วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“นิติพล ผิวเหมาะ” เดินหน้าระดมพลังสมองคนรุ่นใหม่แก้ปัญหา เสริมจุดแข็ง สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันโลก

On July 3, 2023

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าร่วมประชุมสัมมนาทีมภาคเหนือพรรคก้าวไกล เพื่อเตรียมความพร้อมการทำงานให้สอดคล้องกับปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต โดยทำหน้าที่เป็นวิทยากรนำเสนอประสบการณ์ในการใช้กลไกรัฐสภาเพื่อปัญหาของประชาชน

นายนิติพล  กล่าวว่า “ต้องยอมรับว่า โลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาก็มีความซับซ้อนหลายมิติมากขึ้น เราจึงต้องประเมินปัญหาไปพร้อมกับมองหาจุดแข็งเสริมศักยภาพ เพื่อสร้างทีมให้มีความพร้อมและเท่าทันที่สุดต่อความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ โดยเบื้องต้นเราคุยกันทั้งหน้าไมค์และหลังไมค์ถึงปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือที่พี่น้องต้องพบบ่อย ๆ เช่น 2 ปัญหานี้

ประเด็นที่หนึ่ง PM2.5 ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนคนเหนืออย่างยิ่ง ทั้งยังกระทบต่อชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งปัญหามีความซับซ้อน โดยหลักๆ แบ่งออกเป็นปัจจัยภายในประเทศเอง โดยเฉพาะไฟป่า ที่มีสาเหตุมาจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นปัจจัยหลัก จึงต้องใช้ทั้งงบประมาณ การสร้างความเข้าใจ การกระจายอำนาจให้พื้นที่ออกแบบการจัดการความแตกต่างไปตามบริบทปัญหา รวมถึงกลไกทางกฎหมายก็ต้องถูกนำมาพิจารณาในการใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล

ส่วนอีกปัจจัยที่ใหญ่ไม่แพ้กันคือ ปัจจัยจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะที่มาจากอุตสาหกรรมเกษตรอันเป็นต้นเหตุของหมอกพิษข้ามพรมแดน แน่นอนว่าเรื่องนี้อาจต้องอาศัยกลไกที่ใหญ่กว่าระดับเครือข่ายคณะทำงาน แต่การการสร้างการตระหนักรู้และแรงกดดันไปยังภาครัฐให้ขยับเขยื้อนเพื่อจัดการปัญหา ไม่ใช่วางเฉยแก้ตัวไปวัน ๆ ดังที่ผ่านมาก็ยังจำเป็นมากเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่สอง หลายพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่เราทราบว่าปัจจุบันหลายพื้นที่ในภาคเหนือไม่มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะไฟฟ้า ทำให้หลายชุมชนขาดศักยภาพไปอย่างน่าเสียดาย

เรื้องนี้ เราจะคุยกันทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย เช่น ข้ออ้างการเป็นชุมชนในเขตป่า ทั้งที่ส่วนใหญ่เขาอยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยาน รวมไปถึงรูปแบบต่างๆ ในการนำไฟฟ้าไปติดตั้งให้เหมาะกับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังแสง พลังลม พลังน้ำ หรือการเดินสายเข้าไปให้ถึง และครอบคลุมไปถึงการวางแผนซ่อมบำรุง เพราะเข้าใจว่าส่วนใหญ่มีโครงการเข้าไป พอพังก็ทำอะไรไม่ได้

นอกจากนี้ ผมคิดว่าเราจะต้องมองหาโมเดลที่มีความยั่งยืน รวมถึงการเพิ่มศักยภาพด้านอื่นๆ เพื่อเปิดประตูโอกาสและเชื่อมต่อกับโลกด้วย เช่น โครงข่ายอินเทอเน็ตที่ใช้งานได้จริง ครอบคลุมจริง เพราะแค่มีมือถือเครื่องเดียวก็สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ที่อาจเคยซ่อนอยู่ในหุบดอยกลายเป็นที่รู้จัก เป็นความภูมิใจ การทำให้เกิดงานในท้องถิ่น เพิ่มมูลค่า เพิ่มพลังเศรษฐกิจ เปลี่ยนคุณภาพชีวิตให้ท้องถิ่นต่างๆ ได้อีกมากมาย”


You must be logged in to post a comment Login