วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ม.มหิดลเดินหน้ารณรงค์ทักษะ‘SDGs Skills’นศ.-บุคลากรครบวงจร

On February 1, 2024

ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษามีภารกิจด้านการศึกษาและวิจัย ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงต้องปรับพันธกิจด้านการบริการวิชาการเพื่อหาทางออก ร่วมแก้ไขปัญหา และชี้นำสังคมด้วยแนวทางที่หลากหลาย

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผน พัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า นโยบายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ภารกิจเพื่อการชี้นำสังคม (Policy Advocacy) เกิดขึ้น เพื่อขยายบทบาทมหาวิทยาลัยในการร่วมมือกับทุกภาคส่วน สู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ

โดยที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดโครงการ MUSEF – Mahidol University Social Engagement Forum ที่มาจากการระดมพลังบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Changemakers) ภายใต้ทุน Policy Advocacy Funding สู่การสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความยั่งยืนภายใต้หัวข้อวิจัยที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์สังคมโดยเร่งด่วน

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรสมภพ ประธานธุรารักษ์ กล่าวต่อไปว่า ภารกิจเพื่อการชี้นำสังคม (Policy Advocacy) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการริเริ่มให้มีการผนวกการวิจัย การศึกษา และการบริการวิชาการเพื่อการชี้นำสังคม (Policy Advocacy) อย่างยั่งยืน โดยเป็นการยกระดับจากเดิมที่เป็นเพียงภารกิจด้านบริการวิชาการ

จากความสำเร็จที่ผ่านมา ได้สร้างความตระหนักเรื่องการลดเค็มเพื่อดูแลสุขภาวะตนเองอย่างยั่งยืน จนกลายเป็น “Low Sodium Society” ที่เริ่มจากการรณรงค์สร้างนิสัยลดเค็มอย่างจริงจังในนักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนขยายผลสู่ร้านขายอาหารภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และชุมชน ภายใต้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลที่พบว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหารเค็มเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายต่างๆ อาทิ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน ฯลฯ

มาถึงปีงบประมาณ 2567 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีนโยบายที่จะทำให้ภารกิจเพื่อการชี้นำสังคม (Policy Advocacy) ขยายผลสู่วงกว้างมากขึ้น โดยได้เปิดให้มีการเสนอโครงการเพื่อรับทุนวิจัยเพื่อชี้นำสังคม ในหัวข้อ “วิกฤติสุขภาพใจ” (Mental Health Crisis)

และเพื่อให้ได้เข้าถึง “กลุ่มเปราะบาง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “สังคมที่แตกต่างหลากหลาย“ (Inclusive Society) ที่เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญของภารกิจชี้นำสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดลให้มากยิ่งขึ้น

ในปี 2567 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินหน้ารณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานสำหรับแรงงานสตรีในสถานประกอบการโรงงาน เพื่อมอบองค์ความรู้ และให้การรับรอง “mucS” (Mahidol University Certified for Better Society) ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตสาวโรงงานและสร้างความเชื่อมั่นต่อสถานประกอบการได้ด้วยในขณะเดียวกัน ตามเป้าหมาย SDG8 แห่งสหประชาชาติที่ว่าด้วยเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ยั่งยืน (Decent Work and Economic Growth)

แม้แพลตฟอร์มถึงพร้อมด้วยแนวคิด แต่จะไม่เกิดประโยชน์อันใดหากไร้ผู้เล่น มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ในการแก้ไขปัญหาด้วยปัญญา จากองค์ความรู้ที่จะก่อให้เกิดการสร้าง “ความตระหนัก” (Awareness) ขยายฐานผู้เล่น จากบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล สู่ประชาชน เพื่อการเป็น Changemakers พร้อม “เปลี่ยนโลก” ให้ยั่งยืนด้วยปัญญา

ก้าวต่อไปจะผลักดันให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลได้เรียนรู้ทักษะ “SDGs Skills” ผ่านการอบรม ปฏิบัติ และทดสอบที่ครบวงจร เพื่อเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความพร้อมในการเป็น “พลเมืองโลก“ ที่สมบูรณ์ต่อไป


You must be logged in to post a comment Login