือนความทรงจำและสำนึกในคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวสยามไทยตลอดไป

มีข้อถกเถียงว่า จะไปให้ความสำคัญอะไรกันนักหนากับหมุดคณะราษฎรซึ่งเป็นเพียง “แผ่นโลหะ” บนพื้นถนนที่ผู้คนและรถวิ่งเหยียบไปมาโดยแทบไม่มีใครสนใจ “ความหมาย” ของหมุดดังกล่าว

จะอย่างไรก็ตาม คนเปลี่ยนหมุดคงไม่คิดแค่ว่าหมุดนั้นเป็นเพียงแผ่นโลหะที่ไร้ความหมาย ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่นำหมุดใหม่ที่มีข้อความใหม่มาวางแทน ฉะนั้นหมุดคณะราษฎรจึงเป็นสัญญะที่บ่งถึงจุดเริ่มต้นของการสถาปนาประชาธิปไตย ขณะที่หมุดหน้าใสเป็นสัญญะของ “รัฐนาฏกรรม” ที่มีส่วนผสมของความหมายในศิลาจารึกสุโขทัย ความคิดเรื่อง “พลังแผ่นดิน” และ “ประชาชนสุขสันต์” เป็นความคิดที่สร้างขึ้นในยุคปัจจุบัน

ฉะนั้นความหมายของหมุดหน้าใสจึงสะท้อนความเป็นจริงที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า “คนไทยอยู่ในรัฐที่ไม่มีชาติ” หมายถึงไม่มี “ชาติที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างเท่าเทียม” แต่คนไทยอยู่ในรัฐของเครือข่ายอำนาจที่ผูกขาดความเป็นเจ้าของรัฐ ดังนั้น ใครที่ยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย เท่ากับยืนยันความเป็นชาติที่ทุกคนเป็นเจ้าของเท่าเทียมกัน ย่อมเป็นการท้าทายต่อเครือข่ายเจ้าของอำนาจรัฐ และจะถูกตั้งคำถามว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า” เสมอมา

การปกป้องหมุดคณะราษฎรจึงเป็นการปกป้องความหมายของ “ชาติ” และสัญญะของการสถาปนาประชาธิปไตย เพราะประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ระบุชัดเจนว่า “ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร” และระบุอีกว่า “เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย” นอกจากนี้ “หลัก 6 ประการ” ในประกาศฉบับดังกล่าว ข้อที่ 4 ยังระบุว่า “จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)” และข้อที่ 5 ระบุว่า “จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น”

แปลว่าประกาศคณะราษฎรระบุชัดเจนถึง “การปกครองแบบประชาธิปไตย” และระบุชัดเจนถึงการรับรองสิทธิเสมอภาคและเสรีภาพของประชาชน การโจมตีว่าคณะราษฎรแย่งอำนาจพระมหากษัตริย์มาเพื่อประโยชน์ของพวกตัวเอง ไม่ต้องการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จ

เมื่อเป็นเช่นนี้หมุดคณะราษฎรจึงเป็นสัญญะทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันหมุดหมายในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย “เพื่อความเจริญของชาติ” อันเป็น “ชาติที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอภาค มีเสรีภาพ และเป็นเจ้าของเท่าเทียมกัน” การนำหมุดหน้าใสมาวางแทนจึงเป็นการทำลายสัญญะทางประวัติศาสตร์แห่งการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยของสยามไทยอย่างเลวร้ายที่สุด

จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนจะต้องทวงคืนหมุดคณะราษฎร เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลต้องหาตัวคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย และนำหมุดคณะราษฎรมาประดิษฐานไว้ที่เดิม

ถ้าเรายอมรับความจริงว่าการเมืองเป็นเรื่องของ “สัญญะ” และสัญญะย่อมมีความสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นคงไม่มีการสร้างหมุดหน้าใสให้เป็นสัญญะของรัฐนาฏกรรม และไม่มีการสร้างสัญญะของรัฐนาฏกรรมทั่วทุกหย่อมหญ้า ฉะนั้นสัญญะของประชาธิปไตยที่มีน้อยอยู่แล้วจึงไม่ควรถูกทำลายไป

ประชาชนจึงต้องรักษาหมุดคณะราษฎรอันเป็นสัญญะของประชาธิปไตย เพื่อเป็นหมุดหมายในการต่อสู้เพื่อสร้างชาติให้เป็นประชาธิปไตยต่อไป


You must be logged in to post a comment Login