วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

มหาวิทยาลัยมีไว้ทำไม? / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On March 6, 2017

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวฮือฮาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากในโลกโซเชียลคือ การออกแถลงการณ์ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 เรียกร้องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “ยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44” ด้วยเหตุผลว่า “เป็นการใช้อำนาจที่เผด็จการและขัดหลักนิติธรรม” นอกจากนี้ยังใช้อย่างพร่ำเพรื่อไม่มีเหตุผลอันควร

แต่ในวันถัดมามหาวิทยาลัยมหิดลกลับออกแถลงการณ์โต้แถลงการณ์ดังกล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลขอให้กลุ่มบุคคลยุติการกระทำดังกล่าวในทันที การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ เป็นการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยมหิดลในทางที่เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาทางวินัยต่อไป”

มีประเด็นที่น่าสนใจคือ แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลสั่งให้กลุ่มบุคคลที่ออกแถลงการณ์ในนามสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยุติการคัดค้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในทันที โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ใช่การใช้เสรีภาพทางวิชาการ” แต่ “เป็นการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยมหิดลในทางที่เกิดความเสียหายต่อสื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาทางวินัยต่อไป”

คำถามคือ แถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการใช้อำนาจตาม ม.44 ไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการอย่างไร เป็นการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยในทางที่เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงอย่างไร และจะเป็นเหตุให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาทางวินัยได้อย่างไร

ประเด็นแรก การที่กลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานในมหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ใดๆต่อสาธารณชนบนพื้นฐานของการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของส่วนรวม ย่อมถือว่าเป็นการใช้ “เสรีภาพทางวิชาการ” โดยพื้นฐานอยู่แล้ว

โดยเฉพาะการออกแถลงการณ์ให้ยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งเป็นเผด็จการ ย่อมเป็นการแสดงออกบนพื้นฐานของการยืนยันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงเป็นแถลงการณ์ที่มีสาระสำคัญเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะบอกว่านี่ไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการได้อย่างไร ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการตัดสิน

ประเด็นที่สอง ถ้ากลุ่มบุคคลที่ออกแถลงการณ์สังกัดสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เขาก็ย่อมมีสิทธิใช้เสรีภาพทางวิชาการภายใต้ชื่อสถาบันที่เขาสังกัดเพื่อเสนอประเด็นสาธารณะ หรือประเด็นที่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ จะกล่าวหาว่าเขาแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยได้อย่างไร

ประเด็นที่สาม การออกแถลงการณ์ให้ยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งเป็นการปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จะเป็นการอ้างชื่อมหาวิทยาลัยในทางที่เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงได้อย่างไร และจะเป็นเหตุให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาทางวินัยได้อย่างไร

อะไรคือ “ชื่อเสียง” ที่มหาวิทยาลัยควรพิทักษ์รักษาไว้ การปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ใช่การประกาศชื่อเสียง เกียรติภูมิที่ควรยกย่องของมหาวิทยาลัยชั้นนำดอกหรือ

เมื่อย้อนดูปรากฏการณ์หลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งพากัน “ตบเท้า” เข้าไปรับตำแหน่งต่างๆทั้งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร กรณีเช่นนี้กลับไม่เคยมีมหาวิทยาลัยแห่งใดออกแถลงการณ์ว่าเป็นการทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเลย

แปลว่าการให้ความร่วมมือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในรัฐบาลจากรัฐประหาร และหรือการสนับสนุนการใช้อำนาจเผด็จการ ไม่ได้ทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด แต่การคัดค้านการใช้อำนาจเผด็จการกลับทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง

ในความเป็นจริงมหาวิทยาลัยไม่ใช่ของผู้บริหาร แต่เป็นสมบัติร่วมกันของประชาคมมหาวิทยาลัยและของประชาชน ฉะนั้นชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้อยู่ใน “อำนาจนิยาม” ของผู้บริหารเท่านั้น

คือผู้บริหารจะบอกไม่ได้ว่าที่พวกฉันสนับสนุนรัฐประหาร เข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาลจากรัฐประหาร ทำตัวเป็น “เด็กดี” ภายใต้อำนาจเผด็จการ เป็นการสร้างชื่อเสียงเกียรติภูมิแก่มหาวิทยาลัย ส่วนอาจารย์ นักศึกษา หรือกลุ่มประชาคมมหาวิทยาลัยอื่นๆที่เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย หรือต้านเผด็จการ ทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง นิยาม “ชื่อเสียง” ของมหาวิทยาลัยจะเป็นแบบนี้ไม่ได้

แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่มหาวิทยาลัยยุคปัจจุบันได้กลายเป็นแดนสนธยาแห่งเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของชาติที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่าประชาชนที่จ่ายภาษีเลี้ยงดูต้องตกอยู่ในสภาพถูกกดขี่ ถูกปล้นอำนาจ และถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพอย่างไรบ้าง

แล้วตกลงมหาวิทยาลัยมีไว้ทำไม มีไว้สนับสนุนเผด็จการหรือประชาธิปไตย!


You must be logged in to post a comment Login