วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

คณะสงฆ์ยังอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On January 23, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

เรื่องที่กำลังผลักดันให้คณะสงฆ์จำเป็นต้องเกิดการปฏิรูป เพราะมีวิกฤตทางศาสนาหลายอย่างผนวกเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตศรัทธาของญาติโยมต่อคณะสงฆ์ การจัดการปัญหาภายในของคณะสงฆ์ สถานการณ์โดยรวมดูเหมือนสังคมพยายามบีบให้คณะสงฆ์ต้องปรับตัวอยู่ในขณะนี้

ถามว่าคณะสงฆ์ควรปรับตัวหรือไม่ อาตมามองว่า คณะสงฆ์เองเท่าที่ดูก็ไม่อยากปรับเปลี่ยนอะไรมาก เพราะท่านอาจคิดว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ หรือโครงสร้างการบริหารคณะสงฆ์ที่เป็นอยู่ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรมาก แต่สภาพการณ์ของสังคมข้างนอกที่มีเรื่องการเมืองและหลายเรื่องทำให้คณะสงฆ์จำเป็นต้องปรับตัว หรือคณะสงฆ์อาจไม่ปรับ แต่สังคมจะบีบหรือเปลี่ยนให้คณะสงฆ์ต้องปรับเองโดยปริยาย ไม่ว่าจะยินดีหรือไม่ยินยอมก็ตาม

โดยเฉพาะส่วนของรัฐเองที่มีอำนาจปรับเปลี่ยนพระราชบัญญัติต่างๆ รัฐนั่นแหละจะเป็นผู้ทำให้คณะสงฆ์จำเป็นต้องปรับตัวเอง ส่วนจะปรับจุดไหนบ้างอาตมาไม่สามารถประเมินได้ เพราะการบริหารคณะสงฆ์มีหลายส่วนที่ต้องปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะ พ.ร.บ. ก็ไม่เป็นสมัยใหม่ในหลายเรื่อง การบริหารจัดการและการใช้อำนาจต่างๆต้องดูท่าทีรัฐบาลว่าจะมีมาตรการหรือข้อเสนออะไรที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปในคณะสงฆ์บ้าง

เป้าหมายที่แท้จริงของรัฐ

อาตมายังไม่เห็นเป้าหมายที่แท้จริงของรัฐในการปฏิรูปคณะสงฆ์ครั้งนี้ ที่เห็นตอนนี้คือเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช มองได้แค่นั้นเรื่องเดียว ตั้งใจจะแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์เฉพาะมาตรา 7 มันเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุดของเขา คือทำยังไงก็ได้เพื่อให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดข้อกฎหมายหรือ พ.ร.บ. อาตมาคิดว่าการดำเนินการของรัฐยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะปัญหาคณะสงฆ์จริงๆอยู่ที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะมาตรา 7 อยู่ที่การใช้อำนาจของคณะสงฆ์โดยรวม ซึ่ง พ.ร.บ.เก่าไม่เอื้อให้เกิดการตรวจสอบหรือการถ่วงดุล หมายถึงอำนาจของคณะสงฆ์ที่ใช้อยู่ไม่มีความโปร่งใสที่จะสามารถทำให้ยอมรับได้ว่าเป็นธรรมหรือชอบธรรม

การสถาปนาสังฆราชองค์ใหม่

การแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่มีผลบังคับใช้ขณะนี้เป็นการปลดล็อกที่ผูกมัดให้สมเด็จพระสังฆราชต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีความอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เท่านั้น คือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือท่านสมเด็จช่วง วัดปากน้ำ รัฐแก้ตรงนี้ก็เพื่อทำยังไงจะปลดล็อกได้ คือเสนอรายนามสมเด็จพระราชาคณะทั้ง 8 รูปที่มีสิทธิเป็นสมเด็จพระสังฆราชทั้งหมด โดยไม่นับว่าใครอาวุโส ใครพรรษาน้อยพรรษามาก แล้วให้เป็นไปตามพระราชวินิจฉัยโดยตรง ทำให้มหาเถรสมาคม (มส.) หมดบทบาทตรงนี้ไป

เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ อาตมาขอพูดตรงๆว่าท่านสมเด็จช่วงไม่มีโอกาสได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่อย่างแน่นอน เพราะคดีท่านยังไม่เคลียร์ ยังไม่จบ ถ้าคดีความจบอาตมาคิดว่าก็ไม่เป็นธรรมกับท่าน หมายความว่าอธิกรณ์ระงับแล้วปรากฏว่าท่านไม่มีความผิดกรณีรถโบราณ ก็ไม่เป็นธรรมกับท่านที่ควรมีสิทธิได้รับเสนอนามเพื่อทูลเกล้าฯเหมือนกับสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นๆ

นอกจากนี้เขาเชื่อว่าท่านสมเด็จช่วงมีข้อผูกพันเกี่ยวเนื่องกับวัดพระธรรมกายที่มีปัญหาอยู่ตอนนี้ ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ไม่มีปัญหาท่านสมเด็จช่วง เขาก็ไม่ต้องมาเสียเวลาแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ อาตมาเชื่อว่าคงไม่มีใครออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านเรื่องนี้ เพราะดูท่าทีของคณะสงฆ์ อย่างเจ้าคุณประสาร (พระเมธีธรรมาจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ท่านก็พูดล่าสุดว่าท่านเสียใจ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ครั้งนี้ แต่ท่านก็จะไม่เคลื่อนไหวอะไร คงต้องปล่อยเป็นไปตามนั้น

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าฝ่ายบ้านเมืองเข้ามาแทรกแซงคณะสงฆ์หรือไม่ อาตมาขอบอกว่าแน่นอน เพราะคนที่มีอำนาจจริงๆในการจัดการคณะสงฆ์คือรัฐ รัฐมีอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. คณะสงฆ์จริงๆไม่ได้มีอำนาจ ทุกยุคทุกสมัยก็เป็นแบบนี้ ถ้ามองตามประวัติศาสตร์ พอมีปัญหาอะไรรัฐนั่นแหละที่เข้ามาจัดการคณะสงฆ์ ออก พ.ร.บ. ออกกฎหมาย คณะสงฆ์แค่บริหารงานตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐให้มาภายใต้ พ.ร.บ. ที่รัฐออก คณะสงฆ์ไม่ได้เป็นคนร่าง พ.ร.บ. เอง ทำให้เห็นว่าจริงๆแล้วคณะสงฆ์ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือมีความสำคัญขนาดจะสามารถบริหารจัดการกันเองได้ คณะสงฆ์ไม่ได้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริงด้วยตัวของคณะสงฆ์ ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐอีกทีหนึ่ง

สมเด็จช่วงกับธรรมกาย

อาตมาคิดว่าวัดปากน้ำต้องมีความสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกายในแง่วัดพระธรรมกายนับถือหลวงปู่สด ซึ่งท่านอยู่วัดปากน้ำ ท่านสมเด็จช่วงก็เป็นศิษย์หลวงปู่สด มีความเกี่ยวเนื่องในฐานะครูบาอาจารย์องค์เดียวกันเท่านั้น แต่ท่านสมเด็จช่วงจะมีความผูกพันลึกซึ้งขนาดไหน อย่าลืมว่าท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโยด้วย จึงปฏิเสธความเกี่ยวเนื่องกันไม่ได้ ในแง่การเมืองก็ต้องมองแบบนี้ แล้วตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาท่านก็ไม่ได้จัดการอธิกรณ์อะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน เหมือนมีท่าทีปกป้องวัดพระธรรมกายอยู่เหมือนกัน ทำให้ถูกมองว่าท่านพยายามช่วยเหลือพระธัมมชโย ตรงนี้อาจทำให้รัฐไม่พอใจ อาตมามองว่ารัฐไม่พอใจที่ท่านไม่เคลียร์อธิกรณ์ในฐานะที่มีอำนาจ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชและเป็นประธาน มส. ด้วย ตรงนี้เป็นปัญหาผูกเนื่องกันไป

การดำเนินการกับพระธัมมชโย

อาตมาคิดว่ารัฐบาลพยายามจะทำให้มันจบโดยเร็วที่สุด ควบคุมตัวเพื่อทำให้ท่านต้องสึกหรือลาสิกขา นี่คือสิ่งที่รัฐพยายามจะทำให้ได้ แต่ติดเงื่อนไขหลายอย่าง มีเหตุปัจจัย สภาพแวดล้อม คนเข้าออกวัดพระธรรมกายจำนวนมากก็ทำให้รัฐทำงานลำบาก จริงๆเขาก็พยายามจะทำ แต่ทำไม่ได้ ฝ่ายวัดพระธรรมกายเองก็รู้ว่ารัฐจ้องจะเล่นงาน เขาก็ต้องยื้ออย่างถึงที่สุด

ส่วนที่มองว่าวัดพระธรรมกายมีความเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งคนส่วนหนึ่งมองว่าวัดพระธรรมกายเป็นฐานเสียงของพรรคการเมือง มีความสัมพันธ์กับกลุ่มนักการเมืองซึ่งบังเอิญเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายที่มีอำนาจตอนนี้ เขาก็ต้องพยายามจัดการในช่วงที่ยังมีอำนาจอยู่ เพราะรู้ว่าถ้าได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีทางจะจัดการหรือทำอะไรวัดพระธรรมกายได้ อย่างกรณีในปี 2542 ที่อัยการยื่นไม่ฟ้อง ถอนฟ้องวัดพระธรรมกาย

ฝ่ายรัฐจึงต้องพยายามจัดการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในช่วงที่เขามีอำนาจอยู่ ไม่อย่างนั้นพอหมดอำนาจก็ทำไม่ได้ ส่วนการดำเนินการจะสำเร็จหรือไม่ อาตมาคิดว่ายากมาก เพราะยังเดาท่าทีของรัฐไม่ออกว่าจะเอาจริงหรือไม่ ขนตำรวจไปซะมากมาย สุดท้ายก็รื้อรั้วมาได้อันเดียว แต่ลึกๆเขาเอาจริงกับพระธัมมชโยเต็มรูปแบบอยู่แล้ว อาตมาประเมินว่าคงจะยื้อกันไปอย่างนี้ ถ้าจับไม่ได้ก็ต้องทำให้พระธัมมชโยสาบสูญไป หมายความว่าไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะได้ต่อไป เพราะคดีมีอายุความตั้ง 15 ปี ต้องอยู่แบบหลบๆซ่อนๆจนกว่าจะหมดอายุความ ที่สำคัญท่านก็อายุมากแล้ว 70 กว่าปี ท่านจะอยู่อีก 10 กว่าปีเชียวหรือ

สังคมก็ตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐไม่สามารถจัดการกับวัดพระธรรมกายได้ เขาก็เสียเครดิตที่ไม่มีปัญญาจัดการวัดพระธรรมกาย ส่วนประเด็นพระพุทธศาสนาโดยรวมไม่ได้รับผลกระทบอะไรอยู่แล้ว เพราะวัดพระธรรมกายเขาอยู่มานานแล้ว ที่เขาแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดกรณีซ้ำรอยแบบวัดพระธรรมกายอีก

อนาคตวัดพระธรรมกาย

อาตมาเชื่อว่ายังไปได้ เพราะมีทีมทำงานหลายภาคส่วนและเครือข่ายสาขามาก ถ้ารัฐไม่ตอแยมาก มีความยุติธรรมก็ควรปล่อยให้เขาทำกิจกรรมเผยแผ่ต่อไปในส่วนที่ไม่ผิดกฎหมาย ที่มีการบุกรุกพื้นที่อะไรก็ว่ากันไปตามนั้น วัดพระธรรมกายเขามีหลายส่วนที่ดีเหมือนกัน ทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการในหลายๆอย่างควรเอาเป็นแบบอย่างได้ อย่างน้อยเขาก็ทำให้หลายคนหันมาให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาในแนวทางของการปฏิบัติ เขาไม่ใช่เลวร้ายทั้งหมด เพียงแต่หัวอาจไม่ดี ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดต้องเสียไปด้วย ถ้าแก้ปัญหาก็แก้ที่หัว เปลี่ยนผู้บริหาร ไม่ได้หมายความว่าไม่มีผู้บริหารคนหนึ่งแล้วองค์กรทั้งองค์กรต้องล่มสลาย ต้องมีตัวตายตัวแทน ถึงไม่มีพระธัมมชโยเขาก็มีตัวแทนในเครือข่ายผู้บริหารของวัด แม้พระธัมมชโยจะเป็นคนสั่งการ แต่คนที่รับเรื่องหรือช่วยเหลือด้านอื่นๆมีหลายคน

อย่างรูปแบบการสอนบางส่วนมีปัญหาต้องปรับปรุง อาตมามองว่าที่จริงวัดพระธรรมกายควรใช้เวลานี้ในการเรียนรู้คำวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในฐานะที่เราเป็นองค์กรใหญ่ ถ้าเรามีความบริสุทธิ์ก็เปลี่ยนสิ การปรับเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องน่าอาย อันไหนที่สังคมวิพากษ์หนักเราก็ไม่ต้องทำ อันไหนดีเราก็คงไว้ แนวทางการปฏิบัติ นั่งสมาธิ เอาคนมาฝึกจิต เจริญจิตภาวนา ดีก็คงไว้ แต่อันไหนมันเกินไป อวดอุตริกันอย่างนี้ก็ควรทำให้หายไป อย่างที่ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์หรือหลวงพ่อปยุตฺโตบอกว่า อย่าพยายามเอาตรงนี้มาขาย เพราะมันเป็นการทำลายศาสนา วัดพระธรรมกายมีแนวทางที่ดีมาก เขาจะเป็นกำลังของศาสนาอย่างมาก เพราะเป็นองค์กรใหญ่

แนวโน้มวงการสงฆ์ไทย

ถ้ามีการปฏิรูป มีการปรับเปลี่ยนก็จะดีขึ้น ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนก็จะเหมือนเดิมแบบนี้ เวลามีปัญหาก็ตามแก้กันทีละจุดๆ อาตมาเคยพูดว่าเหมือนเรือที่ล่องไปในทะเล แทนที่เราจะซ่อมแซมเรือให้ดีก่อนจะเอาเรือออกไป แต่เราไม่ดูแลก่อนเอาเรือออก พอมีรูรั่วเราก็พยายามไปตามอุดทีละรู กว่าจะอุดครบเรือก็ล่มแล้ว คณะสงฆ์ก็เหมือนกัน ถ้าเรายังมองเป็นฝักเป็นฝ่าย มองแค่เรื่องธรรมกายไม่ธรรมกาย หรือมองเป็นเรื่องพุทธะอิสระไม่พุทธะอิสระอย่างนี้ ไม่มองที่หลักการ จุดยืน ก็แก้อะไรไม่ได้หรอก เพราะเรามองปัญหาที่เชิงตัวบุคคล มองปัญหาแบบปัจเจกบุคคล เราไปโทษว่าศาสนาไม่ดีเพราะธัมมชโย ศาสนาไม่ดีเพราะพุทธะอิสระ มันไม่ใช่ ศาสนาจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ตัวโครงสร้าง ตัวระบบทั้งหมด

ส่วนความขัดแย้งในวงการสงฆ์ อาตมาคิดว่าคงไม่มีความราบรื่นทั้งหมด ต้องมีความขัดแย้งอย่างนี้ในทุกยุคทุกสมัยทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่มีความขัดแย้งอยู่ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าเห็นด้วยกันทั้งหมดมันก็แปลก แสดงว่าคณะสงฆ์ถูกควบคุมแบบเบ็ดเสร็จจนไม่สามารถมีความเห็นแตกต่างกันได้เลย มันต้องอย่างนี้แหละ ต้องมีความขัดแย้งกัน มีฝ่ายที่เห็นด้วยกับวัดพระธรรมกายบ้าง มีฝ่ายไม่เห็นด้วยกับวัดพระธรรมกายบ้าง เราจะได้มาพูดคุยกัน มาโต้แย้งกันว่ามีจุดไหน ส่วนไหนที่ถูกต้อง จุดไหนที่ไม่ถูกต้อง จะได้ฟังความหลายๆด้านหลายๆมุม ซึ่งคณะสงฆ์ควรมีท่าทีแบบนี้ ทุกวันนี้คณะสงฆ์บริหารงานแบบข้างล่างฟังจากข้างบน หมายความว่าถ้าข้างบนว่าดี ข้างล่างก็ต้องว่าดี ข้างล่างไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะบอกว่าสิ่งที่ข้างบนพูดไม่ดีอะไรอย่างนี้ อาตมาว่าวิธีการแบบนี้ใช้ไม่ได้ คือบางอย่างข้างบนเสนอมามันไม่โอเค ข้างล่างก็ต้องสามารถส่งเสียงคัดค้านได้ว่านโยบายแบบนี้ คำสั่งแบบนี้ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ต้องมีฝ่ายค้านบ้าง บ้านเมืองเขายังมีฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลเลย ถ้ารัฐบาลทำงานโดยไม่มีฝ่ายค้าน รัฐบาลก็อีลุ่ยฉุยแฉกยังไงก็ได้ คณะสงฆ์ก็ต้องเหมือนกัน

สิ่งที่อยากเห็นในวงการศาสนา

ความคิดของอาตมาอาจจะเป็นความเพ้อฝันก็ได้ หรือเป็นการคาดหวังที่ไม่เป็นจริงก็ได้ แต่มองว่าทุกคนมีสิทธิที่จะคาดหวัง อาตมาอยากเห็นคณะสงฆ์กับรัฐทำงานด้วยกัน คือช่วยกันในการปฏิรูป ปรึกษาหารือกัน ไม่ทำโดยฝ่ายเดียวหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหมือนที่พยายามทำกันอยู่ตอนนี้ ต้องให้เกียรติกันและกัน รัฐเองก็ต้องให้เกียรติคณะสงฆ์ในบางเรื่อง เอาคนในคณะสงฆ์ อาจไม่ต้องเอาคนของ มส. ก็ได้ นักวิชาการอิสระในมหาวิทยาลัยสงฆ์มีเยอะแยะ เอามาทำงานร่วมกับรัฐให้คำปรึกษา อย่างน้อยให้มีคนจากคณะสงฆ์ไปทำงานในการขับเคลื่อน คณะสงฆ์ก็ต้องมีความกล้าหาญที่จะยืนยันในความบริสุทธิ์ในการบริหารกิจการของตัวเอง ต้องไม่เห็นแก่ลาภยศปัจจัยอะไรพวกนี้ แล้วชาวบ้านและรัฐก็จะให้ความเคารพยำเกรงเมื่อคณะสงฆ์มีคุณธรรม มีมโนธรรมสำนึก

แต่ถ้าคณะสงฆ์ใช้อำนาจในทางที่มิชอบ จะให้รัฐเคารพยำเกรงทุกเรื่องก็เป็นไปไม่ได้ นี่เป็นจุดที่ทั้งรัฐและคณะสงฆ์ต้องร่วมกันทำงาน อาตมาอยากให้เป็นอย่างนี้ อยากให้เกิดอย่างนี้ แล้วก็ช่วยกันในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในฐานะที่ศาสนาพุทธเป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่งที่ชาวพุทธเคารพศรัทธาต่อไป


You must be logged in to post a comment Login