วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

The rise and fall of octobrist circumstance or lost horizon of Thailand / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On October 24, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

เดือนตุลาคมเมื่อ 40 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเมื่อ 43 ปีผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ผมเองแม้ไม่ได้เป็นแกนนำในขบวนการดังกล่าว แต่ก็ถือว่าเป็นคนวงในมากๆ จึงอดไม่ได้ที่จะนำเสนอความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูลบางประการเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ข้อเขียนชิ้นนี้ได้รับแรงดลใจจากงานเขียนของ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้นำเสนองานเขียนเรื่องอำนาจและความขัดแย้งของอดีตนักกิจกรรมปีกซ้ายเดือนตุลาคมต่อการเมืองไทยร่วมสมัย หลายอย่างในความเห็นของท่าน ผมค่อนข้างเห็นด้วย เช่น การมองว่ากลุ่มคนดังกล่าวเริ่มกลายเป็นเพียงซากทางอุดมการณ์ เป็น Lost generation เปรียบเสมือนชนชั้นกลางที่แปลกประหลาด หรือมีความแปลกแปร่งต่อสังคมไทย กลายเป็นพวกที่ขาดความชอบธรรมในการอธิบายอุดมการณ์ รวมทั้งเป็นพวกที่ไม่เข้าใจความซับซ้อนทางสังคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายและหลากหลาย จึงไม่แปลกที่กลุ่มคนดังกล่าวหลายคนกลายเป็นพวกเสื้อแดง หลายคนกลับไปเชิดชูอำนาจนิยม กลายเป็นพวกที่ก้าวไปไม่ได้

ในข้อเขียนชิ้นนี้ผมอยากจะนำเสนอความคิดบางอย่างคือ ผมเห็นว่าเราจะต้องมองเหตุการณ์ไปในลักษณะของประวัติศาสตร์ระยะยาว จะมองเฉพาะเหตุการณ์ของประวัติศาสตร์หนึ่งๆไม่ได้

มันต้องเชื่อมโยงระหว่าง 6 ตุลา และ 14 ตุลาเข้าด้วยกัน หรือก่อนหน้า 14 ตุลาด้วยซ้ำไป รวมทั้งต้องให้ครอบคลุมจนถึงปัจจุบันจึงจะสามารถให้คำตอบที่แท้จริงได้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน

โดยเฉพาะส่วนตัวนั้นผมเป็นคนใกล้ชิดกับ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ซึ่งถือเป็นตัวละครสำคัญมากต่อเบื้องหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา รวมทั้งข้อมูลบางอย่างที่เชื่อมโยงมาถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมคิดว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นสาระทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และอาจจะทำให้เราทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา และ 14 ตุลาเสียใหม่ ตลอดจนเกิดมุมมองต่อคนรุ่นดังกล่าวที่ตามทฤษฎีของ Arnold Toynbee เรียกว่า กลุ่มนำ (creative dominant minority)

ข้อมูลประการแรก ซึ่งไม่ใช่เป็นการแก้ต่างให้กับ พล.ท.วิฑูรย์ แต่ผมขอยืนยันว่าเรายังเข้าใจอะไรคลาดเคลื่อนมากมาย โดยเฉพาะความเห็นที่ว่าแม่ทัพเทพ 333 เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เรื่องดังกล่าวผมเขียนเอาไว้ในหน้าที่ 142 ของหนังสือชื่อ “ด้วยความรู้สึกและทรงจำในวันวานของเทพ 333”

พล.ท.วิฑูรย์ให้สัมภาษณ์แบบ off record กับผมว่า “ในวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2516 ขณะกำลังเตรียมบินเพื่อกลับไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดอุดรธานีซึ่งเป็นที่ตั้งของ บก.333 ก็ได้รับโทรศัพท์จากผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้ไปกราบเรียนและกดดันต่อจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ให้ปล่อยตัวนักศึกษาและอาจารย์ผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรียกกันว่า 13 กบฏ เพราะบ้านเมืองจะเกิดความเสียหายได้”

ผมสรุปว่าบทบาทของ พล.ท.วิฑูรย์ต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีเพียงตรงนี้เอง

เหตุการณ์ในครั้งนั้นถ้าจะมองถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคงมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบันและประมวลความคิดเชื่อมโยงตามแนวคิดของ Arnold Toynbee การที่จะมองสังคมเปลี่ยนแปลงต้องสังเกตไปที่ 2 ประการ

ประการแรก ได้แก่ Dominant circumstance คือเหตุการณ์โดดเด่นที่ครอบงำเหตุการณ์อื่นๆให้ต้องเชื่อฟัง ซึ่งเหตุการณ์ 6 ตุลา และ 14 ตุลา ได้หมดสถานะตรงนี้ไปแล้ว เพราะมีเหตุการณ์ที่สำคัญกว่ามากเกิดขึ้นมาเป็น Dominant circumstance แทน ได้แก่กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดังนั้น ขบวนการ 14 ตุลาจึงหมดความชอบธรรมในการอธิบายความหมายทางการเมืองร่วมสมัย และหลายคนก็ไม่อยากจะอธิบายแล้ว เพียงแต่ต่อไปนี้เราจะต้องหาว่าอะไรคือ Creative dominant minority?

ถ้าตอบโจทย์ทั้ง 2 ประการนี้ได้ ก็อาจจะหาคำตอบของการเมืองในอนาคตได้ เพียงแต่ผมเกรงประการเดียวว่า มันจะกลายเป็น Shangri-la ในนิยายของ James Hilton ในเรื่อง Lost Horizon คือ หาเมืองในฝันใต้เส้นขอบฟ้าไม่เจอ

เขียนเรื่องนี้ดูจะจบยาก ไหนๆก็กล่าวถึงนิยายมาแล้ว จะเพิ่มนิยายอีกเรื่องหนึ่งคือ งานเขียนของ Dee Brown เรื่อง “Bury My Heart at Wounded Knee” หรือ “ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี” ซึ่งมีประโยคอมตะของอินเดียนแดงเผ่าอาปาเช่กล่าวยอมแพ้ไว้ว่า “จงกลับไปบอกนายพลลีว่า หัวใจของข้าเศร้าโศกและสมองของข้าป่วยไข้ ผู้เฒ่าหลายคนหนีไปอยู่บนภูเขา เด็กหลายคนเจ็บป่วย ณ ที่ซึ่งตะวันยอแสง ข้าขอยอมแพ้ ข้าจะไม่สู้รบอีกแล้ว”

ผมเคยอ่านความเห็นของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ต่อนิยายเรื่องนี้ เขาเห็นว่า การอ่านงานเขียนเรื่องนี้ทำให้เรามองอดีตและเข้าใจในปัจจุบันว่า เหตุใดที่บ่อยครั้งฝ่ายที่ถูกต้องชอบธรรมมักจะต้องพ่ายแพ้ยับเยินในการต่อสู้

คนในขบวนการตุลาคมหลายคนอาจจะกล่าวว่า ข้าคงไม่ขอสู้รบอีกแล้ว เพราะพวกข้าหลายคนก็ไปเป็นพวกท่าน และอย่าว่าแต่สู้รบเลย แม้แต่ในตอนนี้ พวกข้ายังไม่รู้เลยว่าทิศใดเป็นทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก


You must be logged in to post a comment Login