วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567

ชีวิตในความเคลื่อนไหว: มองโลก มองชีวิต มองงานวิจัยด้านประชากรและสังคมแบบ life course

On July 7, 2023

การมองงานวิจัยด้านประชากรและสังคม  ด้วยแนวกรอบแนวคิดที่ เรียกว่า life course (เส้นทางชีวิต) เขามองกันอย่างไร ต้องคำนึงถึงอะไรบ้างที่สำคัญ  ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่าlife course (เส้นทางชีวิต)  คือ การทำความเข้าใจชีวิตมนุษย์ในสังคม ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตในครรภ์มารดาจนถึงจุดสุดท้ายของชีวิต ขณะเดียวกันการคิดด้วยกรอบเส้นทางชีวิตนี้ เน้นความสัมพันธ์ของชีวิตหนึ่ง ๆ กับสิ่งรอบข้างที่เกิดขึ้น ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่เคลื่อนไปตามนาฬิกาชีวิต ซึ่งมีผลต่อเส้นทางที่แต่ละคนเลือกก้าวเดิน กรอบเส้นทางชีวิตคำนึงถึงทุกสิ่งอย่างรอบด้านที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและพัฒนาการของชีวิต ตามเวลาที่เดินหน้าไป ผ่านบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา การมองแบบเส้นทางชีวิตยังให้ความสำคัญกับความสามารถของมนุษย์ในการเลือกทางชีวิตของตัวเอง เป็นไปตามความหมายว่า คนคือผู้กระทำ หรือการมีศักยภาพของมนุษย์ในการเลือก (human agency) โดยที่ทางเลือกต่าง ๆ ในชีวิตนั้น อยู่บนเงื่อนไขของโอกาสและข้อจำกัดของโครงสร้างและวัฒนธรรมของสังคม และเงื่อนไขเหล่านั้นย่อมไม่เหมือนกันสำหรับคนที่เกิดมาต่างรุ่น ต่างช่วงเวลา และต่างสถานที่

กรอบแนวคิดเส้นทางชีวิตคือ แบบแผนชีวิตของแต่ละบุคคลที่มีความเคลื่อนไหวในหลากหลายมิติ และผลที่มีต่อพัฒนาการของบุคคลนั้น มี 4 หลักการ ได้แก่ historical time and place คือเวลาและสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งแต่ละคนได้พบเจอตลอดช่วงเวลาของชีวิตที่เคลื่อนไหวไปข้างหน้า การเปลี่ยนผ่านนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดของชีวิต(Timing) งานวิจัยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในชีวิตอาจส่งผลสะเทือนต่อเส้นทางชีวิตได้อย่างมหาศาล Linked Life คือ ชีวิตที่เชื่อมโยงกัน แนวคิดเส้นทางชีวิตมองว่าชีวิตของเราแต่ละคนส่งผลซึ่งกันและกัน ประวัติศาสตร์และสังคมมีอิทธิพลต่อบุคคลผ่านเครือข่ายของความสัมพันธ์ร่วม เหตุการณ์เชิงประวัติศาสตร์และประสบการณ์ส่วนบุคคลเชื่อมโยงกันผ่านครอบครัวและชะตาที่เกี่ยวข้องกันของสมาชิกครอบครัว โชคร้ายของสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง อาจทำให้คนอื่น ๆ ในครอบครัวพลอยมีส่วนร่วมและได้รับผลกระทบไปด้วย และท้ายสุด human agency คือ การเน้นย้ำความจริงที่ว่ามนุษย์เราวางโครงสร้างชีวิตของตัวเอง ผ่านการเลือกและการลงมือทำภายใต้โอกาสและข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมทางสังคมและประวัติศาสตร์ของแต่ละคน

งานวิจัยด้านประชากรและสังคมอยู่บนฐานคิดแบบเส้นทางชีวิตเกือบทั้งหมด การนำความหมายของอายุมาใช้ในงานวิจัยด้านประชากรและสังคม ในฐานะตัวแปรด้านประชากร คือการนำแนวคิดของเวลา (Timing) มาใช้ งานวิจัยที่ใช้อายุเป็นเกณฑ์สะท้อนแนวคิดเรื่องเวลา และลำดับก่อนหลัง ว่าเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นเร็วเกินไป เหมาะสม หรือช้าเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลต่อชีวิตได้  ด้านสุขภาพ ย้ำให้เห็นความสำคัญของเหตุการณ์และประสบการณ์ในวัยแรกเริ่มที่จะส่งผลต่อสุขภาพในวัยผู้ใหญ่ คุณลักษณะที่ปรากฏให้เห็น การมองการพัฒนาสุขภาพแบบเส้นทางชีวิต มีนัยถึงนโยบายด้านสุขภาพที่จะต้องคำนึงว่า ในสังคมหลายๆ ที่ การดูแลสุขภาพไม่ได้เป็นปัจจัยกำหนดสำคัญของภาวะสุขภาพ ถ้าเรามองสุขภาพว่า คุณลักษณะที่ปรากฏให้เห็นเป็นพลวัต และมีพัฒนาการ เป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ที่มีความเกี่ยวข้องและปรับตัวระหว่างลักษณะพันธุกรรมของบุคคล ชีววิทยา สรีระวิทยา และจิตวิทยา กับครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเชิงระบบที่กว้างขึ้นช่วงเวลาตั้งแต่ในครรภ์มารดา หลังคลอด และในวัยเด็กเล็กมีความสำคัญยิ่งยวดต่อการพัฒนาการและการปรับตัวทางสุขภาพตลอดชีวิต และเป็นกุญแจของการมีแบบแผนสุขภาพที่เหมาะสมและเป็นธรรม ครอบครัว และความสัมพันธ์ทางสังคม-ชีวิตที่เชื่อมโยงกัน คือ ความสัมพันธ์ของคน ๆ หนึ่งกับคนอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อคนๆ นั้น ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ด้วย เป็นได้ทั้งเชิงบวก และเชิงลบ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีความเป็นพลวัต ขึ้นอยู่กับอายุ และสถานการณ์ในช่วงชีวิตหรือขั้นตอนของชีวิต ส่วนด้านการศึกษา อบรม การทำงานและเส้นทางอาชีพ  การทำความเข้าใจชีวิตผู้คนในโลกยุคใหม่และโลกอนาคตไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบเดิมที่แบ่งช่วงชีวิตเป็น 3 วัย และกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละวัยได้อีกต่อไป การที่คนมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น และการพลิกโฉมทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เส้นทางชีวิตของคนเราสลับซับซ้อนและไม่เป็นไปตามรูปแบบเดิม ๆ มากขึ้น การมองด้วยเลนส์เส้นทางชีวิต ย้ำเตือนว่าเด็กในวันนี้ จะเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นและเป็นผู้สูงอายุในวันข้างหน้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนและผลักดันในทุก ๆ ทางให้เด็กในวันนี้มีสุขภาพดี เพื่อให้สังคมมีผู้ใหญ่ และมีผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี และสร้างผลผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดผลกระทบทางลบให้น้อยที่สุดต่อเศรษฐกิจของสังคมสูงวัย

เพราะฉะนั้น แนวคิดเส้นทางชีวิต (life course)คือ ทางเลือกที่ดีที่สุดที่เหมาะสมที่สุดทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยให้นักวิจัยเปิดมุมมองในความพยายามตอบโจทย์วิจัยที่ไม่จำกัดอยู่เพียงสภาวะการณ์หรือเงื่อนไข ณ เวลาที่ผลลัพธ์แสดงให้เห็น แต่กว้างขวางครอบคลุมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีผลผลักดันให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปเป็นร่าง ทั้งสภาพแวดล้อม เหตุการณ์ชีวิต การเปลี่ยนผ่านในอดีต และทุกขณะที่ชีวิตผ่านช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดเป็นแบบแผนและวิถีการใช้ชีวิตในมิติต่าง ๆ ทั้งของตัวบุคคลนั้นเองและคนรอบข้างที่เกี่ยวโยงเชื่อมสัมพันธ์กัน ล้วนต่างมีผลต่อการตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตของคนๆ หนึ่ง และสิ่งเหล่านี้ไม่ได้คงที่และหยุดนิ่ง แต่มีความเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เป็นชีวิตในความเคลื่อนไหว ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตหนึ่งๆ

สำหรับงานวิจัยที่ใช้กรอบคิดเส้นทางชีวิต ต้องการข้อมูลที่เอื้อต่อการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคนๆ หนึ่ง ตั้งแต่ต้นจนจบ ข้อมูลระยะยาวที่มองไปข้างหน้าจึงอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่นักวิจัยส่วนใหญ่สามารถเลือกได้ การใช้ข้อมูล ณ ช่วงเวลาเดียว แต่มีการถามย้อนอดีต (retrospective) อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการอธิบายปรากฏการณ์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งด้วยเลนส์เส้นทางชีวิต  การมองแบบเส้นทางชีวิตยังมีนัยเชิงนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องและป้องกันตั้งแต่ชีวิตเริ่มต้นในครรภ์มารดา และในทุกชั้นตอนของชีวิตในเวลาต่อมา ผลลัพธ์ที่ดีต้องการการวางแผน และการทุ่มเทสรรพกำลังและทรัพยากรเพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนมีจุดเริ่มต้นและทุกขั้นตอนตลอดเส้นทางของชีวิตเป็นไปอย่างที่ต้องการ กรอบคิดเส้นทางชีวิตยังเอื้อต่อการทำงานวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ เพราะการได้มาซึ่งคุณภาพชีวิตของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง การใช้ประเด็นปัญหาเป็นตัวตั้ง และใช้เลนส์เส้นทางชีวิตที่เน้นความครอบคลุมรอบด้านของชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด เป็นกรอบการมองเพื่อแก้ปัญหา ต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพ สังคมศาสตร์ ฯลฯ  และเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการสร้างความร่วมมือข้ามศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์

โดย : รองศาสตราจารย์ ดร. อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.รศรินทร์ เกรย์ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล


You must be logged in to post a comment Login