วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ความยั่งยืน / โดย ณ สันมหาพล

On April 10, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

การทำให้บ้านเป็นโรงงานหรือฐานการผลิตอยู่ในบ้านต้องทำให้สินค้าเกิดมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เช่น เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ เพิ่มสีสันสินค้าและเครื่องหมายสินค้า ซึ่งเป็นการบอกผู้ซื้อให้ทราบถึงการเจริญเติบโตของกิจการ อย่ากลัวว่าถ้ากิจการใหญ่ขึ้นแล้วคนจะไม่ซื้อ แต่จะทำให้กิจการเป็นข่าวจนมีคนรอซื้อตลอดเวลา

ขบวนการคนทำที่กำลังทำประโยชน์ให้กับโลก ประโยชน์แรกคือ ช่วยโลกให้ปลอดภัยจากการเติบโตของพื้นที่เมือง ซึ่งในอดีตคนชนบทพากันทิ้งบ้านเรือนเพื่อย้ายไปอยู่ในเมือง และทุกวันนี้ก็ยังทิ้งพื้นที่จนบางประเทศแทบไม่มีผู้คนอาศัยอยู่

อันตรายจากภัยนี้ทำให้เมืองใหญ่ต่างๆกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและแหล่งมั่วสุมของอาชญากรที่กระทำสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ รวมถึงการว่างงานของคนในเมือง หรือการเปลี่ยนงานบ่อยครั้ง ทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงชีพ

ถ้ายังไม่สามารถแก้ไขและป้องกันการอพยพย้ายถิ่นฐาน โลกก็จะถึงกลียุค ซึ่งวัฒนธรรมและขบวนการคนทำที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนตามเมืองต่างๆไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน สามารถทำงานอยู่ที่บ้านเพื่อผลิตสินค้าขาย ทั้งยังทำให้รักษาอาชีพดั้งเดิมของท้องถิ่นให้คงอยู่และพัฒนาให้เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อ

ประเทศประชาคมเศรษฐกิจยุโรปมีความตื่นตัวเรื่องการย้ายถิ่นฐานสูงด้วยการเปิด hackerspace ที่ใช้ชื่อ Open Maker ซึ่งมีทั้งเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ต่างๆทุกรูปแบบ หลังจากที่กลุ่มยุโรปเปิดโครงการ Horizon 2020 เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

ผู้ร่วมโครงการเป็นสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ชี้ให้เห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งร้อยละ 16 ของมูลค่าผลผลิตรวมอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปคิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออก และร้อยละ 80 ของมูลค่าการใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนาของภาคเอกชน ส่วนอัตราการว่าจ้างที่มีถึง 30 ล้านคนในปี 2557 ก็คาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นวิกฤตหากไม่มีการป้องกัน เนื่องจากการผลิตในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะการย้ายโรงงานไปยังประเทศพัฒนาใหม่ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่รวมถึงการไม่กระตือรือร้นของผู้ประกอบการ ทำให้มีการปิดกิจการมากขึ้น

การรับมือของสหภาพยุโรปคือ การตั้งเป้าให้ส่วนแบ่งภาคอุตสาหกรรมการผลิตขยายเป็นร้อยละ 20 ในอีก 3 ปี และเป็นที่มาของโครงการ Horizon 2020 ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมและขบวนการคนทำในเขตเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีการแบ่งแยกการทำงานเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มเรียกตัวเองว่า “accelerator hub” แปลว่า “แกนขับเคลื่อน” โดยมีที่ตั้งอยู่ที่สหราชอาณาจักร อิตาลี สโลวาเกีย และสเปน ซึ่งเดาได้ว่าการทำงานของแต่ละกลุ่มจะมีการปรับให้เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในละแวกเดียวกัน เพื่อปักหมุดวัฒนธรรมและขบวนการคนทำให้เหมาะกับประเทศนั้นๆ

ประโยชน์อีกด้านที่วัฒนธรรมและขบวนการคนทำกำลังทำให้กับโลกคือ ช่วยกำจัดขยะ ถ้าใครติดตามการเคลื่อนไหวในวงการค้าปลีกของโลกจะทราบว่าต้นปีที่แล้วร้านขายของชำ Whole Foods ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้จับมือกับองค์กรรณรงค์ Imperfect Produce ทดลองรณรงค์ให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคผักและผลไม้มีตำหนิ เพื่อที่ผู้จำหน่ายจะได้ไม่ต้องทิ้ง

นอกจากเครือข่ายร้านดังกล่าวแล้ว ยักษ์ใหญ่เครือข่ายซูเปอร์มาร์เกต Intermarche ของฝรั่งเศส Sainsbury ของสหราชอาณาจักร และ Woolworths ของออสเตรเลีย ต่างก็ทำเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวในแคลิฟอร์เนียเกิดขึ้นหลังจากกระทรวงเกษตรสหรัฐแถลงว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผักและผลไม้ที่วางจำหน่ายไม่ได้มีการซื้อ จึงต้องนำไปทิ้งเป็นขยะ โดยสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมสรุปว่าผักและผลไม้ที่นำไปทิ้งคิดเป็นน้ำหนักถึง 133,000 ล้านปอนด์ หรือ 60,328 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 162,000 ล้านเหรียญ หรือ 5.56 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมอาหารปรุงสำเร็จแล้ว

ในปี 2555 คนอเมริกันทิ้งผักและผลไม้มากถึง 35 ล้านปอนด์ หรือ 15.9 ล้านกิโลกรัม สูงกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2503

เห็นตัวเลขนี้แล้วน่าเป็นห่วงเรื่องมลภาวะของโลก แต่ขบวนการคนทำกลับมองว่าเป็นโอกาส กล่าวคือ ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีการนำขยะเหล่านี้มาแปรรูปเป็นอาหารกันบ้างแล้ว ล่าสุดได้มีการนำไปแปรรูปมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการปรับและยกระดับการแปรรูปเพื่อให้ได้สินค้าหลากหลายมากขึ้น

ต้องติดตามดูว่า การแปรรูปทั้งผักและผลไม้มีตำหนิและอาหารปรุงแล้วจะทำให้ปริมาณการทิ้งขยะลดลงหรือไม่ วัฒนธรรมและขบวนการคนทำที่มีความมั่นคงจะสามารถยืนอยู่ได้ตลอดไปหรือไม่


You must be logged in to post a comment Login